บรรยากาศของบาร์เกย์แถวสีลมที่หลายคนอาจจะพอนึกออกไม่ได้ยาก ไม่มีแขวนอยู่สักภาพในงานจัดแสดงภาพถ่ายผู้หญิงข้ามเพศของ นานา เช็น ศิลปินชาวไต้หวันที่ใช้เวลาหลายปีในการถ่ายและเก็บเกี่ยวเรื่องราวของแต่ละคน ภาพที่เราเห็นแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงข้ามเพศทำงานในสาขาอาชีพที่หลากหลาย ทั้งดีไซเนอร์ พยาบาล อาจารย์ ล่าม นักมวย ไปจนถึงผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัท ทั้งหมดนี้ตรงกับความตั้งใจของนานาในการทำโปรเจ๊กนี้
“ความเข้าใจคือ ผู้หญิงข้ามเพศจะต้องเป็นคาบาเรต์ แดนเซอร์ อยู่ในธุรกิจสถานบันเทิง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเซ็กส์ ฉันจึงต้องการแสดงให้เห็นสิ่งที่แตกต่าง นั่นคือพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำงานอยู่ในสาขาอาชีพทั่วไป”
นานายังกล่าวอีกว่า เธอคิดว่าสื่อและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยมีส่วนลดทอนความหลากหลายของผู้หญิงข้ามเพศ
นานา เช็น ศิลปินชาวไต้หวัน
ในงานนิทรรศการ เรื่องราวของแต่ละคนในภาพต่างต้องก้าวข้ามอุปสรรคจากการไม่เป็นที่ยอมรับของคนในครอบครัวและสังคม ชวนให้ขบคิดถึงข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในบทนำของงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลการถูกรังแกของนักเรียนกลุ่ม LGBT ในประเทศไทย ที่นักวิจัยบางกลุ่มชี้ว่าสังคมไทยเพียงแค่ “อดทนได้แต่ไม่ยอมรับ” คนรักเพศเดียวกัน และสรุปว่าความเชื่อที่ว่าประเทศไทยเปรียบเหมือน “สวรรค์ของชาวเกย์” เป็นเพียงมายาคติเท่านั้น นอกจากนี้งานวิจัยเดียวกัน ยังระบุว่า 56% ของนักเรียนที่ระบุตัวเองว่าเป็น LGBT รายงานว่าถูกรังแกในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาเพราะเพศภาวะและเพศวิถีของตน โดยมีการรังแกทั้งทางวาจา ด่าทอซึ่งหน้าและผ่านทางสื่อออนไลน์ ทางกาย ตบ ตี เตะ มีการกีดกันทางสังคม และลวนลามทางเพศ
นอกจากรูปแบบการรังแกดังกล่าวข้างต้น ปัจจุบันนักเรียนชายที่เป็นเกย์ ชายรักสองเพศ หรือกะเทยยังเผชิญกับการรังแกในรูปแบบการแกล้งข่มขืนหรือร่วมเพศเพื่อให้อับอาย หรือนักเรียนทอม หรือหญิงที่มองว่าตัวเองเป็นผู้ชาย (ชายข้ามเพศ) มักเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อน ๆ น้อยที่สุดในโรงเรียน บางโรงเรียนร้ายแรงถึงขั้นมีกลุ่มเกลียดทอม เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วพบว่านักเรียนที่เป็นเลสเบี้ยน หญิงรักสองเพศ และชายข้ามเพศตกเป็นเหยื่อของการรังแก เพราะเพศภาวะและเพศวิถีสูงที่สุด และมากกว่านักเรียนชายที่เป็ยเกย์ ชายรักสองเพศ หรือกะเทย ทั้งโดยภาพรวมและพฤติกรรมการรังแกแต่ละประเภท
ด้าน ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักรณรงค์เพื่อความหลากหลายทางเพศกล่าวว่า ทุกวันนี้สังคมไทยยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมีเงื่อนไข
“มันเป็นความคาดหวังและเป็นความเชื่อที่ถูกสั่งสอนมาว่า โลกนี้มีแค่ชายกับหญิง พอมีเกย์ กะเทย ทอม ดี้เกิดขึ้นมาปุ๊บ
มันก็กลายเป็นว่า ความไม่เท่ากันเกิดขึ้นแล้ว เป็นกลุ่มชายขอบ เป็นกลุ่มที่ไม่มีคุณค่า พอมองเขาว่าไม่มีคุณค่าปุ๊บ ก็กลายเป็นความคาดหวังว่า ถ้าคุณอยากมีคุณค่า คุณก็ต้องทำอะไรมากกว่าคนอื่น เช่น ต้องเรียนเก่งกว่าคนอื่นนะ ต้องสวยกว่าคนอื่น และต้องรวยกว่าคนอื่น ถ้าเรายอมรับอย่างแท้จริง แสดงว่าถ้าเขาเป็นกะเทย เป็นผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ เขาจะอยู่ในสถานะใด จะทำอะไรก็แล้วแต่ จะประกอบอาชีพอะไรก็แล้วแต่ จะดำเนินชีวิตยังไงก็แล้วแต่ เราต้องยอมรับเข้าได้ เคารพในความเป็นตัวตนของเขาอย่างแท้จริง”
ศิริศักดิ์กล่าวว่าตัวอย่างที่สะท้อนการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข ได้แก่ การบังคับแต่งกายตามเพศกำเนิดทั้งในโรงเรียนและสถานที่ราชการ รวมทั้งการเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย
อ้างอิง: งานวิจัย “การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศดัยวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการการป้องกันใน 5 จังหวัดของประเทศไทย” โดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย