ไม่พบผลการค้นหา
เกือบ 30 ปีที่ประเทศไทยยกฐานะจากประเทศด้อยพัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยวัดจากรายได้ประชากร ซึ่งอยู่ที่ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่จำนวนคนจน วัดจากเส้นความยากจน ลดลงมาเหลือ 5.8 ล้านคน จาก 34 ล้านคน เมื่อปี 2531 อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคนเมื่อเทียบปีก่อนหน้า เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และปี 2561 คนจนจะหมดประเทศจริงหรือไม่ "วอยซ์ทีวี" สัมภาษณ์พิเศษ "ดร.ปรเมธี วิมลศิริ" เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เพื่อค้นหาความชัดเจนเรื่องนี้

ปีหน้าคนไทยจะหลุดพ้นความยากจนได้อย่างไร

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ลดความยากจนลงไปอย่างมาก จากเมื่อ 30 ปีก่อน มีคนจน 34 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 60 ของประชากร แต่ปัจจุบันมีคนจน 5.8 ล้านคน หรือร้อยละ 9 ของประชากร ซึ่งเป็นผลจากช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง คนมีงานทำ รัฐบาลมีเงินไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การศึกษา สาธารณสุข และมีการดูแลมาเรื่อยๆ

แต่ปัจจุบันการจะทำให้คนหายจนให้หมดให้ได้ ต้องมีแนวทางเพิ่มขึ้นหรือแตกต่างจากในอดีต ด้วยการสร้างความชัดเจนในการช่วยเหลือในรายกลุ่มรายบุคคล ดังนั้น รัฐจึงต้องหาข้อมูลตรงนี้ พร้อมกับดูข้อมูลด้านต่างๆ เช่น ที่รายได้เขายังน้อย เป็นเพราะอะไร เขามีอาชีพอะไร หรือขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สินเชื่อหรือไม่ หรือเป็นปัญหาที่ทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น เรื่องแหล่งน้ำ เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้รัฐบาล หามาตรการเจาะจงลงไปถึงระดับบุคคล ซึ่งถ้าทำได้ผล จะช่วยให้คนที่อยู่ในกลุ่มลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน พ้นความยากจนได้ ดังนั้น จึงมีการประกาศตั้งเป้าว่า จะทำให้คนไทยหายจนทั้งหมดในกลุ่มนี้

คนจน 5.8 ล้านคนในปัจจุบัน วัดว่าจนจากอะไร

ในตัวเลข 5.8 ล้านคน วัดด้วยเส้นความยากจนของประเทศ เพราะทุกประเทศมีการคำนวณระดับรายได้ และจะมีเส้นความยากจนของแต่ละประเทศ โดยใช้วิธีการหรือหลักการคำนวณคล้ายกัน คือใช้ราคาสินค้าจำเป็นในการบริโภค เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษา ค่าเดินทาง การทำมาหากิน อาชีพ มาทำเป็นเส้นความยากจนของตัวเอง

สำหรับประเทศไทยมีการคำนวณและปรับทุกปี ปัจจุบัน เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน (ข้อมูลปี 2559) ซึ่งคำนวณจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยเส้นนี้จะมีการปรับทุกปี ดังนั้น บางปีถ้าเงินเฟ้อลดลง เส้นนี้จะขยับลงได้ และถ้าเงินเฟ้อสูงขึ้น ของแพงขึ้น เส้นก็จะขยับขึ้นได้ด้วย   

10 ปีที่ผ่านมา เส้นความยากจนขยับขึ้นหรือลงอย่างไร

เมื่อปี 2551 เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,172 บาทต่อคนต่อเดือน แล้วขยับขึ้นมาทุกปี ถึง 2,647 บาทต่อคนต่อปี ในปี 2557 แต่ปี 2558 ลดลง 0.1% ไปอยู่ที่ 2,644 บาท เพราะเงินเฟ้อติดลบ กระทั่งปี 2559 ก็ขยับขึ้นมาเป็น 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน

ส่วนที่มีข้อสังเกตว่า ปี 2559 มีคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เรื่องนี้มีที่มา เพราะในปี 2558 เส้นความยากจนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากเงินเฟ้อติดลบ และส่งผลให้คนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือเพียง 4.8 ล้านคนในปี 2558 พอมาปี 2559 เส้นความยากจนขยับขึ้นตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จึงมีจำนวนคนที่อยู่ใต้เส้นยากจนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 1 ล้านคน


เพราะในปี 2558 เส้นความยากจนลดลงเนื่องจากเงินเฟ้อติดลบ และส่งผลให้คนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือเพียง 4.8 ล้านคน พอมาปี 2559 เส้นความยากจนขยับขึ้นตามเงินเฟ้อ จึงมีคนที่อยู่ใต้เส้นยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคน


ดังนั้น จึงเป็นเพียง 2 ปีนี้ (2558-2559) ที่มีเรื่องของเงินเฟ้อติดลบเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถ้านับยาวๆ ในอดีต จะพบว่า คนจนลดลงจากจำนวน 13 ล้านคน เมื่อปี 2551 มาเหลือ 5.8 ล้านในปี 2559 แล้ว

คนจน 5.8 ล้าน อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมดไหม

น่าจะมีอยู่เยอะ แต่ไม่สามารถรับรองว่า 100% แล้วมีคนบอกว่า บางคนยากจน แต่ไม่อยากมาลงทะเบียน หรืออยากให้คนอื่นรู้ว่าจน ก็มี ดังนั้น รัฐจึงเช็คได้แค่ว่า เขามีรายได้ต่ำกว่า 2,600 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งคาดว่าน่าจะครอบคลุมกลุ่มนี้ได้

กรณีรายงานของธนาคารโลกบอกว่า ประเทศไทยก้าวข้ามความจนแล้ว และผู้ที่มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียนกับรัฐอยู่ในกลุ่มผู้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้วด้วยซ้ำ อันนี้เพราะเกณฑ์วัดต่างกันหรืออย่างไร

เรื่องที่ธนาคารโลกออกมาบอกว่า ประเทศไทยหลุดพ้นความยากจนไป เพราะเขามีเส้นวัดความยากจน จากการวิจัยคิดค้��วิธีวัดที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะโจทย์การหาเส้นความยากจนที่ธนาคารโลกทำ คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมของแต่ละประเทศ ซึ่งเส้นความยากจนคนนอร์เวย์มีรายได้สูงกว่าคนจนในแอฟริกาค่อนข้างมาก

ดังนั้น ธนาคารโลกซึ่งมีหน้าที่วัดและเปรียบเทียบว่าในโลกมีการวัดคนยากจนเท่าไร เขาจึงใช้เส้นความยากจนของกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยเป็นตัวฐาน แล้วมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยและเปรียบเทียบกับราคาสินค้า เพราะ 1ดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา อาจซื้อของอะไรได้เยอะ ถ้าเทียบกับ 1 ดอลลาร์ที่ซื้อของในอินเดียที่ซื้อของได้น้อยกว่า ดังนั้น เส้นความยากจนของธนาคารโลกจึงอยู่ที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งถ้านำเส้นนี้มาคำนวณเทียบในประเทศไทย ก็มีเพียง 0.4% ของประชากร หรือแทบไม่มีคนจนแล้ว จึงเป็นที่มาที่ธนาคารโลกบอกว่า ประเทศไทยพ้นความยากจนแล้ว และกำลังเป็นประเทศสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชน

อีกโจทย์คือแล้วประเทศไทยจะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างไร

มันเป็นงานที่ท้าทาย เพราะปัจจุบันรายได้ต่อหัวประชากรไทยอยู่ที่ 5,000-6,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี แต่ตามเกณฑ์ธนาคารโลก ถ้าจะเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรต้องมีรายได้เกิน 12,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งเราอาจต้องใช้เวลาในช่วง 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวเกินร้อยละ 4 -5 ต่อปี อย่างต่อเนื่อง ส่วนจะทำได้เมื่อไร ถ้าดูจากอดีต ประเทศไทยขยับตัวเองจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศกำลังพัฒนา นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 มาถึงปัจจุบันก็นับเป็นเวลา 20-30 ปีได้

ในโลกที่ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว ประเทศไทยต้องใช้เวลานานขนาดนั้น อีกหรือ?

ต้องใช้เวลา เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าโตไปต่อเนื่องปีละ 5% ก็ต้องใช้เวลา และการทำภายใต้สภาพการพัฒนาขณะนี้ ก็มีความท้าทาย เพราะประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์ แรงงานน้อยลง ดังนั้นเราจึงต้องใช้ขีดความสามารถแข่งขัน พัฒนานวัตกรรม เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ดึงดูดการลงทุนในสาขาใหม่ๆ ที่ใช้ความสามารถใช้เทคโนโลยีสูงเข้ามา ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา


โครงการบัตรคนจน เฟส 2 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2561 จะยกฐานะคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนได้ภายใน 1 ปีไหม

อาจไม่เร็วขนาดนั้น เพราะบัตรคนจน ถ้าในแง่ประโยชน์อันแรก คือให้สวัสดิการที่จำเป็น ช่วยเหลือสร้างคุณภาพชีวิตได้ แต่การแก้ไขความยากจน ต้องทำโดยให้คนรายได้น้อยมีศักยภาพประกอบอาชีพ หารายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

ดังนั้น บัตรคนจนที่ดึงดูดให้คนเข้ามาลงทะเบียน จะเป็นตัวที่จะทำให้มีข้อมูล ว่าถ้าต้องการแก้ไขความยากจน รัฐต้องรู้ว่าคนจนคือใคร มีสถานะอย่างไร มีปัญหาอะไร จะมีโอกาสทางไหน ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก้ไขความยากจนรายบุคคล รายครัวเรือนได้ ซึ่งแม้จะไม่ครบทุกคนและไม่ง่ายนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเป็นความต้องการของรัฐบาลที่จะทำให้ได้ทุกคน

แล้วอันนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำบิ๊กดาต้าข้อมูลประชากรหรือไม่

ปัจจุบันเราต้องใช้ข้อมูลที่ละเอียด ซึ่งมีจำนวนมากมาวิเคราะห์ปัญหาให้ถูกต้อง เพื่อตอบโจทย์ วิเคราะห์ และทำนโยบาย เช่น ข้อมูลรายบุคคล ถ้าสามารถใช้ข้อมูลหลายด้านเข้ามาดูด้วยกัน ว่าสถานะเศรษฐกิจสังคม ความสามารถ ทักษะ อาชีพ การศึกษา การเรียนรู้ โอกาสต่างๆ ในชุมชนหรือของตัวเขา จะมีอะไร รัฐก็จะช่วยออกแบบนโยบายได้ละเอียดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของบิ๊กดาต้า

อ่านเพิ่มเติม:

นักวิชาการชี้คนจนเพิ่มขึ้น

คลังชง ครม. เดินหน้าบัตรคนจนเฟส 2