ไม่พบผลการค้นหา
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการจับปลาไหลได้ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนั่นอาจแสดงให้เห็นว่า ปลาไหลญี่ปุ่นกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่มันยังคงเป็นอาหารอันโอชะในช่วงฤดูร้อน
85.jpg

‘ปลาไหล’ หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกกันว่า ‘อูนางิ’ (Unagi) ถือเป็นเมนูอันโอชะของวัฒนธรรมอาหารแดนปลาดิบซึ่งนิยมรับประทานกันมากในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากคนญี่ปุ่นเชื่อกันว่า ปลาไหลย่างกับซอสสาเก ซอสถั่วเหลือง และน้ำตาล ช่วยเพิ่มพลังให้กับร่างกาย

ปัจจุบัน ปริมาณความต้องการปลาไหลกำลังสูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแถบเอเชีย จนกระทั่งญี่ปุ่นต้องหาทางออกด้วยการนำเข้าปลาไหลโตเต็มวัย และปลาไหลปรุงสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณปลาไหลในท้องตลาดก็ยังคงลดจำนวนลงต่อเนื่อง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ในช่วงปีที่ผ่านมา ราคาอาหารเพิ่มขึ้นสูงมาก และในฤดูกาลที่จับปลาได้น้อยมากๆ ก็ส่งผลให้ราคายิ่งเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก” ทาคาชิ โมริยามา (Takashi Moriyama) หัวหน้าสมาคมปลาไหลญี่ปุ่น กล่าว

ตามปกติแล้วฤดูกาลทำประมงของญี่ปุ่นมักเริ่มต้นขึ้นราวๆ เดือนธันวาคม แล้วสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือนเมษายน ทว่าปริมาณการค้าขายปลาไหลญี่ปุ่นกำลังตกลงต่ำเป็นประวัติการณ์ จากตัวเลขที่เคยบันทึกไว้คือ 12.6 ตันในปี 2013

ที่ผ่านมา ปลาไหลญี่ปุ่น (Anguilla Japonica) เป็นสัตว์น้ำขึ้นบัญชีเสี่ยงสูญพันธุ์มาแล้ว โดยทางสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) ประกาศให้ปลาไหลญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสายพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะมันลดจำนวนลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลา 30 ปี ขณะเดียวกันก็หวังกระตุ้นให้เกิดการเพาะพันธุ์ปลาไหลในระดับอุตสาหกรรม

นักสิ่งแวดล้อมออกมาเตือนเกี่ยวกับสถานะของปลาไหลญี่ปุ่นว่า “กำลังตกอยู่ในอันตราย” เพราะนอกเหนือจากการทำประมงเกินขนาดแล้ว การสร้างเขื่อน มลพิษ และการระบายน้ำ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทร เนื่องจากปลาไหลญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตตามแหล่งน้ำจืด แต่พวกมันจะกลับไปวางไข่ใกล้ๆ กับหมู่เกาะมาเรียนา (Mariana Islands) ในมหาสมุทธแปซิฟิก และขณะที่ยังเป็นตัวอ่อน พวกมันต้องเดินทางตามการพัดพาของกระแสน้ำหลายพันกิโลกเมตร เพื่อกลับไปใช้ชีวิตตามแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือแหล่งน้ำจืดแถบเอเชียตะวันออก

ที่สำคัญ กระบวนการวางไข่ของพวกเขายังคงเป็นความลับส่งผลให้ความพยายามในการเพาะพันธุ์แบบฟาร์ม เพื่อการค้าในระดับอุตสาหกรรมไม่ค่อยประสบความสำเร็จ