ไม่พบผลการค้นหา
มีศัพท์ทางประวัติศาสตร์จีนอยู่คำหนึ่งซึ่งสมัยเด็กๆ ได้ยินผู้ใหญ่เขาพูดกันทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้วรู้สึกว่ามันโรแมนติกมากเลอ บ้านเราจะมีบ้างมั้ย บางจังหวะก็อยากให้มีบ้างเพราะมันฟังดูหล่อเหลือเกิน คำคำนั้นก็คือ 'ขุนศึก' หรือที่ภาษาอังกฤษแปลว่า warlord นั่นเอง

มันจะไม่โรแมนติกยังไงไหว ภาษาไทยก็ชื่อเหมือนนิยายของ ไม้ เมืองเดิม ภาษาอังกฤษก็แลเฮี้ยนหนักมาก warlord นี่จะเป็นพวก lord of war พระเจ้าแห่งศึกสงครามมั้ย ออกแนวพระอินทร์ พระกฤษณะ กวนอู หรือจูล่ง หรือใครก็ได้ที่หล่อๆ ขี่ม้าขาวและรบเก่งๆ โตมาถึงรู้ว่า... อื้อหือ... โคตรจะไม่หล่อ แสนจะไม่โรแมนติก และที่สำคัญน่ากลัวว่ามันจะไม่ได้ไกลจากสภาวะความเป็นไปในบ้านเมืองเราในบางช่วงบางตอนซะด้วยซิ

แล้วตกลงสิ่งที่เรียกว่า 'ยุคขุนศึก' ในประวัติศาสตร์จีนคืออะไร? จริงๆ แล้วมันคือสภาพส่วนหนึ่งของวัฏจักรประวัติศาสตร์จีนยุคจักรวรรดิ ถ้าใครเคยอ่านสามก๊กบางสำนวนก็อาจจะเคยได้ผ่านตาคำบรรยายที่ว่าประวัติศาสตร์จีนหมุนเวียนเป็นวัฏจักร เริ่มจากความสับสนวุ่นวายแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า จากนั้นก็จะมีผู้นำที่เก่งมากๆ และโหดมากๆ มารวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นและตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ แต่จักรพรรดิโหดนี้ก็มักจะไม่สามารถสืบทอดอำนาจไปยังลูกหลานหรือสถาปนาราชวงศ์ที่ยืนยาวได้ พอหมดรัชสมัยแล้วพวกขุนนางก็จะก่อรัฐประหารแล้วก็สถาปนาราชวงศ์ใหม่ ณ ขณะที่บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นแล้ว โดยไม่ต้องโหดเท่าเดิม ก็จะสามารถปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุขมาได้อีกยาวนานเป็นร้อยๆ ปีจนถึงกาลล่มสลายของราชวงศ์นั้นก็จะเกิดความสับสนวุ่นวายแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าอีก รอวันให้เกิดมีมหาบุรุษสุดโหดมาทำให้บ้านเมืองราบคาบและสถาปนาตัวเองเป็นฮ่องเต้หนึ่งรัชสมัยอีก แล้วจึงมีราชวงศ์ใหม่อันยาวนานซึ่งมาจากการรัฐประหารของขุนนางของฮ่องเต้โหดนั้นอีกสองสามร้อยปีก่อนจะเกิดการล่มสลายเป็นก๊กเป็นเหล่าวนไปอย่างงี้อีก 

มหากาพย์สามก๊กก็เป็นเรื่องราวของการแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นซึ่งปกครองจักรวรรดิจีนมายาวนานถึง 400 กว่าปีหลังรัชสมัยสุดโหดของจักรพรรดิองค์แรกของจีน คือ จิ๋นซีฮ่องเต้นั่นเอง ดังนั้น 'ยุคขุนศึก' ก็คือยุคแห่งความสับสนวุ่นวายแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าของสังคมการเมืองจีน คำเขาก็มีที่มาที่ไปยาวนานเหมือนกันนะ เรียกได้ว่ามีความคลาสิกแต่อาจจะไม่โรแมนติกเท่าไหร่ เว้นแต่ว่า 'โรแมนติก' ในรสนิยมของคุณจะหมายถึงการฟันกันดุเดือดเลือดพล่านอย่างวรรณคดี 'สามก๊ก' ซึ่งมีชื่อเรียกภาษาฝรั่งว่า Romance of the Three Kingdoms ก็พอถูไถไปได้เหมือนกัน

ทีนี้ในประวัติศาสตร์ใกล้ๆ ตัวเราล่ะ ยุคขุนศึกครั้งสุดท้ายของจีนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วมันสภาพเป็นยังไงบ้าง มีใครหล่อๆ เหมือนลิโป้จูล่งบ้าง? จริงๆ ครั้งล่าสุดนี้ก็ไม่ได้ไกลตัวเราสักเท่าไหร่ เกิดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี้เอง... อันที่จริงนับๆ ดูแล้วก็ประมาณร้อยปีที่แล้วพอดี เหตุมันเกิดจากการที่ฝ่ายปฏิวัติภายใต้การนำของ ซุน ยัดเซ็น ทำการปฏิวัติที่เรียกว่าปฏิวัติซินไฮ่หรือปฏิวัติจีนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1911 การปฏิวัตินี้ก็แพร่กระจายไปทั่วจักรวรรดิจีนอย่างรวดเร็ว แต่การที่จะเผด็จศึกราชวงศ์ชิงได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยกองทัพที่มีทหารอาชีพและมีอาวุธสงครามเป็นเรื่องเป็นราวประมาณหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าเหล่าแอ็คติวิสต์หนุ่มนักปฏิวัติสุดหล่ออย่างซุนและพวกพ้องนั้นไม่มีแน่ๆ ก็พอดีแม่ทัพใหญ่ที่สุดของฝ่ายราชวงศ์ในยุคนั้นคือ นายพลหยวน ซื่อข่าย ตัดสินใจจะแปรพักตร์พอดี... ไม่ใช่ตัดสินใจโดยบังเอิญหรือมีจิตอาสาหรอกนะ เขาตัดสินใจเพราะว่าได้ต่อรองกับฝ่ายปฏิวัติไว้แล้วว่าถ้าล้มราชวงศ์สำเร็จต้องให้เขาเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐที่จะตั้งขึ้นภายหลัง ฝ่ายปฏิวัติก็ต้องยอม จะให้ทำไงได้ ไม่มีทหารมันก็ล้มรัฐบาลลำบากนะคะคุณ นายพลหยวนก็ไปแจ้งให้ฝ่ายราชวงศ์ทราบว่าตนเข้ากับฝ่ายปฏิวัติแล้ว ราชวงศ์ยอมแพ้ซะเถอะ ฝ่ายราชวงศ์ซึ่งตอนนั้นมีจักรพรรดิปูยีเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายขึ้นครองราชย์ตอนพระชนมายุเพียง 2 พรรษา ตอนที่เกิดปฏิวัติขึ้นก็ยังไม่ทันจะครบ 6 พรรษาเต็มก็ไม่มีทางเลือกเท่าไหร่ ก็ต้องสละราชสมบัติไปอย่างไม่ค่อยดราม่านัก แล้วหยวน ซื่อข่ายก็ได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีนตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1912 หลังจากที่สถาปนาสาธารณรัฐและซุน ยัดเซ็นได้เป็นประธานาธิบดีรักษาการณ์อยู่เพียงสองเดือนกว่าๆ เท่านั้น

พอได้เป็นประธานาธิบดีปุ๊บนายพลหยวนก็ทำการรวบอำนาจเป็นเผด็จการทหารทันที ออกกฎหมายห้ามมีพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ตั้งข้อหากบฏและข้อหาความมั่นคงร้ายแรงอื่นๆ ต่อซุนและชาวคณะที่ช่วยกันปฏิวัติมาก่อนหน้านั้นไม่นาน ซุนและพวกพ้องส่วนใหญ่ก็ต้องพากันหนีตายอพยพไปอยู่ต่างประเทศกันหมด จากนั้นหยวนก็เตรียมตัวสถาปนาราชวงศ์ใหม่ เตรียมตั้งตัวเองเป็นฮ่องเต้ (ชื่อ 'หงเซี่ยนฮ่องเต้' ซึ่งแปลว่า ความมั่งคั่งทางรัฐธรรมนูญ! อย่างงี้ก็ได้เหรอ!?!?) แต่สงสัยจะบุญไม่ถึงประกาศสถาปนาตัวเองเป็นฮ่องเต้ได้เพียงไม่กี่เดือนก็เสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษเนื่องจากภาวะไตล้มเหลวเมื่อพระชนมายุได้เพียง 56 พรรษา 

ทีนี้ล่ะค่ะท่านผู้ชม เมื่อหยวนเสียชีวิตในเดือนมิถุนายน 1916 จีนก็กลับเข้าสู่สภาวะขุนศึกอีกครั้ง เพราะเหตุว่าไม่มีใครมีอำนาจบัญชาการกำลังทหารและมีบารมีเป็นที่เกรงอกเกรงใจของกองทัพเท่ากับนายพลหยวน ซื่อข่ายอีกแล้ว พอสิ้นนายพลหยวน นายพลชั้นรองๆ ลงมาที่คุมกำลังตามหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนมาเฟียขาใหญ่ประจำท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลก็พากันแข็งเมือง สถาปนาอาณาจักรของตัวเองที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลที่ปักกิ่งซึ่งรับสืบทอดอำนาจต่อมาจากนายพลหยวนผู้ล่วงลับ หัวหน้าก๊กต่างๆ เหล่านี้แหละค่ะที่เราเรียกว่า 'ขุนศึก' หรือ warlord เขาจะตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ในอาณาบริเวณที่ถือว่าเป็นอิทธิพลของเข าซึ่งก็อาจจะครอบคลุมพื้นที่ถึง 2-3 มณฑลหรือภูมิภาคทั้งภูมิภาคไปเลยสำหรับก๊กใหญ่ๆ เช่น ก๊กเฝิงเทียนของขุนศึกจาง จั้วหลิน ซึ่งครอบครองเขตแมนจูเรียหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนทั้งภูมิภาคในทศวรรษ 1910 – 1920 ในยุคที่พีคที่สุด (อันที่จริงน่าจะเรียกว่า 'พัง' ที่สุดมากกว่า) มีก๊กขุนศึกใหญ่ๆ รวมกันอยู่ในอาณาบริเวณที่เป็นจักรวรรดิชิงเก่าและสาธารณรัฐจีนอยู่เกือบยี่สิบก๊กเลยทีเดียว

ภายในเขตอิทธิพลเหล่านี้ ขุนศึกจะมีกองทัพส่วนตัวเพื่อพิทักษ์รักษาอาณาบริเวณในเขตอิทธิพลของตัว จัดการปกครองภายในด้วยตัวเอง เก็บภาษีเอง (เพื่อใช้สนับสนุนกองทัพของตัวเองและโครงสร้างการปกครองที่ตัวเองจัดขึ้นมานั่นแหละ จะเงินใครจ่าย ก็เงินชาวบ้านทั้งนั้นแหละ ได้ชื่อว่าขุนศึกแล้วไม่ว่าจะสัญชาติไหนก็ใช้เป็นแต่เงินภาษีชาวบ้านเหมือนกันทั้งนั้นแหละค่า) ไปจนถึงตั้งสกุลเงินของตัวเองขึ้นมาใช้เลยทีเดียว นอกจากนี้ แต่ละก๊กก็จะมีนโยบายทางวัฒนธรรมของตัวเอง มีขุนศึกคริสเตียนบังคับทหารทุกคนในกองทัพให้ล้างบาปเข้ารีตนับถือพระเจ้าก็มี และขุนศึกที่มีอาณาบริเวณติดทะเลหรือติดชายแดนก็จะมีนโยบายต่างประเทศของตัวเอง เช่น ขุนศึกก๊กเฝิงเทียนก็เจรจาต่อรองให้สัมปทานการรถไฟและเหมืองแร่กับญี่ปุ่นและรัสเซียในเขตแมนจูเรียตามอำเภอใจตัวเองตลอดทศวรรษที่ 1920 ขุนศึกที่ครองอำนาจอยู่ติดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหยุนหนานและกวางสีก็ได้ผลประโยชน์จากการค้าของเถื่อนและยาเสพติดในเขตสามเหลี่ยมทองคำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ในภาพรวมของประวัติศาสตร์จีนนั้นมักมองว่ายุคขุนศึกเป็นยุคเข็ญของประชาชน เพราะเป็นยุคที่อำนาจอยู่ในมือผู้กุมกำลังทางทหารไว้ได้ในแต่ละพื้นที่ ใครมีปืนคนนั้นชนะ บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป เพราะแม้จะมีกฎหมายอยู่ขุนศึกก็มักจะปกครองตามอำเภอใจโนสนโนแคร์อยู่ดี ภาษีก็เก็บตามชอบใจ นึกจะขึ้นภาษีก็ขึ้น นึกจะขูดรีดเก็บเงินใต้โต๊ะคอมมิชชั่นจากชาวบ้าน เกษตรกร และพ่อค้านักธุรกิจเท่าไหร่ก็ได้ไม่ต้องมีเหตุผลอธิบาย เป็นยุคที่คอร์รัปชั่นแหลกลาญและตัดสินใจเอาทรัพยากรและผลประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากไปแลกกับเงินสินบนของมหาอำนาจต่างชาติได้ง่ายๆ ตลอดเวลา ยุคขุนศึกของจีนทุกยุครวมทั้งยุคล่าสุดสมัยต้นศตวรรษที่ 20 นี้ก็เลยจัดเป็นยุคมืดในประวัติศาสตร์จีน ที่เขาชอบอธิบายกันว่าปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดความไม่สงบขึ้นในจีน มีสงครามเกิดขึ้นมาก มีภาวะข้าวยากหมากแพง ชาวจีนจำนวนมากก็เลยต้องอพยพมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนีร้อนมาพึ่งเย็น มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสยามอะไรนั้นแหละ ความยุคเข็ญข้าวยากหมากแพงที่ว่านั้นนอกจากจะหมายถึงความล่มสลายของราชวงศ์ชิงแล้วก็ยังหมายถึงความระยำตำบอนขั้นสุดของยุคขุนศึกที่ตามมานั่นเอง

ยุคขุนศึกคราวล่าสุดของจีนนี้ก็ยืดเยื้อยาวนานมาก แม้จะมีผู้นำโหดและโฉดคือจอมพลเจียง ไคเช็กแห่งรัฐบาลก๊กมินตั๋ง (สืบอำนาจมาจากซุน ยัดเซ็นซึ่งเมื่อหยวน ซื่อข่ายตายแล้วก็ลักลอบกลับเข้ามาตั้งรัฐบาลขุนศึกของตัวเอง ณ มณฑลกวางตุ้งเหมือนกัน) ได้นำพลพรรคยกพลขึ้นเหนือ (Northern Expedition) เพื่อรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นในปี ค.ศ. 1926 และสามารถสถาปนารัฐบาลแห่งชาติ ณ นครหนานจิงได้สำหรับในกลางปีถัดมา แต่การรวมชาติของเจียง ไคเช็กนั้นก็ไม่ได้แก้ปัญหาขุนศึกได้ทั้งหมด เพราะเจียงใช้วิธีการเจรจาให้ขุนศึกยอมมาสวามิภักดิ์เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ถ้าใครสวามิภักดิ์ก็จะให้สิทธิปกครองตัวเอง ถ้าไม่สวามิภักดิ์ก็รบกัน ผลก็คือท้ายที่สุดรัฐบาลก๊กมินตั๋งภายใต้การนำของเจียงจึงมีอำนาจปกครองจริงๆ เฉพาะบริเวณชายลุ่มแม่น้ำใหญ่และชายฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ส่วนพื้นที่ทางตอนใน ตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศก็ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของขุนศึก ซึ่งก็ยังคงทำการเก็บภาษีตามชอบใจและคอรัปชันอย่างหนักหน่วงต่อไป 

ข้อนี้ส่งผลเสียมาถึงความมั่นคงของรัฐบาลสาธารณรัฐของเจียงด้วย เพราะเหตุว่าไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้รายได้สำคัญในการดำเนินการของรัฐบาลกลางก็ต้องได้มาจากภาษีการค้าและภาษีจากนายทุนอุตสาหกรรมในเขตเมืองเท่านั้น และด้วยเหตุที่เก็บภาษีได้เฉพาะในเขตเมืองนี้เองก็ทำให้เจียงใช้ยุทธศาสตร์รักษาเมืองไว้อย่างมากในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา คือใช้กำลังทหารจำนวนมาเพื่อพยายามรักษาเมืองสำคัญๆ ไว้โดยยอมแลกกับความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่ชนบทซึ่งอยู่ภายใต้ความควบคุมของขุนศึกต่างๆ ข้อนี้เป็นเหตุสำคัญให้ประชากรในชนบทซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศหันไปสนับสนุนฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งได้สถาปนาฐานที่มั่นขึ้นในชนบทภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนในระหว่างสงคราม และทำให้ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมืองของ เหมา เจ๋อตง ประสบความสำเร็จจนได้ชัยชนะในสงครามกลางเมืองและสามารถสถาปนาสาธาณรัฐประชาชนจีนขึ้นบนแผ่นดินใหญ่ได้ในที่สุด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่ายุคขุนศึกคือยุคแห่งความพังสนิททุกรูปแบบ ความบ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปแล้วให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกับผู้คุมกำลังทหารทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจนั้นเป็นสภาพที่ไม่อาจยั่งยืนสถาพรไปได้ยาวนาน ถ้าไม่พังเองด้วยพลังประชาชนภายในประเทศก็จะต้องพังด้วยกำลังต่างชาติ (ทั้งกำลังทหารและกำลังทุน) ที่เข้ามายึดครองหลังจากที่ขุนศึกพากันขายชาติไปจนหมดสิ้นแล้ว 

ประวัติศาสตร์จีนช่วงนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะในแง่ที่รัฐบาลจีนปัจจุบัน (ซึ่งสืบสิทธิมาจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเหมาที่ล้มระบอบขุนศึกไปโดยสิ้นเชิงนั่นแหละ) ก็เรียนรู้จากประสบการณ์ประวัติศาสตร์ยุคขุนศึกและจำเอามาใช้ในการเจรจาต่อรอง ล่อซื้อ จ่ายใต้โต๊ะ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ พวกขุนศึกทั้งหลายในประเทศเพื่อนบ้านที่จีนอยากจะขยายอิทธิพลเข้าไปเหมือนที่ญี่ปุ่นทำกับแมนจูเรียสมัยต้นศตวรรษที่ 20 นั่นแหละ เคยโดนขุนศึกขายชาติตัวเองมาแล้วทำไมจะไม่เชี่ยวชาญด้านการเอาเงินไปซื้อชาติจากขุนศึกบ้านอื่นเมืองอื่นล่ะคะ J

“อย่าบอกโรซี่”
คนทำงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีน และจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย และประเทศใหญ่น้อย
0Article
0Video
0Blog