ไม่พบผลการค้นหา
พนักงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) คว้าง บริษัทใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ "ปิดงานงดจ้าง" เหตุไม่สามารถหาข้อยุติกรณีพิพาทกับสหภาพแรงงานฯ เรื่องเปลี่ยนวิธีปรับโครงสร้างเงินเดือนปี 2560 ฟากรองประธานสหภาพแรงงานฯ ชี้กระทบพนักงาน 1,800 คน ไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการ ตั้งแต่ 29 ธ.ค. 2560 พร้อมนัดรวมตัวอีกครั้งหลังหยุดปีใหม่ วันที่ 8 ม.ค. 2561

นายสมชาย ไชยมาตย์ รองประธานสหภาพแรงงาน มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายโนริคาสึ อิชิคาว่า ประธานบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด ออกหนังสือแจ้งขอใช้สิทธิปิดงานงดจ้าง หลังจากมีข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับพนักงาน ในประเด็นเรื่องการขึ้นเงินเดือนและโบนัส ซึ่งก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงานฯ ได้มีข้อเรียกร้องกับบริษัท 10 ข้อ 

แต่มี 3 ประเด็นสำคัญที่บริษัทขอเปลี่ยนแปลง ได้แก่ หลักเกณฑ์การปรับค่าจ้าง ซึ่งเดิมคิดตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์จากฐานเงินเดือน และตามคะแนนการวัดผลงาน แต่ปีนี้บริษัทขอใช้วิธีจ่ายอัตราเดียวคือทุกคนจะได้ขึ้นเดือน 400 บาท เรื่องต่อมาคือ การหักค่าบำรุงสหภาพ ซึ่งเดิมบริษัทหักจากเงินเดือนพนักงานที่อัตรา 1% ของฐานะเงินเดือน แต่ของใหม่จะให้สหภาพฯ เรียกเก็บเงินส่วนหนึ่งจากพนักงานเอง และสุดท้าย สภาพการจ้างงาน เดิมให้ทำงาน 2 กะ รอบกลางวันและรอบกลางคืน ซึ่งถ้าเกินเวลาพนักงานจะมีค่าล่วงเวลา (โอที) แต่ของใหม่ บริษัทให้แบ่งพนักงานเป็น 3 กะ ซึ่งจะทำให้พนักงานจะไม่มีโอกาสมีรายได้จากค่าล่วงเวลาเลย 

อีกทั้ง บริษัทยังยื่นเงื่อนไขว่า หากสหภาพแรงงานฯ ไม่ยอมรับเงื่อนไขการขึ้นเงินเดือนที่ 400 บาท เท่ากันทุกคน ก็จะไม่มีการคุยเรื่องโบนัสและสวัสดิการอื่นๆ

กระทั่งวันที่ 27 ธ.ค. 2560 เวลา 22.35 น. บริษัทมีเอกสารเรื่องขอใช้สิทธิปิดงานงดจ้าง ส่งถึงประธานสหภาพแรงงานฯ และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน จ.ชลบุรี โดยระบุว่า ตามที่บริษัท ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ประจำปี 2560 ตามหนังสือเลขที่ HR3-287/2560 ต่อสหภาพแรงงานฯ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อให้มีตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้างและสหภาพแรงงานเจรจาร่วมกัน ซึ่งได้เจรจามาแล้ว 5 ครั้ง แต่ไม่สามารถหาข้อยุติตกลงกันได้ ต่อมาบริษัทฯ จึงแจ้งข้อพิพาทแรงงาน ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 3 พ.ย. และพนักงานประนอมข้อพิพาทได้นัดหมายผู้แทนเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.-27 ธ.ค. ที่ผ่านมา รวม 10 ครั้ง แต่ผลการเจรจาทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่สามารถตกลงกันได้ 


จดหมายมิตซูบิชิ.jpg

ดังนั้น บริษัทฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ใช้สิทธิปิดงานเฉพาะข้อเรียกร้องของบริษัท โดยไม่จ่ายค่าจ้างและสวัสดิการอื่นใดให้กับมวลสมาชิกสหภาพแรงงานฯ และผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2560 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป จนกว่าข้อเรียกร้องจะตกลงกันได้ 

โดยเหตุการณ์นี้มีผลกระทบให้พนักงาน 1,800 คน ไม่สามารถเข้ามาทำงานได้ตามปกติ ส่วนที่มีภาพพนักงานชุมชนในวันนี้ มีสาเหตุจากเอกสารการใช้สิทธิปิดงานงดจ้างของบริษัทออกมาเมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค. ทำให้มีพนักงานที่มาทำงานเช้านี้ตามปกติเข้าโรงงานไม่ได้ ดังนั้นจึงมารวมตัวกันที่วัดข้างโรงงาน และหลังจากนี้จะหยุดช่วงปีใหม่ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2560-7 ม.ค. 2561 และนัดรวมตัวอีกครั้งวันที่ 8 ม.ค. 2561 


"บริษัทผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้ในบ้านและอุตสาหกรรม มีกำลังการผลิต 5.5 ล้านเครื่อง ปี 2560 มีกำไรก่อนหักภาษี จำนวน 9,217 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 8,986 ล้านบาท มียอดขาย 46,514 ล้านบาท แต่ทำไมจึงยื่นเงื่อนไขการปรับเพิ่มค่าจ้างกับพนักงานให้มาเป็นระบบ Fix Rate ได้คนละ 400 บาท" นายสมชายกล่าว

ด้านแหล่งข่าวฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริษัทใช้สิทธิปิดงานงดจ้าง ตามกฎหมาย ขณะที่พนักงานก็ใช้ประท้วงตามกฎหมายได้เช่นกัน จนกว่าจะเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเรื่องการปรับค่าจ้างได้ หลังจากเจรจามาตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่่ผ่านมา และระหว่างนี้พนักงานที่เป็นสมาชิกสภาพแรงงานประมาณ 1,400 คน จากพนักงานบริษัทที่มีรวมๆ แล้วประมาณ 2,300 คน ในพนักงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการในช่วงนี้ จนกว่าจะได้ข้อยุติในประเด็นที่พิพาทกันอยู่


ค่าจ้าง 4.jpg

"ตอนนี้ บริษัทก็เปิดโอกาสให้พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพบางส่วนกลับเข้ามาทำงานได้ โดยให้มารายงานตัวก่อน ซึ่งก็มีบางส่วนกลับมาแล้ว ส่วนประเด็นพิพาท คือ สหภาพฯ ไม่ยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทต้องการปรับปรุงในเรื่องค่าจ้าง ตามการปรับโครงสร้างเงินเดือนปี 2560 ซึ่งพนักงานที่มีคะแนนต่ำที่สุด จะได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำ 400 บาทต่อเดือน และไต่ระดับขึ้นไปถึงสูงสุด 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ส่วนคนที่ได้ปรับในระดับขั้นต่ำสุด 400 บาท มีไม่ถึง 6 คน จากคนในบริษัททั้งหมด 2,300 คน" แหล่งข่าวกล่าว

อธิบดีกรมสวัสดิการฯ แจงบริษัทใช้สิทธิปิดงานงดจ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างและพนักงานในกรณีนี้ นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้างยังไม่สามารถหาข้อยุติในประเด็นเรื่องการปรับค่าจ้างและโบนัสประจำปีได้ ซึ่งตามกฎหมายระหว่างที่ยังเจรจาหาข้อยุติไม่ได้ สามารถขอให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไปช่วยได้ และหากพ้นการไกล่เกลี่ยเกิน 5 วัน บริษัทในฐานะนายจ้างสามารถได้ใช้สิทธิตามพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2541 ปิดงานงดจ้างได้ จนกว่าจะหาข้อยุติได้ ซึ่งจะมีผลให้พนักงานไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการใดๆ ในช่วงดังกล่าว ส่วนพนักงานก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะหยุดงาน หรือสไตร์คได้เช่นกัน ยกเว้นแต่จะมีการกักขัง หน่วงเหนี่ยว หรือทำลายร่างกายพนักงาน นายจ้างก็จะมีโทษได้ 

ในระหว่างนี้กรมฯ จึงสั่งการให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ให้ข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเพื่อให้ได้ข้อยุติ พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจและตักเตือนให้หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจผิดกฎหมาย รวมถึงประสานหน่วยงานดูแลความเรียบร้อยปลอดภัยในการชุมชน เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรและผลกระทบต่อชุมชน