พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 และในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่นำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว และนายรังสิมันต์ โรม ซึ่งเป็นผู้ที่มีคดีติดตัว และศาลมีคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมในลักษณะของการยุยงปลุกปั่น หรือกระด้างกระเดื่อง นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนไหวมายังกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก โดยใช้รถขยายเสียงในการปราศรัยตลอดเส้นทาง ว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการตรวจสอบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายใดบ้าง และทำผิดเงื่อนไข พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ หรือไม่ ที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง ชุมนุมเกินกำหนดเวลาที่ได้ขออนุญาต และกีดขวางการจราจร
เนื่องจากก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าว คสช. ได้รับการประสานขออนุญาตจัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจะเดินทางมายื่นหนังสือที่กองบัญชาการกองทัพบก แต่แกนนำได้เดินทางมาเพื่อปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ซึ่งถือว่าขัดกับเอกสารที่แจ้งมายัง คสช. ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงานด้วยความอดทนและเหมาะสม
ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการชุมนุมดังกล่าวว่า มีอะไรบ้างที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่เลือกตั้ง ตอนนี้บ้านเมืองเดินตามโรดแมปที่กำหนดไว้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย เคลื่อนไหวแบบนี้ก็เป็นการป่วน เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนเดินตามโรดแมป และเลือกตั้งกุมภาพันธ์ 2562 ไม่มีอะไรเลยที่จะไม่เลือกตั้ง ส่วนที่ขู่ว่าจะบุกทำเนียบรัฐบาลนั้นตนคิดว่า ก็ให้ขู่ไป แต่ถามว่าทำแบบนั้นถูกหรือไม่ ส่วนข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมให้กองทัพแยกและเลิกสนับสนุนคสช.นั้นพล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่แยกจากกันอยู่แล้ว กองทัพก็เป็นส่วนหนึ่งของ คสช.
ด้านนายรังสิมันต์ โรม แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ให้ความเห็นกับวอยซ์ ออนไลน์ว่า ยืนยันว่าการจัดชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่การป่วน แต่เป็นการทวงสัญญา ที่ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ในส่วนของการจัดกิจกรรมทุกครั้งจะมีการประสานงานขอเจ้าหน้าที่ แต่คราวนี้หน้าเสียดายที่ตำรวจ พยายามให้พวกเราตกเป็นจำเลยของสังคม ซึ่งการชุมนุมควรเป็นไปด้วยดี แต่ทางแกนนำก็มีการควบคุมให้ดีที่สุด และเชื่อว่าการกิจกรรมของเราน้อยคนที่จะได้รับความเดือดร้อน
"ถ้าเทียบกับรัฐบาลอยู่นานไปเรื่อยๆ ผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่คนบนท้องถนนที่เดือดร้อน แต่มันมีคนอีกมากมายมหาศาล ตั้งแต่แม่สายยันเบตงที่จะได้รับความเดือดร้อน" รังสิมันต์ กล่าว
เมื่อถามถึงการจัดชุมนุมสุ่มเสี่ยงเป็นภัยต่อความมั่นคงหรือไม่ รังสิมันต์กล่าวเสริมว่า ภัยความมั่นคงที่ว่าภัยความมั่นคงของใคร ในกรณีนี้คือความมั่นคงของประชาชน มันจึงเป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องออกมาแสดงพลังให้เกิดการเลือกตั้งภายในปีนี้ให้ได้ ถึงที่สุดแล้วมีการคเลือกตั้งทุกอย่างก็จบ เพราะไม่มีใครอยากออกมาชุม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือคสช.กำลังยื้อการเลือกตั้งออกไป
"ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึงความมั่นคงของประชาชน การยื้อเลือกตั้งต่างหากที่เป็นภัยต่อความมั่นคง" รังสิมันต์ กล่าว
ส่วนกรณีที่พล.ต.ปิยะพงศ์ ออกมาระบุว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทำผิดเงื่อนไขในการชุมนุมนั้น รังสิมันต์ยืนยันว่ากลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ทำอะไรผิดเงื่อนไข ในทางกลับกันเจ้าหน้าที่เองพยามยามขวางทางเดิน หรือมีการปิดไฟที่หน้ากองทัพบก พร้อมตั้งคำถามว่าพวกเรามีกำลังแค่นี้ จะเอาอะไรไปเล่นตุกติก เมื่อเทียบกับกำลังเจ้าหน้าที่รัฐ
สำหรับการชุมนุมดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มคนอยากเลือกตั้งประมาณ 400 คน รวมตัวเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ถึงหน้ากองบัญชาการกองทัพบก โดยมีการปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้หยุดสืบทอดวงจรคณะรัฐประหาร ขอให้กองทัพเสียสละอำนาจที่ไม่ชอบธรรมคืนให้กับประชาชน และมีการชักชวนให้ประชาชนพับจรวดกระดาษปาเข้าไปในบริเวณกองบัญชาการกองทัพบก โดยเนื้อหาในจรวดคือการเรียกร้องให้กองทัพยุติการสนับสนุน คสช.
อ่านเพิ่มเติม