ไม่พบผลการค้นหา
นักวิเคราะห์เตือนไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ยังคงเสี่ยงภัยเศรษฐกิจอีกหลายประเด็นในปีหน้า ทั้งผลพวงจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จีดีพีโตต่ำกว่าเป้า และ 'ความไม่แน่นอน' จากการเลือกตั้ง

นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินการธนาคารหลายแห่งในเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป ประเมินตรงกันว่าเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2562 ยังต้องเผชิญกับภัยเศรษฐกิจอีกยาว โดยนิกเกอิ เอเชี่ยน รีวิว เผยแพร่บทความ Southeast Asia faces 'long list' of risks in 2019 ระบุว่า การเจรจาระงับข้อพิพาทสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นระยะเวลา 90 วัน อาจช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ แต่ในปีหน้าคาดว่า 5 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ยังเสี่ยงที่จะต้องเจอกับอุปสรรคใหญ่ในด้านเศรษฐกิจอีกหลายประเด็น

เมอร์ริล ลินช์ ประเมินแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศที่กล่าวมา ในฐานะที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะอยู่ที่ร้อยละ 4.8 โดยเฉลี่ย ลดลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2561 และร้อยละ 5.1 ในปี 2560 อ้างอิงจากจีดีพีของไตรมาสที่ 3 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีการขยายตัวอย่างช้าๆ เพราะ 5 ประเทศต่างก็ซึ่งพึ่งพาการส่งออก จึงได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก

ขณะที่โมฮัมเหม็ด ฟาอิซ นากูธา นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า อุปสรรคสำคัญที่นอกเหนือจากความตึงเครียดจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ แต่เขาเชื่อว่าการระงับข้อพิพาทชั่วคราวระหว่างจีน-สหรัฐฯ ช่วยผ่อนคลายบรรยากาศทางเศรษฐกิจโดยรวมได้ ทั้งยังคาดว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า ซึ่งประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเริ่มปรับตัวได้ และจะทำให้เกิดอานิสงส์กับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม เซลีนา หลิง หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ยุทธสาสตร์ของบริษัท Oversea-Chinese Banking Corp หรือ OCBC ในสิงคโปร์ กลับประเมินว่า ภัยเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ กระแสกีดกันทางการค้าที่จะยังดำเนินต่อไปอีกพักใหญ่ๆ โดยเธอชี้ให้เห็นว่า การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในแวดวงอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีไม่มีทางยุติลงไปได้ง่ายๆ

AP-ธงจีน-ทรัมป์ทาวเวอร์-สงครามการค้า-สหรัฐ-จีน
  • แม้จีนและสหรัฐฯ จะเจรจาระงับข้อพิพาททางเศรษฐกิจชั่วคราว 90 วัน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว

นอกจากนี้ แรงกดดันจากนานาประเทศอาจจะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงนโยบายของทั้ง 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกอย่างจีนและสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน เห็นได้จากแถลงการณ์ร่วม หลังสิ้นสุดการประชุมของกลุ่มผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G20 ซึ่งจัดขึ้นในปีนี้ สะท้อนความแตกแยกทางนโยบายและจุดยืนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ยอมร่วมกล่าวประณาม 'มาตรการกีดกันทางการค้า' เพราะสหรัฐฯ เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนการตั้งกำแพงภาษีและนโยบายสนับสนุนชาตินิยมในปัจจุบัน

ด้านสุเรช ตันเตีย รองประธานฝ่ายบริหารของเครดิตสวิส ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านตราสารทุนในเอเชียแปซิฟิก มีความคิดเห็นสอดคล้องกับนักวิเคราะห์รายอื่นๆ โดยระบุว่า 'การสงบศึก' ในสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แค่ 90 วัน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ก็เห็นได้ชัดว่านักลงทุนยังวิตกกังวล และสภาพดังกล่าวจะยังดำเนินต่อไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2562 แต่ความไม่แน่นอนในตลาดทุนสหรัฐฯ ผนวกกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง อาจทำให้ตลาดทุนในบางประเทศแถบเอเชียได้รับอานิสงส์ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ได้แก่ 'สถานการณ์ทางการเมือง' โดยเฉพาะ 'ประเทศไทย' ซึ่งกำลังการเตรียมการจัดเลือกตั้งครั้งใหญ่ โดยเครดิตสวิสประเมินว่า ไทยอาจจะมีรัฐบาลพลเรือนอย่างเร็วที่สุดในช่วงต้นปีหน้า แต่อนาคตของรัฐบาลใหม่และท่าทีของพรรคการเมืองที่จะมาเป็นฝ่ายค้านเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ ซึ่งย่อมจะส่งให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้

เช่นเดียวกับ 'อินโดนีเซีย' ซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน เม.ย. ทั้งเครดิตสวิสและเมอร์ริล ลินช์ เชื่อว่า 'โจโก วิโดโด' ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน จะได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นว่านโยบายต่างๆ จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่โอซีบีซีระบุว่า การรณรงค์หาเสียงในอินโดนีเซียเพิ่งจะเริ่มขึ้นได้ไม่นาน และกว่าจะถึงกำหนดเลือกตั้งประธานาธิบดี อาจมีความเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้

ที่มา: Nikkei Asian Review

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: