นายขจร เราประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวกรมการข้าว กล่าวว่า การพัฒนา ข้าวทั้งระบบ ต้องเริ่มต้นจากการปรับตัวของชาวนา นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ ควบคู่ไปพร้อมกับการทำนาแบบชาญฉลาด และเห็นว่าระบบการผลิตสมัยใหม่กำลังจะเข้ามาแทนที่แบบเดิม
ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างชาวนารุ่นใหม่ ต้องทำให้ดีและมีคุณภาพจึงจะสามารถอยู่ได้ พร้อมแนะนำการทำข้าวแบบผสมผสานมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวนา
นายสุภาพ โนรีวงศ์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ในฐานะชาวนา เห็นว่าการทำนาต้องเปลี่ยนแปลงทางความคิดโดยเฉพาะ จุดเริ่มต้นในการปลูกข้าวให้เป็นยา และเห็นว่าการทำนาต้องมีคู่แข่งเพื่อให้เกิดแรงผลักดัน
จากการศึกษาดูงานในต่างประเทศโดยเฉพาะในเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ของประเทศไทย พบว่าประเทศเวียดนามมีการจัดโซนนิ่งการปลูกข้าวอย่างเป็นระบบ แม้ประเทศไทยจะดำเนินการเรื่องโซนนิ่งแต่ที่ผ่านมายังขาดความชัดเจน พื้นที่ ที่ขาดทุนรัฐไม่ควรเข้าไปส่งเสริม ส่วนพื้นที่ใดทำแล้วเห็นผลกำไรผู้มีอำนาจจะต้องเร่งเข้าไปพัฒนาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่
พร้อมกันนี้ยังยืนยันด้วยว่าข้าวไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพสามารถสู้ตลาดในต่างประเทศได้ทั้งหมด แต่ขอให้ผู้ปลูกข้าวอย่านำพันธุ์ข้าวมาผสมจนทำให้ข้าวถูกลดคุณค่าลง
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการทำนาแปลงใหญ่ของไทยแตกต่างจากเวียดนาม เพราะประเทศไทยไม่คัดชาวนาที่มีคุณภาพหรือเกษตรกรที่มีคุณภาพ ก่อนที่จะรวม ให้เป็นแปลงใหญ่ตามแนวนโยบายของรัฐ
รองศาสตราจารย์สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ มองว่า ปัจจุบันเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้เรื่องการจัดการไร่นา และไม่สามารถเข้าถึงกลไกการตลาด กระบวนการผลิต โดยเฉพาะ ตลาดข้าวตลาดกลางยังไม่สอดรับในทิศทางเดียวกัน ทำให้อำนาจการต่อรองของเกษตรกรลดลง
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการพัฒนานวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ การพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เกิดความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ในเรื่องดังกล่าวประเทศไทยกับพัฒนาไปล่าช้า เช่นเดียวกับการจัดพื้นที่เพื่อปลูกข้าว ที่มีรูปแบบเฉพาะยังทำได้ไม่ดีพอ ทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกซึ่งต้องมีต้นทุนต่ำที่สุดหรือการผลิตแบบจำเพาะเพื่อสร้างราคา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :