ไม่พบผลการค้นหา
'น.สพ.สรวิศ' โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจงกระแสข่าวสัตว์ในสวนสัตว์โคราชตายเพราะไข้หวัดนก ไม่เป็นความจริง ยันประเทศไทยไม่พบโรคนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ขอประชาชนมั่นใจ ฟาก หน.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาฯ เตือนอย่าประมาทการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระแสข่าวที่มีผู้กล่าวอ้างว่า พบสัตว์ในสวนสัตว์นครราชสีมาป่วยตายจากโรคไข้หวัดนก เมื่อปี 2560 นั้น ยืนยันว่า จากที่ได้รับรายงานจากกรมปศุสัตว์หลังจากทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนไปที่ปศุสัตว์ จ.นครราชสีมา รวมถึงสอบถามเจ้าหน้าที่สวนสัตว์แล้ว ยืนยันตรงกันว่า ไม่เคยมีสัตว์ที่เจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคไข้หวัดนกและในสัตว์ที่ตายตามอายุขัยก็ไม่เคยพบเชื้อดังกล่าวแต่อย่างใด

พร้อมกับระบุว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวต่างๆ และขอให้มั่นใจว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์มีมาตรการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์สนธิกำลังกับอาสาปศุสัตว์ทุกจังหวัด ลงพื้นที่ติดตามและป้องกันโรคในระดับหมู่บ้านพร้อมรณรงค์พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในจุดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกเป็นประจำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่


"แม้ว่าไทยจะไม่เคยตรวจพบโรคนี้มากว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 แต่กรมฯ ก็ยังคงมาตรการต่างๆ ไว้อย่างเข้มแข็งต่อไป" โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว


ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด พร้อมทั้งมีการบูรณาการงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ในส่วนการบริโภคสินค้าจากสัตว์ปีกนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่ามีความปลอดภัยสามารถบริโภคได้ 

สวนสัตว์โคราช-สนง.ป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พูดเสียงเดียวกันไม่มีไข้หวัดนกระบาด

น.ส.วนิดา แผลงปัญญา หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจและประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์นครราชสีมา ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวลวงในโลกโซเชียล ที่มีผู้ไม่หวังดีจงใจสร้างขึ้น เพื่อให้เกิดกระแสความตื่นกลัวในหมู่ประชาชน แล้วแชร์ข้อมูลออกไปเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อได้ทำการตรวจสอบข่าวลวงดังกล่าวกลับไม่มีชื่อผู้เปิดเผยข่าว เป็นเพียงการอ้างว่ามาจากแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทั้งที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง

"ขอยืนยัน 100% ว่าสวนสัตว์โคราช ไม่เคยมีโรคไข้หวัดนก และไม่มีการปิดข่าวตามที่มีผู้กล่าวอ้าง ขอให้ประชาชนอย่าแชร์ข่าวลวงนี้ออกไป เพราะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงสื่อก็ไม่ควรนำข่าวเท็จนี้มาเผยแพร่ต่อ เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความแตกตื่น สวนสัตว์โคราชมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์คอยตรวจสอบสัตว์ทุกชนิดต่อเนื่อง มีการป้องกันสัตว์ปีกจากภายนอกไม่ให้เข้ามาปะปนกับสัตว์ในสวนสัตว์อย่างเข้มงวด ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าไม่มีไข้หวัดนกแน่นอน" น.ส.วนิดากล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นมีสัตว์ป่วยตายผิดปกติ สามารถแจ้งอาสาปศุสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ของท่าน หรือแจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร 063-2256888 เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 (สคร.9) นครราชสีมา กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ไม่มีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนกระบาดแต่อย่างใด และเชื่อว่าข่าวสารที่ออกมาก่อนหน้านี้ เป็นการนำข่าวเก่ามาเล่าใหม่ เนื่องจาก เมื่อปี 2560 เคยมีรายงานการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ประเภทชะมด ซึ่งคาดว่าติดเชื้อมาจากอาหารของสัตว์ที่เข้ามาภายในสวนสัตว์ เช่น เนื้อไก่ แต่ทางสวนสัตว์นครราชสีมาได้ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ กำจัดและควบคุมเชื้อจนหายไปหมดแล้ว 

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ได้มีการเข้าไปตรวจเชื้อในสัตว์ต่างๆ อย่างเข้มงวด และต่อเนื่อง จึงขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสบายใจได้

'ศ.นพ.ธีรวัฒน์' เตือนอย่าประมาทการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม

ด้าน มติชนออนไลน์ เผยแพร่ คำกล่าวของ ศ.นพ.ธีรวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้คนจากโคราชที่ทำงานสวนให้ที่บ้านสัปดาห์ละครั้ง เคยเล่าให้ฟังว่าไก่ที่วิ่งหลังบ้านตายเป็นฝูงไม่รู้เป็นอะไร และไก่ของเพื่อนบ้านก็มีลักษณะเช่นกัน เลยได้แจ้งให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เข้าไปตรวจสอบ เพราะในพื้นที่นั้นไม่มีหน่วยงานราชการใดได้ทราบมาก่อนรวมทั้งกรมปศุสัตว์ ซึ่งเมื่อเข้าไปสำรวจก็พบว่าเป็นไข้หวัดนก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีลักษณะสายพันธุ์ที่รุนแรงแน่ เพราะทำให้ไก่ตาย

ดังนั้น จึงเห็นว่า กรณีเหตุการณ์ที่สวนสัตว์โคราช การที่มีสัตว์อื่นนอกจากสัตว์ปีกล้มตาย เช่น เสือปลาและอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรม จนสามารถติดเชื้อจากสัตว์ตระกูลใหม่ได้ และเป็นการเตือนที่สำคัญของการเข้าสู่มนุษย์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในประมาณเดือน ส.ค. - ต.ค. 2560 และเท่าที่ทราบจากการประชุมร่วมกันของกลุ่มควบคุมโรคและกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีข้อมูลถึงการติดเชื้อในหลายจังหวัด แต่สามารถควบคุมได้ทันท่วงที 

"ลักษณะของการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมเหล่านี้สามารถเห็นประจักษ์ชัดได้จากการที่มีรายงานในประเทศจีนถึงการพบเชื้อไข้หวัดนก H7N4 ในคน ซึ่งแม้มีอาการไม่มากมาย แต่ทางการจีนก็ได้ประกาศทั่วไปและฮ่องกงได้ออกมาตรการเข้มงวด ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเมื่อเดือน ก.พ. 2561" ศ.นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐควรมีการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงความเสี่ยงในโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อหาทางป้องกันด้วย 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

เฝ้าระวังไข้หวัดนกทุกสายพันธุ์อย่างเข้มข้น-ต่อเนื่อง

สธ.เฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ จากสภาพอากาศโลกแปรปรวน