ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกแถลงการณ์เรียกร้องคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ มีภารกิจในการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จเท่านั้น ชี้เลือกตั้งภายในเดือน พ.ย. 61 สามารถเป็นไปได้จริง

วันนี้ (10 มี.ค. 2561) เมื่อเวลา 16.00 น. กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นำโดยนายรังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ 'จ่านิว' น.ส.ณัฎฐา หรือโบว์ มหัทธนา แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือกลุ่ม MBK39 และแกนนำคนอื่น ๆ อ่านแถลงการณ์ในระหว่างการจัดกิจกรรม "ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง On tour" เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นรูปธรรม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ตามที่กลุ่มประชาชนในนาม 'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' ได้เคยเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้ ปรากฏว่าในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ได้ประกาศอีกครั้งว่าจะจัดการเลือกตั้งภายในเดือน ก.พ. 2562 แต่พวกเรายังคงยืนยันว่า "การจัดการเลือกตั้งภายในเดือน พ.ย.2561 สามารถเป็นไปได้จริง"

สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นข้ออ้างให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนประกาศใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือการไม่รับรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่ง กกต. ที่ถูกเสนอมา ล้วนแต่เป็นเหตุที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มเวลาหาเสียงสืบทอดอำนาจของ คสช.เอง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ คสช. กระทำการราวกับว่าตนดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทว่ากรอบระยะเวลาดังกล่าวนั้นกลับขยายออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด

เพราะฉะนั้นแล้ว แค่เพียงคำพูดของ คสช. ว่าจะจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเมื่อใดก็ตาม ไม่มีค่าเพียงพอที่จะให้ประชาชนเชื่อถือได้อีกต่อไป หากแต่ต้องมีการกระทำของ คสช. ที่แสดงถึงความจริงใจในการจัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และความไม่ประสงค์ที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปประกอบกันด้วย

ในการที่จะไปสู่การเลือกตั้งได้นั้น จำเป็นที่จะต้องสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นและพรรคการเมืองสามารถนำเสนอนโยบายได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อการคุกคามจากผู้มีอำนาจ รวมถึงต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนด้วยว่าจะไม่มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยในสภาวการณ์ที่ทหารมีอำนาจสูงสุดครอบงำประเทศเช่นในปัจจุบันนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำทหารออกจากการเมืองไทย

ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. คสช. จะต้องยุติการดำรงอยู่ของตัวเอง

คสช. เป็นองค์กรหนึ่งที่ดำรงอยู่แยกต่างหากจาก ครม. สนช. หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ และมีอำนาจสูงสุดที่จะสั่งการใดๆ ก็ได้ ทว่าผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. หลายคนกลับดำรงตำแหน่งในองค์กรทางการเมือง หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย และรับค่าตอบแทนในทุกตำแหน่งที่ดำรงอยู่ตลอดมา

การดำรงอยู่ของ คสช. หาได้มีความจำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงแต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา สามารถจัดขึ้นได้โดยรัฐบาลปกติ ในทางกลับกัน การดำรงอยู่ของ คสช. กลับเป็นเครื่องหมายตอกย้ำว่าการเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนออกไปได้อีกตามอำเภอใจของ คสช. เอง และการสืบทอดอำนาจเผด็จการอาจเกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน การยุติการดำรงอยู่ของ คสช. จึงเป็นหลักประกันในลำดับแรกสุดที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งและไม่เกิดการสืบทอดอำนาจได้จริง

2. ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ มีภารกิจในการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จเท่านั้น โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขดังนี้

(1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

(2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน

(3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน

(4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด อันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กำหนด

3. จะต้องยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมถึงประกาศ คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยทันที เนื่องจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั้งหลายนั้น เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เหมาะสมต่อการนำไปสู่การเลือกตั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีประกาศ คสช. ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้ง หากถูกยกเลิกโดยล่าช้าแล้ว ย่อมเป็นเหตุอ้างให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก

ทั้งนี้ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ทางกลุ่มจะยกระดับข้อเรียกร้องของประชาชนมิให้หยุดอยู่ที่เพียงมีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่จะต้องสร้างหลักประกันว่าจะต้องไม่มีการสืบทอดอำนาจของ คสช. และจะต้องรื้อถอนรากเหง้าแห่งเผด็จการที่ คสช. พยายามปลูกฝังไว้ด้วย

ขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนางเฟเดอรีกา โมเกรินิ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมคณะ ที่ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งการพบหารือดังกล่าวได้หารือถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ไทย – สหภาพยุโรป โดยนางโมเกรินิฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญของสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้อธิบายถึงพัฒนาการด้านการเมืองของไทย ตลอดจนการกำหนดวันเลือกตั้ง