ไม่พบผลการค้นหา
"บังเอิญเมื่อมีบารมีสามารถแอบสั่งงานได้ แล้วข้าราชการก็เกรงใจ แล้วต้องปฏิบัติตาม โดยที่ยอมเลี่ยงยอมผิดคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยตรง นั่นคือสิ่งที่ผมเรียกว่าผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

วันนี้ 29 มิ.ย. 2549 หรือเมื่อ 15 ปีก่อน ได้เกิดวาทะ "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ขึ้นในช่วงก่อนการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

และเป็นเหตุการณ์ที่อยู่ในช่วงที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการที่จะต้องเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้ได้ หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ

"ตุลาการภิวัฒน์" ถูกจุดขึ้นในสถานการณ์ขณะนั้น ท่ามกลางกระแสมวลชนในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุมกดดันรัฐบาลรักษาการในขณะนั้น

ทักษิณ.jpg

กระทั่งวันที่ 29 มิ.ย. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการตั้งแต่ระดับ 10 ทหาร ตำรวจ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

พ.ต.ท.ทักษิณได้ระบุตอนหนึ่งว่า "ความวุ่นวายเกิดจากหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือเมื่อใดองค์กรตามปกติ ถูกองค์กรที่นอกระบบครอบงำ หรือมีอิทธิพลมากกว่าองค์กรปกติ นั้นก็จะวุ่นวาย หรือถ้าจะแปลเป็นไทยชัด ๆ ก็คือว่า วันนี้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ในรัฐธรรมนูญ"

"บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายกับองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป มีการไม่เคารพกติกา"

"หลายองค์กร ไม่ทำหน้าที่ของตัวเองตามหน้าที่ที่ต้องทำ บางคนไม่พอใจกติกา แต่จะขอให้แก้กติกานอกระบบประชาธิปไตย นอกระบบรัฐธรรมนูญ เป็นไปไม่ได้ ผู้เสียผลประโยชน์ใช้กฎหมู่ แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย ในที่สุดก็กลายเป็นการสร้างความวุ่นวาย และสร้างผลประโยชน์จากผู้เสียผลประโยชน์ใช้กฏหมู่ แต่ไม่มีคนบังคับใช้กฎหมาย ในที่สุดก็เป็นการสร้างความวุ่นวายและสร้างผลประโยชน์จากการสร้างปัญหา"

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวว่า เรายังขาดการเคารพในระบอบประชาธิปไตย เรื่องหนึ่งเสียงต่อหนึ่งคน บางคนยังเข้าใจว่า ตัวเองมีความสำคัญมากกว่าคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นเสียงของตัวเองต้องดัง และมีความหมายมากกว่าเสียงคนอื่น ไม่เคารพการตัดสินใจของประชาชน มีคนอยากเป็นนายกฯ มาตรา 7 ทั้งๆ ที่มีพระราชดำรัสบอกแล้วว่า มาตรา 7 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย ก็เลยทำให้วุ่นวายกัน

"ผมจะไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยเด็ดขาด ผมจะขอปกป้อง ประชาธิปไตยของชาติ เพราะผมถือว่า โลกยุคใหม่เขาให้คุณค่าคำว่า ประชาธิปไตยสูงมาก เราเป็นประชาธิปไตยมาขนาดนี้แล้ว ใครก็แล้วแต่จะนำพาประเทศถอยหลังเข้าคลอง โดยทิ้งประชาธิปไตย ผมไม่ยอม"

"ผมจะปกป้องประชาธิปไตยด้วยชีวิต เพราะฉะนั้นความพยายามใดๆ ที่ทำให้ประชาธิปไตยสูญเสียไปจากประเทศไทยโดยที่ขณะผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่ยอมเด็ดขาด เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องวิตกเลยว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงช่วงนี้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุทิ้งท้ายในการมอบนโยบายเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2549 

สนธิ สุรยุทธ์ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 744289699_6868669659558009139_n.jpg

ถัดจากนั้นมา 3 เดือน 19 ก.ย. 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ สิ้นสุดสถานะรักษาการนายกรัฐมนตรี เมื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้นนำกองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ตั้งสถานะองค์กรที่มาจากยึดอำนาจว่า คปค.

ปิดฉากรัฐบาลไทยรักไทย ที่ชนะเลือกตั้งมา 2 สมัยซ้อน ครองอำนาจการบริหารประเทศด้วยรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองเข้มแข็งด้วยกลไกกติการัฐธรรมนูญปี 2540

27 มี.ค. 2552 ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มาจากการพลิกขั้วดูดเสียง ส.ส.อดีตพรรคพลังประชาชนมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ปราศรัยผ่านระบบวิดีโอลิงก์มายังที่ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง (นปช.) ที่มีการชุมนุมกดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในช่วงค่ำวันที่ 27 มี.ค. 2552 

โดย พ.ต.ท.ทักษิณเฉลยถึงที่มาของคำว่า "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" อย่างดุเดือดและเป็นองค์กรนอกรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองต้องหยุดอยู่กับที่

อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ระบุว่า เลือกต้ังปี 2548 พรรคไทยรักไทยชนะ 377 เสียง ก็คิดว่าพรรคไทยรักไทยเข้มแข็งเกินไป พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอเกินไป ก็เริ่มพูดจากันแต่ไม่เท่าไร แต่พอปลายปี 48 มาเกิดกระบวนการรวมตัวของพันธมิตรคือ สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นหัวหน้าทีมเริ่มต้นที่สวนลุมพินี เอื้อเฟื้อโดย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ก็ให้ทุกสัปดาห์ พรรคประชาธิปัตย์ก็ช่วยทางอ้อม มีคนของพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเวทีบ้างขนคนบ้าง มีการต่อสู้นอกระบบขึ้นมา

"มีองคมนตรีได้ไปบอกกับสื่อ ผมเคยเล่าให้ฟัง และแอบอ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่เอาผมแล้ว แต่เป็นองคมนตรีบางคน"

AFP-รัฐประหาร 19 กันยายน 2549-ทหาร-ปืน-รถถังAFP-รัฐประหาร 19 กันยายน 2549-ทหาร-ปืน-รถถัง

พ.ต.ท.ทักษิณ ย้ำว่าม็อบก็มีเส้น เอเอสทีวีได้รับการคุ้มครองจากศาล ถึงปฏิวัติแล้วไม่เลิกคุ้มครอง ออกอากาศล้มล้างรัฐบาล จนผมก็พูดความจริงขึ้นมา ตอนนั้นผมประชุมข้าราชการที่ตึกสันติไมตรี ผมก็บอกให้ข้าราชการทำงานให้เต็มที่ เพราะตอนนั้นข้าราชการเริ่มเกียร์ว่าง เพราะรู้รัฐบาลเริ่มมีปัญหา ทั้งที่มี 377 เสียง เพราะถูกผู้มีบารมีเข้าแทรกแซงก็เริ่มมีการนิ่งไม่ทำงาน ผมก็ต้องกระตุ้นทำงานเถอะ ทำงานได้แล้ว ผมก็บอกว่าที่มันเป็นอย่างนี้ รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ก็เพราะมีผู้บารมีนอกรัฐธรรมนูญ แปลว่าอะไรครับ แปลว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้มีโครงสร้างจัดการอำนาจหน้าที่นั้นอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่บังเอิญเมื่อมีบารมีสามารถแอบสั่งงานได้ แล้วข้าราชการก็เกรงใจ แล้วต้องปฏิบัติตาม โดยที่ยอมเลี่ยงยอมผิดคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยตรง นั่นคือสิ่งที่ผมเรียกว่าผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

"คำว่า ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ จึงเป็นคำที่ฮือฮามาก แล้ววันนั้น สนธิ ก็ไปกล่าวหาเลยว่า ผมหมายถึงพระเจ้าอยู่หัว ผมมิบังอาจ ผมมีความจงรักภักดี แต่จริงๆแล้ว ผมหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษขณะนั้น ที่ผมหมายถึงวันนั้น แต่ผมไม่กล้าพูดวันนั้นแล้วมีคนของ พล.อ.เปรม โทรมาให้ผมพูดให้ชัดได้ไหมว่าไม่ใช่ พล.อ.เปรม ก็มันใช่อ่ะ ก็เลยไม่พูด แล้วไม่ตอบอะไรเลย ก็เพราะว่าท่านหลังจากนั้นท่านเดินสายแต่งเครื่องแบบทหาร ทหารเรือทหารอากาศ แต่งเครื่องแบบแล้วออกเดินสายด่าผมไปโรงเรียน จปร. ไปโรงเรียนนายเรือ ไปโรงเรียนนายเรืออากาศ"

อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องออกจากแผ่นดินเกิด ด้วยเพราะระบบการเมืองไทยไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ซึ่งเขาบอกถึงการเมืองไทยที่ต้องถอยหลังถูกยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ว่า "สิ่งที่พล.อ.เปรมเข้ามายุ่งการเมือง พล.อ.สุรยุทธ์ยุ่งทางการเมืองทำให้สถาบันเสียหาย ฉะนั้นไม่ควร

"พล.อ.เปรมใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นห่วงเป็นใยพรรคประชาธิปัตย์เป็นพิเศษ พอหลังจากไทยรักไทยเข้ามาชนะเลือกตั้ง 2 ครั้ง แล้วพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีโอกาสสู้ แต่ไม่รู้เป็นเพราะอะไร แต่ไม่อยากให้ท่านเข้ามายุ่งการเมือง"

"พล.อ.เปรม ตอนปฏิวัติ พานายบัง (พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.)เข้าเฝ้าทำไม ซึ่งคณะปฏิวัติ ทำไมประธานองคมนตรีต้องเข้าเฝ้าเหมือนเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติเสียเอง แล้วตอน พล.อ.สุรยุุทธ์ เป็นนายกฯ พล.อ.เปรมก็บอกว่า พล.อ.สุรยุทธ์ เหมือนวินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เป็นคนดีของอังกฤษคนหนึ่ง ความจริงแล้ว ตอนผมได้ข่าวผมอยู่ลอนดอน ผมดูอนุสาวรีย์ วินสตัน อยู่ลอนดอนหรืออยู่บนเขายายเที่ยงก็ไม่รู้"

"ตอนคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรมก็บอกว่าประเทศไทยโชคดีได้อภิสิทธิ์์เป็นนายกฯ ท่านเป็นประธานองคมนตรี ท่านต้องไม่ยุ่งการเมือง และก็บอกว่า ป๋าเชียร์อภิสิทธิ์"

เปรม สุรยุทธ์ -4204-BB5B-E404B1C39598.jpeg

"ที่ผมพูด เพราะผมรักเคารพป๋า เพราะเคยกราบป๋า เพราะป๋าอายุมากกว่าพ่อผมอีก ป๋าเป็นผู้ใหญ่ที่เรามองว่า เราเป็นนายกฯรุ่นเด็กๆ ก็ให้ความเคารพนับถือแต่สิ่งที่เกิดขึ้น ป๋าลงมาเล่นการเมืองในฐานะประธานองคมนตรี ผมไม่อยากเห็นครับป๋าครับ ป๋าอย่าทำเลย การที่ป๋าลงมาเล่นการเมืองแล้วป๋าสั่งโน่นสั่งนี่ในฐานะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ทำให้กระบวนการของประเทศเสียหายหมด ระบบสองมาตรฐานเกิดขึ้น ระบบความไม่เป็นธรรมในสังคมเกิดขึ้น

"ป๋าอาจไม่มีลูกหลานแต่ลูกหลานในอนาคตของเรากำลังเติบโตขึ้นทุกวัน เขาเหล่านั้นต้องมีอนาคตต้องมีระบบประเทศที่ถูกต้อง เป็นระบบประชาธิปไตยที่สากลยอมรับ เป็นระบบที่ให้ความเป็นธรรมกับสังคม"

คำตอบถึงที่มาคำว่า "ผู้มาบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" แม้จะผ่านจากวันที่ 27 มี.ค. 2552 มา 12 ปี แต่ถ้านับจากวันที่ 'ทักษิณ' จุดประเด็นสะเทือนการเมืองไทยเมื่อปี 2549 นั้นก็เป็นเวลาที่ผ่านมาแล้ว 15 ปี

เป็น 15 ปีที่ คนไทยได้รู้จักคำว่า "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" แม้นิยามของผู้มีบารมีจะคือ อดีตประธานองคมนตรีผู้ล่วงลับไปแล้ว

แต่ทว่าการเมืองไทยในช่วง 15 ปียังต้องวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง เป็นการล้มอำนาจ นายกรัฐมนตรีตระกูล 'ชินวัตร' ที่มาจากการเลือกตั้งของมติมหาชน

15 ปีผ่านไปแล้วรัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ก็ถอยหลังยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ได้กติกาที่สร้างกลไกเอื้อต่อรัฐบาลผสมจำนวนมาก แถมได้ ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งขานชื่อเลือกอดีตผู้นำรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 แบบอยู่ยาว 

ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ จะถูกเฉลยว่าเป็นใครแล้วก็ตาม แต่อิทธิพลและบารมีนอกรัฐธรรมนูญในการเมืองไทย คงไม่น่าหมดลงไปง่ายๆ ถ้าตราบใดรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกแก้ไข และยังไม่มีประชาธิไตยที่แท้จริงตามครรลองสากล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง