ไม่พบผลการค้นหา
'เฮิรทซ์' บริษัทเช่ารถสหรัฐฯ ยื่นศาลล้มละลายขอปรับโครงสร้างองค์กร หลังเคลียร์กับเจ้าหนี้ไม่ได้ ตามติดอีกหลายบริษัทขนาดใหญ่ไปต่อไม่ไหว บางรายอาจต้องลาวงการ ข้อมูลล่าสุดชี้มี 14 บริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ เข้าสู่กระบวนการยื่นศาลล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ

'เฮิรทซ์' ผู้ให้เช่ารถรายใหญ่สัญชาติอเมริกันยื่นล้มละลายเมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังบริษัทต้องเผชิญกับภาระหนี้สะสมสูงถึง 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 600,000 ล้านบาท และรถยนต์อีกเกือบ 700,000 คัน ที่จอดทิ้งเอาไว้เฉยๆ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 

เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า บริษัทได้ยื่นล้มละลายภายใต้ '(Chapter 11) แห่งกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นลักษณะการยื่นล้มละลายที่องค์กรธุรกิจประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อและจะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ หรือกล่าวโดยสรุปว่ายื่นล้มละลายเพื่อให้มีการปรับโครงสร้างองค์กร (Reorganization) โดยเฮิรทซ์เข้ายื่นเรื่องต่อศาลเขตวิลมิงตัน รัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนหนึ่งของการยื่นล้มละลายครั้งนี้ มาจากความล้มเหลวในการเข้าเจรจาพูดคุยกับเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท 

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทความพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจมาโดยตลอด เหตุจากจำนวนคู่แข่งที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในวงการเช่ารถและบริการเรียกรถออนไลน์ ทำให้รายได้ปีล่าสุดของบริษัทลดลงกว่า 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท และยังเป็นการขาดทุนสุทธิติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีซ้อน 

ความพยายามเอาตัวรอดของเฮิรทซ์ทำให้บริษัทเปลี่ยนซีอีโอไปแล้วกว่า 4 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และล่าสุด 'เคธรีน มาริเนลโล' อดีตผู้บริหารสูงสุดของบริษัทก็เพิ่งถูกปลดออกเมื่อวันที่ 18 พ.ค.โดยมี 'พอล สโตน' อดีตรองผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารสูงสุดของฝั่งการค้าปลีกในภูมิภาคอเมริกาเหนือเข้ามารับช่วงต่อแทน 

ซ้ำร้าย เมื่อต้องอยู่ในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ผู้คนหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านและรัฐบาลหลายประเทศประกาศปิดพรมแดนห้ามเดินทาง บริษัทเช่ารถที่ประสบปัญหาอยู่แล้วยิ่งเจอศึกหนัก อีกทั้งเมื่อมองไปในอนาคต แนวโน้มการกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อนมีวิกฤตก็ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง 

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทตัดสินใจปลดคนงานกว่า 10,000 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนคนงานทั้งหมด ทั้งยังประกาศขายรถยนต์เชฟโรเลต คอร์เวทท์ รุ่น Z06s สีเหลืองอีกอย่างน้อย 20 คัน ในราคาที่ถูกมาก  

เฮิรตซ์ - AFP

เฮิรทซ์ยังมีอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือการเป็นหนี้หลังเข้าซื้อบริษัทมหาชนที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2548 

ทั้งนี้วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่าการยื่นล้มละลายของเฮิรตซ์มีความซับซ้อนกว่าหลายบริษัท เนื่องจากสถานะและโครงสร้างหนี้ ที่หนึ่งในนั้นคือ หุ้นกู้ที่มีรถยนต์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าราว 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 459,000 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในการคุ้มครองของบทบัญญติที่ 11 (Chapter 11) ในกฎหมายล้มละลาย เนื่องจากเฮิรทซ์เองไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์กว่า 700,000 คันที่บริษัทใช้งาน แต่เป็นการเช่าซื้อจากบริษัทรายย่อยๆ แทน 

นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เฮิรทซ์อาจถูกบีบให้ต้องขายรถยนต์บางส่วนหรือทั้งหมดที่บริษัทครอบครองอยู่ในเวลาที่ตลาดรถยนต์ไม่ได้แย่ขนาดนี้ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าเมื่อถึงเวลาที่อุปสงค์ตลาดรถยนต์มือสองกลับขึ้นมา บริษัทก็น่าขายรถเพื่อให้มีสภาพคล่องจากตรงนี้ได้ 


โควิด-19 และการล้มละลาย

ในวิกฤตครั้งนี้ เฮิรทซ์ไม่ใช่บริษัทรายใหญ่รายเดียวที่ยื่นล้มละลายต่อศาล ตามข้อมูลจากเว็บไซต์คิปลิงเกอร์ ณ วันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา มีอีก 14 บริษัทในสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจเข้าฟ้องล้มละลายเช่นเดียวกัน ได้แก่

  • Apex Parks Group เจ้าของ 2 สวนน้ำและ 10 ศูนย์ความบันเทิงสำหรับครอบครัวในสหรัฐฯ
  • Art Van Furniture บริษัทเฟอร์นิเจอร์และเครื่องนอนสัญชาติอเมริกัน ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2502
  • Cinemex Holdings บริษัทเจ้าของโรงหนังอิสระ 41 แห่งในสหรัฐฯ 
  • Diamond Offshore Drilling บริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ได้รับทั้งผลกระทบจากสงครามน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียและอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงจากโควิด-19
  • FoodFirst Global Restaurants บริษัทเจ้าของเครือร้านอาหารอิตาเลียนกว่า 92 แห่งในสหรัฐฯ 
  • Gold's Gym ฟิตเนสที่มีสาขากว่า 700 แห่งทั่วสหรัฐฯ 
  • Intelsat บริษัทสัญญาณดาวเทียมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จากปัญหาหนี้สินเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว
  • J.C. Penney เครือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่มีกว่า 850 สาขาทั่วประเทศ 
  • J. Crew แบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติอเมริกัน 
  • Neiman Marcus เครือร้านค้าปลีกเจาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2450 
  • Pier 1 Imports เครือห้างสรรพสินค้าที่ประสบปัญหาอย่างหนักกับการต่อสู้กับแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่ก่อนมีโควิด-19 แล้ว และอาจเป็นธุรกิจที่แม้ยื่นล้มละลายก็ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้
  • Stage Stores เครือร้านขายสินค้าราคาถูกและสินค้าลดราคาที่มีสาขากว่า 700 แห่งทั่วสหรัฐฯ 
  • True Religion แบรนด์ผู้ผลิตยีนส์คุณภาพสูงจากสหรัฐฯ ที่ต้องขอยื่นล้มละลายเป็นครั้งที่สอง 
  • Whiting Petroleum อีกหนึ่งบริษัทผู้ขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ กับปัญหาหลักๆ ด้านอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกที่ลดลงจากโควิด-19

อ้างอิง; WSJ, BI, Kiplinger

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :