ไม่พบผลการค้นหา
รองโฆษกพรรคเพื่อไทยร้องรัฐบาลทบทวนการเข้าร่วม CPTPP ชี้อาจไม่เหมาะกับคนไทย ประเทศจะได้ไม่คุ้มเสีย

น.ส.ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่าประเด็นเรื่องความตกลง CPTPP ยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกระแสต่อต้านในโลกออนไลน์และจากกลุ่มเกษตรกรและยา แฮชแท็ก #NoCPTPP และ #คัดค้านCPTPP พุ่งขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของทวิตเตอร์ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ทางรัฐบาลได้กล่าวถึงเพียงข้อดีในการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศและโอกาสในการเปิดตลาดใหม่เท่านั้น ซึ่งหากลงลึกในรายละเอียดต่างๆ จะพบว่า การเข้าร่วม CPTPP สามารถสร้างเม็ดเงินและเพิ่มการขยายตัวของ GDP ได้ค่อนข้างต่ำ กล่าวคือ อาจเพิ่มขึ้นมาเพียงร้อยละ 0.12 หรือคิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท เท่านั้น เนื่องจากตลาดใหม่ของการเข้าร่วมเหลือเพียงแค่ประเทศแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งหากเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่จะได้รับกับการเสียผลประโยชน์ของประเทศไทยนั้นถือว่ายังได้ไม่คุ้มเสีย

ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตโควิด-19 ที่ทั้งโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นั้น เช่น ความมั่นคงทางอาหารและยา หรือระบบประกันสุขภาพถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ แต่การเข้าร่วม CPTPP กลับทำให้ประชาชนเกิดความกังวลใจมากยิ่งขึ้น เพราะราคายาอาจแพงขึ้นหลายเท่าตัว เนื่องจากยาชื่อสามัญไม่สามารถเข้าร่วมในตลาดได้ เพราะการผูกขาดของยาต้นแบบ

ในกรณีนี้ โรงพยาบาลจะไม่สามารถจัดยาที่ใช้รักษาให้กับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพของรัฐ อาทิ ประชาชนผู้ถือบัตรทองได้ เพราะว่ายาที่มีสิทธิบัตรหรือยาต้นแบบนั้นมีราคาแพง ซึ่งหากให้รัฐช่วยอุดหนุนราคาก็คงต้องขาดทุนอย่างมหาศาล เพราะค่าใช้จ่ายด้านยาของรัฐก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี อยู่แล้ว หรือถ้าหากผลักภาระให้ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายเองก็จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีรายได้ต่ำไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ และแน่นอนว่าผลประโยชน์ของการผูกขาดยาที่มีสิทธิบัตรนั้นจะตกอยู่กับกลุ่มบริษัทต่างชาติที่จะได้ประโยชน์มากกว่าของไทยอยู่แล้ว เพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีข้อจำกัดและขีดความสามารถในการพัฒนาหรือจดสิทธิบัตรใหม่ที่ไม่รวดเร็วเท่าต่างชาติ 

ประเด็นที่น่ากังวลอีกประเด็นหนึ่งก็คือการเกษตร ซึ่ง CPTPP ทำให้เกษตรกรวิตกกังวลมากว่าจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไปได้ เนื่องจากความตกลงนี้พ่วงมากับการเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 ที่เข้มงวดเรื่องสิทธิบัตร เป็นการเพิ่มอำนาจการผูกขาดให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์และลดทอนสิทธิของเกษตรกรรายย่อยและรวมถึงนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย

กรณีนี้จะทำให้เกิดความหลากหลายทางด้านสายพันธุ์น้อยลง ปกติเกษตรกรและนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยจะเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้ขยายพันธุ์ต่อไปในแต่ละฤดูกาล โดยการกลายพันธุ์เป็นเมล็ดที่แข็งแรงและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP เกษตรกรรายย่อยผู้เก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่ออาจจะกลายเป็นอาชญากร หรือถ้าหากยอมทำตามกฎของ CPTPP ต้นทุนในการผลิตอาจเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า 

ประเด็นข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างผลกระทบเพียง 2 ประเด็นเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนอย่างมาก ในขณะที่รัฐบาลมองผลประโยชน์ในระดับมหภาค ยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบระดับจุลภาคหลายกลุ่ม และหากรัฐไม่สามารถแก้ไขข้อกังวลเหล่านี้ได้ ก็ควรยุติความจำนงในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP

ภาพจาก Photo by Christophe Maertens on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :