ไม่พบผลการค้นหา
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เคยให้สัญญาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะเป็น ‘ผู้นำเฟมินิสต์’ ถูกวิจารณ์หนัก หลังส่งพวงหรีดไปแสดงความเสียใจในงานศพแม่ของอดีตนักการเมืองที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ

ประธานาธิบดี ‘มุนแจอิน’ และนักการเมืองอาวุโสอีกนับสิบคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชายและมาจากพรรคการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย ได้ส่งพวงหรีดแสดงความเสียใจไปยังพิธีศพแม่ของ ‘อันฮีจอง’ อดีตนักการเมืองดาวรุ่งที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ โดยนายอันเป็นอดีตผู้ว่าการจังหวัดชุงชองใต้ และเคยลงแข่งชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคประชาธิปไตยลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2560 แต่มีคะแนนเป็นอันดับ 2 รองจากประธานาธิบดีมุนแจอิน

โดยเมื่อปีที่ผ่านมา นายอันถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้อำนาจในทางมิชอบ หลังผู้ช่วยหญิงของเขากล่าวหาว่าถูกนายอันข่มขืนซ้ำหลายครั้ง โดยนายอันอยู่ระหว่างรับโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน 

ความเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีมุนแจอินทำให้เกิดเสียงวิจารณ์รุนแรงจากกลุ่มสิทธิสตรีและนักการเมืองสายก้าวหน้าที่ชี้ว่า นี่เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดแบบดั้งเดิมของผู้มีอำนาจในการเมืองและเป็นการส่งสัญญาณว่าอาชญากรรมทางเพศเป็นเรื่องที่สามารถถูกมองข้ามได้

โฆษกพรรคยุติธรรมซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านระบุว่า เหยื่อล่วงละเมิดทางเพศของนายอันยังคงต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิตที่ยังเผชิญกับการวิจารณ์ไม่หยุดจากผู้สนับสนุนของนายอัน นี่เป็นเรื่องชัดเจนอย่างมากว่าสารและการกระทำของนักการเมืองไม่ใช่การแสดงออกส่วนตัว หากแต่มีลักษณะเป็นสาธารณะ จึงช่วยไม่ได้ที่จะต้องตั้งคำถามว่าการกระทำของนักการเมืองเหล่านี้สื่อถึงอะไร

อย่างไรก็ตาม ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระบุว่าได้ส่งดอกไม้ไปแสดงความเสียใจในงานศพหลังทบทวนสถานการณ์อย่างรอบด้านแล้ว 

ทั้งนี้ นายอันฮีจองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำเพื่อร่วมงานศพมารดาซึ่งมีนักการเมืองระดับสูงจำนวนมากที่เดินทางมาร่วมงาน โดยในจำนวนนี้รวมถึงนายกรัฐมนตรี 'ชุงเซกยุน' ของเกาหลีใต้ อดีตนายกรัฐมนตรี 'ลีนักยอน' และ 'ลีเฮชาน' หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล 

ข้อถกเถียงเกี่ยวกับงานศพครั้งนี้แสดงให้เห็นทัศนคติทางเพศที่แตกต่างในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างมากในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีช่องว่างของค่าจ้างระหว่างชายและหญิงสูงที่สุดในกลุ่มประเทศโออีซีดี ส่วนในสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ที่เพิ่งรับการเลือกตั้งไปนั้นก็มีสัดส่วนผู้แทนหญิงอยู่เพียงร้อยละ 19  

ขณะที่รายงานระบุว่า เหยื่อคุกคามทางเพศมักเผชิญแรงกดดันให้ปิดปากเงียบ ไม่เปิดเผยสิ่งที่ประสบมา แต่สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ปรากฏขึ้นหลังเกิดความเคลื่อนไหว #MeToo ในเกาหลีใต้ที่จุดติดเมื่อปี 2561 โดยพนักงานอัยการคนหนึ่งที่ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะว่าถูกผู้บังคับบัญชาลวนลามที่งานศพงานหนึ่ง จนทำให้มีอีกหลายคนออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง  

อ้างอิง The Straits Times / The Korea Times