เพราะมีกระแสข่าวว่าอาจไปเป็น ‘ประธานพรรค’ ด้วย ซึ่งเป็น ‘ตำแหน่งลอย’ ที่ไม่ผูกกับ ‘กรรมการบริหารพรรค’ เพื่อนำทัพหาเสียงด้วยตัวเอง
ทั้งนี้มีการมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจยังไม่ต้อง ‘รีบเร่ง’ มากนัก ในการ ‘เปิดหน้า’ ไปอยู่กับ รทสช. เพราะยังมีเวลาอีกพอควร อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เคยเปรยทีเล่นทีจริงในวงข้าว ครม. กับ ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงโอกาสอยู่ถึง มี.ค. 2566 หลังทั้ง ‘อนุทิน-จุรินทร์’ คุยเรื่องการเมืองและมองว่านายกฯจะอยู่ครบเทอม จึงต้องจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะ ‘ยุบสภา’ ก่อนครบวาระไม่นาน ด้วยเหตุผลทาง ‘ข้อกฎหมาย’ ให้ ส.ส. ได้ย้ายพรรคหรือไม่ หรืออีกทางคืออยู่ ‘ครบวาระ’ เพราะจะมีผลต่อ ‘ช่วงเวลา’ ในการสังกัดพรรคเพื่อลงเลือกตั้ง
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้โมเดลเดิมหรือไม่ ให้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ไปเทียบเชิญมาเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ที่ ทำเนียบฯ เฉกเช่นยุค ‘สี่กุมาร’ ไปเชิญมาเป็น ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ของ พปชร. เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเวทีหาเสียง พปชร. เพียง 1 ครั้ง ใน กทม. ที่ สนามกีฬาเทพหัสดิน เป็นเวทีใหญ่ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งในขณะนั้น ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ ไม่เปิดหน้ามากนัก เพราะเกรง พปชร. จะติดภาพ ‘พรรคทหาร-สืบทอดอำนาจ’ เมื่อผ่านมา 4 ปี บริบทการเมืองเปลี่ยนไป ทั้ง ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ เปิดหน้าชัดเจน
ในช่วงเวลานี้ ‘2ป.’ ไล่เช็คแถว ส.ส. พร้อม ‘ส่งสัญญาณ’ ในการ ‘ย้ายค่าย’ สำหรับ รทสช. ก็ใช้วิธี ‘ดูด ส.ส.-ผู้สมัคร ส.ส.’ มาจาก 2 สายหลักๆ นั่นคือ พปชร. กับ ปชป. นั่นเอง
แต่ต้องจับตาว่าจะเป็น ‘ยุทธวิธี’ ของ ‘2ป.’ หรือไม่ ที่อาจจัดวางผู้สมัคร ส.ส. ‘หลบกัน’ ไม่ลงชนกันเอง เฉกเช่นยุค ‘เพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ’ เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 ตามยุทธวิธีแตกแบงค์ ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็นิ่งปฏิเสธตอบปม 2 พรรค จะแบ่งเขตกันหรือไม่ ทำให้มีการมองว่า ‘สูตรหาร 500’ ในการคำนวณ ส.ส. จะกลับมาหรือไม่
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร มีความชัดเจนคือพี่น้อง 2ป. กำลังเดินตามยุทธวิธี ‘แยกกันเดิน รวมกันตี’ หลัง พล.อ.ประวิตร พูดเป็นนัยหาก พล.อ.ประยุทธ์ จะไป รทสช. แล้วดูด ส.ส.พลังประชารัฐ ได้ด้วย ว่า “อ๋อ เขาก็ไป ก็พรรคเดียวกันนั่นแหละครับ ไม่มีอะไรหรอกครับ”
ก่อนที่ พล.อ.ประวิตร จะต้องรีบแก้ตัวเป็นพัลวัน ว่า “พล.อ.ประยุทธ์กับผมก็เป็นพี่เป็นน้องกัน ไม่มีอะไร ท่านอยากไปอยู่นู่นก็ไป ผมไม่ว่าอะไร ผมไม่มีปัญหาอะไร
“ผมไม่มีความขัดแย้งกันเลย อยู่กันมา 40-50 ปีแล้ว จะมาขัดแย้งได้อย่างไร” พล.อ.ประวิตร กล่าว
“ก็รู้จักกัน เขาก็เรียกพรรคเดียวกันสิ” พล.อ.ประวิตร กล่าว
เรียกว่างานนี้ขั้วอำนาจ ‘3ป.’ ยังคิด ‘ต่อท่ออำนาจ’ ต่อไป อีกปราการสำคัญคือ 250 ส.ว. ที่ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้ง แต่ 250 ส.ว. จะพ้นวาระ พ.ค. 2567 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปี ในปี2558 ทว่าในวงการเมืองมีการพูดกันว่า เมื่อถึงปี 2568 จะมีเหตุการณ์ ‘อภินิหาร’ ใดเกิดขึ้นอีกหรือไม่
ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีการ ‘ตีปี๊บ’ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งฉบับ จึงมีการมองว่าจะมีการ ‘ยัดไส้’ อะไรลงไปหรือไม่ หลัง สภาผู้แทนราษฎรมีมติขอให้สภาฯ เสนอต่อ ครม. ดำเนินการตามที่สภาฯ มีมติในการออกเสียงประชามติ เกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งฝั่ง ส.ว. ก็ไม่ได้ค้าน แต่ยังคง ‘ยื้อเวลา’ ให้มีการศึกษารายละเอียดให้ดี โดยตั้ง กมธ. ขึ้นมาศึกษาก่อน
แต่โฟกัสไปอยู่ที่ ‘เสรี สุวรรณภานนท์’ ส.ว. ที่อภิปรายปม ‘วาระนายกฯ 8 ปี’ ว่าไม่ควรจำกัดวาระ
“ประเด็นการบัญญัติว่านายกรัฐมนตรีต้องมีวาระ 8 ปี ทำให้เกิดวิกฤติความเป็นผู้นำประเทศ ผมไม่ได้พูดถึงตัวนายกฯ ปัจจุบัน แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ หากบ้านเมืองไปเจอคนดี มีความรู้ ความสามารถสร้างความเจริญให้ประเทศได้ เขาจะถูกจำกัดด้วยระยะเวลา 8 ปี ถ้ามีคนดี 8 ปี ก็ไม่จำเป็น” เสรี กล่าว
ดังนั้นจึงสยบกระแส ‘รัฐประหาร’ เพื่อ ‘ฉีกรัฐธรรมนูญ’ ไปได้ แต่ถูกมองเป็น ‘ปฏิวัติเงียบ’ แทน
และยังถูกจับตาว่าจะเป็น ‘แผนต่อวีซ่า’ ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กับ ผบ.เหล่าทัพ ชุดปัจจุบัน จะมีท่าที ‘ห่างเหิน-ระยะห่าง’ กันอยู่บ้าง เพราะ ‘รุ่นเตรียมทหาร’ ห่างกัน 10 รุ่น พล.อ.ประยุทธ์ ตท.12 ส่วน ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้ ตท.22 ยกแผง โดยเฉพาะกับ ‘บิ๊กบี้’พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่เติบโตมาต่างสายกับ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ได้มี ‘เส้นบุญคุญ-สายสัมพันธ์’ ต่อกันมากนัก
พล.อ.ประยุทธ์ โตมาจาก ร.21 รอ. สายทหารเสือฯ พล.ร.2 รอ. บูรพาพยัคฆ์ ส่วน พล.อ.ณรงค์พันธ์ โตมาจาก ร.31 รอ. RDF ทหารหมวกแดง พล.1 รอ. แถมมีกระแสข่าว ช่วงก่อนโผทหารปลายปี (ก.ย.65) ออกมา อาจมีการ ‘ปลด ผบ.ทบ.’ โดยโยก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ก่อนเกษียณฯ 1 ปีแทน สุดท้ายเป็นเพียง ‘กระแสข่าว’ เท่านั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ ยังคงเป็น ผบ.ทบ. ต่อไป
ในเวลานี้ ทบ. เข้าสู่ยุค ‘ทหารคอแดง’ ที่เข้าคุม ‘ขุมกำลังปฏิวัติ’ ทั้งหมด เช่น พล.1 รอ. - พล.ร.2 รอ. - พล.ม.2 รอ. - กรมรบพิเศษที่ 3 รอ. รวมทั้งการจัดหน่วย ทบ. ใหม่ โยก ร.1 ทม.รอ. และ ร.11 ทม.รอ. ออกนอก ทบ. การจัดกำลังรบใน กทม. ใหม่ เคลื่อนยุทโธปกรณ์หนักออกนอก ทบ. ไปอยู่ตามหน่วยต่างจังหวัด ทำให้ ‘เงื่อนไข-วิธีการ’ การทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงไป
รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นใน ทบ. หลังโผโยกย้ายนายพล ทบ. ปลายปี 2565 ออกมา เรียกว่า ‘บูรพาพยัคฆ์’ เข้าสู่ ‘ยุคอัสดง’ ส่วนสาย ‘วงศ์เทวัญ’ แม้ได้ขึ้นมามีอำนาจ แต่ก็ไม่เท่า ‘แผงอำนาจ ตท.28’ ที่คุม ‘ขุมกำลังรบหลัก’ ของ ทบ. อีกไม่นานจะเข้าคุม ทบ. ทั้งหมด ช่วงปี 70 ซึ่งจะเป็นอีก ‘รอยต่อ-ช่วงเปลี่ยนผ่าน’ ระบอบ 3ป. ในหมากอำนาจการเมืองอีกครั้ง
ทุกอย่างเหมือนถูกวางแผน ไว้หมดแล้ว !!!