วันที่ 23 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในเรื่องนโยบายการดำเนินการชดเชยราคาน้ำมันให้กับประชาชน โดย ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ถามกระทู้ถามสดถึง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน โดยระบุว่า ประชาชนเดือนร้อนเรื่องพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันที่ราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเข้าใจดีว่าสถานการณ์ที่เป็นปัญหาดังกล่าวเกิดจากสงครามรัสเซียและยูเครน แต่เมื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารและเป็นบุคคลในรัฐบาล ก็ควรที่จะมีวิธีการในการลดภาระให้กับประชาชน ซึ่งปัญหาขณะนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้รถบนท้องถนน แต่ลุกลามไปจนถึงเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้รถไถนาเป็นหลัก จึงขอตั้งคำถามว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะพยุงราคาน้ำมันอย่างไร และตรึงไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้น เพราะสร้างความเดือดร้อนไปถึงเรื่องอื่น
สุพัฒนพงษ์ ได้ชี้แจ้งว่า สถานการณ์พลังงานในตลาดโลกแย่ลงกว่าเดิม เพราะความต้องการพลังงานสูงขึ้น แต่กำลังผลิตตามมาไม่ทัน โดยในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันมีการปิดตัวลงไป ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่มีระยะห่างจากน้ำมันดิบไม่มาก จึงกลายเป็นการขยับตัวสูงขึ้น และต้องยอมรับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันสูงถึง 90% รัฐบาลจึงต้องพยายามประคับประคองสินค้า หรือราคาน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพ และสินค้าประจำวันของประชาชน โดยอาศัยการขึ้นราคาทีละน้อย แต่พยายามรักษาสมดุลทางการเงินของการคลังประเทศอย่างเต็มที่ ซึ่งภาพรวมเวลานี้ สถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียน ราคาน้ำมันของประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังไม่สูงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในอาเซียน
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนโดยเร่งด่วน ทั้งมาตรการใหม่และขยายมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้ อาทิ ตรึงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี 45.59 บาทต่อกิโลกรัม และก๊าซในโครงการเพื่อแท็กซี่ลมหายใจเดียวกันสำหรับแท็กซี่ใน กทม.และปริมณฑล 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือนถึง 15 ก.ย.นี้ รวมทั้งกำหนดกรอบราคาขายปลีกแอลพีจี 408 บาทต่อถัง ( 15 กิโลกรัม ) เป็นระยะเวลา 3 เดือนถึง ก.ย. เป็นต้น
ชี้แจงปมเตาอั้งโล่ เพื่อประชนชนในชนบท
จากนั้น ครูมานิตย์ ตั้งคำถามต่อไปถึงการที่กระทรวงพลังงานรณรงค์ให้ประชาชนใช้เตาอั้งโล่มหาเศรษฐี เหตุใดไม่ใช้วิธีการทางทูต มาเจรจาซื้อน้ำมันจากรัฐที่ขายน้ำมันราคาถูก ไม่ใช่เป็นการให้คนไทยย้อนกลับไปใช้เตาอั่งโล่
สุพัฒนพงษ์ ตอบว่า สำหรับเรื่องเตาอั้งโล่ อาจเป็นการสื่อสาร ขยายผลในมุมของคนเมือง แต่กระทรวงพลังงานเห็นความสำคัญของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชนบท ซึ่งยังใช้เตาประเภทนี้อยู่ และยังไม่เข้าถึงแก๊สหุงต้ม ไม่ได้หมายความว่าจะนำเตาอั้งโล่มาใช้ทดแทนการหุงต้ม
สุพัฒนพงษ์ ยังย้ำว่า ทุกประเทศก็ประสบปัญหาเหมือนกัน แต่ทุกประเทศก็ทำเหมือนกันคือรณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง ขอฝาก ส.ส.ทุกท่านช่วยกันประสานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อช่วยกันประหยัดน้ำมันและไฟฟ้า วันนี้ตนยังเห็นว่าควรให้ปรับอุณหภูมิในรัฐสภาขึ้นสัก 1 องศา ก็จะประหยัดได้ถึง 10% ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ 4 บาท
ในช่วงหนึ่งของการตอบกระทู้ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ประท้วงประธานสภาฯ ว่า ไม่ได้ควบคุมเวลาการชี้แจงของรัฐมนตรีที่เกินมา 3 นาทีแล้ว จึงขอเสนอให้ทดเวลาการถามของฝ่ายค้าน คูณตามเวลาที่รัฐมนตรีชี้แจงเกินไป
ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาขณะนั้น กล่าวว่า จะเสียเวลาเพราะท่านประท้วง พร้อมชี้แจงว่ากระทู้หนึ่งมีเวลา 30 นาที ที่ให้ตอบเกินไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน แต่ยังอยู่ในเวลา 30 นาที ด้าน ครูมานิตย์ นั้นได้ถามครบ 3 คำถามแล้ว จะถามเพิ่มไม่ได้
'อัครเดช' ซัก 'รมว.พลังงาน' ปมให้ ปตท. ชดเชยราคาน้ำมัน
จากนั้น อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องนโยบายในการชดเชยราคาน้ำมันให้กับประชาชนในช่วงวิกฤตราคาพลังงานสูงขึ้น
โดย อัครเดช ระบุว่า เมื่อเดือน พ.ย. 2564 เคยตั้งกระทู้ถามสดกับรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไปแล้ว เรื่องของการชดเชยราคาน้ำมันโดยนำกำไรของ ปตท. รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลและประชาชน มาช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนในช่วงที่ราคาน้ำมัน หรือเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นว่า เป็นไปได้หรือไม่
ซึ่งข้อถามนี้ สุพัฒนพงษ์ เคยได้ชี้แจงตนว่า ไม่สามารถทำได้เพราะขัดต่อกฎหมาย ตนได้หาข้อมูลว่าเรื่องการช่วยเหลือนี้ผิดกฎหมายจริงหรือไม่ โดยการไปหารือกับอนุธรรมธิการ ว่าการที่จะนำเงินจากรัฐวิสาหกิจมาช่วยเหลือประชาชนทำได้หรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมได้สรุป 2 ข้อว่า การเอาเงินของ ปตท. ที่มีกำไรมหาศาลมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพียงบางส่วนทำได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย ประกอบด้วย 2 ทาง คือ
1.) ทำเป็น CSR โดยทาง ปตท. สามารถลดราคาน้ำมันได้ แต่ต้องคำนึงถึงต้นทุน และ 2.) นำรายได้ส่งให้แก่รัฐเพิ่มมากขึ้น จึงขอถามว่ากระทรวงพลังงานมีนโยบายการดำเนินการนำกำไรของ ปตท. มาชดเชยราคาน้ำมันให้กับประชาชนได้โดยถูกกฎหมายหรือไม่อย่างไร และสาเหตุที่ไม่มีนโยบายดังกล่าวเพราะอะไร
สุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า จากที่เคยตอบไปว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมาย ตนใช้คำว่าหากนำกำไรทั้งหมดของ ปตท. ไปชดเชยน้ำมันให้แก่ประชาชนตนเชื่อว่าทำไม่ได้ แต่สำหรับข้อเสนอที่เสนอมา 2 ทางดังกล่าว ตนไม่ได้ขัดข้องอะไรโดยเรื่องการนำ CSR ไปช่วยเหลือประชาชนเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือไปทาง ปตท. มาโดยตลอด
ส่วนเรื่องเอาเงินปันผลส่งให้รัฐเพิ่มขึ้นเพื่อไปช่วยพยุงราคาเชื้อเพลิง ตนก็คิดว่าน่าจะทำได้ไม่ขัดอะไร เพราะเงินปันผลก็คือเงินในส่วนที่รัฐบาลจะได้รับตามสัดส่วนของตัวเองอยู่แล้ว แต่อย่างไรแล้วต้องผ่านความคิดเห็นของผู้ถือหุ้นทั้งหมดก่อน
อัครเดช กล่าวต่อว่า ประเด็นที่บอกว่าตนจะเอากำไรทั้งหมดของ ปตท. มาเยียวยาพี่น้องประชาชน เป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อน เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่แค่ต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ถือหุ้นและประชาชน ไม่ได้ต้องการเอากำไรทั้งหมด ส่วนเรื่องของการลดราคาน้ำมันก็ไม่ได้ให้ลดจนขาดทุน เพียงคาดหวังว่าการลดราคาของ ปตท. จะสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชน และถามต่อว่ากรณีที่ ปตท. มีการค้ากำไรกับประชาชนที่ทางรัฐมนตรีบอกจะไปทำ จะดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่
สุพัฒนพงษ์ ตอบว่า ข้อเสนอที่อนุกรรมธิการได้เสนอมาทั้ง 2 เรื่องนั้นเป็นข้อเสนอแนะที่ดี และมีประโยชน์ ส่วนเรื่องที่จะขอความร่วมมือกับ ปตท. ยังคงต้องใช้เวลา และในเรื่องของค่าการกลั่นทั้งหลายคิดว่าสามารถร่วมมือกันได้