ไม่พบผลการค้นหา
'จิราพร' ยันทีวีซอฟต์พาวเวอร์ ใช้ช่องทีวีของรัฐฯ ที่มีอยู่ หวังสะท้อนนโยบายของรัฐบาล แย้มฟรีทีวี-ภาคเอกชนสนใจร่วมด้วย

วันที่ 9 พ.ค. จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการทำโทรทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์ว่า เรื่องนี้จะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรองรับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ และเมื่อเราต้องการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องมีที่ที่ต้องปล่อยของ ซึ่งต้องสื่อสารกับประชาชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยสถานีโทรทัศน์ที่เล็งไว้ก็คือ สถานีโทรทัศน์ที่รัฐบาลกำกับดูแล เช่น ช่อง NBT ซึ่งต้องมีการหารือกันในรายละเอียดในเรื่องนี้อีกครั้ง และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ที่มีอยู่ 11 คณะว่า คณะไหน สาขาไหน ที่มีศักยภาพ ที่ต้องดึงขึ้นมาก่อนหรือไม่ อย่างไร

จิราพร ยืนยันว่าเป็นการปรับผัง ไม่ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่ เพื่อเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน และเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล

ส่วนที่ จิราพร ได้รับหน้าที่กำกับดูแล บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนอย่างไรนั้น จิราพร ระบุว่า ขณะนี้กำลังเชิญหน่วยงานเข้ามาหารือ ซึ่งอยากให้เป็นสื่อฯ สะท้อนนโยบายของรัฐบาล และขณะเดียวกันอยากให้สื่อสารนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นสื่อที่สะท้อนเสียงของประชาชน 

ส่วนจะปรับเปลี่ยน 2 สถานีโทรทัศน์ดังกล่าวให้มีความเป็นคนรุ่นใหม่หรือไม่นั้น จิราพร กล่าวว่า ต้องคุยรายละเอียดค่อนข้างเยอะ มองว่าหากช่อง NBT สามารถปรับเปลี่ยนรองรับซอฟต์พาวเวอร์ได้ ก็จะมีความทันสมัยมากขึ้น 

นอกจากนี้เรื่องดังกล่าวเท่าที่พูดคุยกับคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ก็มีสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีที่ให้ความสนใจ ที่อยากจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งรัฐบาลก็ยินดีที่จะให้คอนเทนท์ เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล และก็มีหลายภาคส่วนเช่น ภาคเอกชนที่อยากร่วมมือด้วย

ส่วนจะมีการจ้างงานใหม่หรือไม่นั้น จิราพร กล่าวว่า การให้ภาพใหญ่ในทิศทางการทำงาน ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างก็มีระเบียบอยู่ ที่หน่วยงานต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในขณะที่เรื่องงบประมาณในการดำเนินการโครงการนี้ กำลังหารือรายละเอียดอยู่ แต่อย่างไรก็ตามต้องดูงบประมาณเก่าว่า ส่วนที่ได้รับมาได้ใช้จ่ายไปในส่วนใดบ้าง หรือจะต้องหาความร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มเติมหรือไม่ ก็ต้องดูก่อน