ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดรถไฟชุดใหม่ เห็นชอบร่างสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยให้ผู้ว่าฯ รถไฟ ลงนามในสัญญา 25 ต.ค.นี้ ยันกลุ่มซีพีรับแผนการส่งมอบพื้นที่ตามที่ กพอ. อนุมัติ ชี้ ไม่มีโอกาสที่กลุ่มซีพีจะบอกเลิกสัญญาได้ แม้กฎหมายเปิดช่องให้ ยันรัฐจะจ่ายเงินค่าอุดหนุนตาม RFP กำหนดแน่นอน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชุดใหม่วันนี้ (16ต.ค.62) หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแต่งตั้งล่าสุด ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบร่างสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) รวมถึง ครม. และบอร์ดชุดใหม่ได้เห็นชอบให้นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามในสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร หรือ กลุ่มซีพี ในวันที่ 25 ต.ค.นี้

รฟท ประชุมบอรด์ใหม่
  • นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า แผนการส่งมอบพื้นที่จะเป็นไปตามที่ กพอ. อนุมัติล่าสุดวันนี้ คือ แบ่งเป็น 3 ช่วง คาดว่าในเดือน พ.ย.นี้จะมีความชัดเจนและสามารถเริ่มเข้าพื้นที่ได้ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะไม่มีปัญหากับกลุ่มซีพีแล้วเท่าที่เจรจากันมา โดยจากหลังลงนามในสัญญา การรถไฟฯ จะออกหนังสือให้เริ่มงานก่อสร้าง (NTP) ภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี แต่สามารถขยายเวลาได้ถึง 2 ปี ซึ่งยืนยันว่าจะไม่เกิดการยกเลิกสัญญาในโครงการนี้อย่างแน่นอน

รฟท ประชุมบอรด์ใหม่
  • นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

“หากส่งมอบพื้นที่ได้ไม่ทัน ในกรณีที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น มีการประท้วง สามารถต่อเวลาให้กับเอกชนได้เท่าที่เสียไปจริง ซึ่งในทางกฎหมายแม้จะเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถยกเลิกสัญญาได้ แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากจะเกิดขึ้นได้ คือ กรณีที่ภาครัฐไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย” นายวรวุฒิ กล่าว

ส่วนประเด็นการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับกลุ่มซีพีที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าทางการรถไฟฯ จะไม่ยึดแนวทางตามสัญญา เรื่องนี้นายวรวุฒิ ยืนยันว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตาม Request for Proposal (RFP) ที่เป็นสัญญาผู้จ้างกับผู้รับจ้างมีการระบุเอาไว้ ซึ่งจะมีการจ่ายเงินอุดหนุนเกิดขึ้นก็คือตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไปต่อเนื่อง 10 ปีในสัดส่วนเท่าๆ กัน โดยนับจากวันที่ออก NTP ให้กับเอกชนไปแล้วเท่านั้น