มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในเมืองเป่าโถ เขตปกครองตนเองมองโกเลียในเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2563 ก่อนจะได้รับการยืนยันเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวเป็นผู้ป่วยกาฬโรคต่อมน้ำเหลือง โดยคณะกรรมการสาธารณสุขของเขตเทศบาลเป่าโถระบุว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตจากระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว แต่ไม่ได้ระบุว่าติดกาฬโรคได้อย่างไร
ทางการจีนได้สั่งปิดหมู่บ้านที่ผู้ป่วยคนดังกล่าวอาศัยอยู่ พร้อมสั่งทำความสะอาดฆ่าเชื้อบ้านเรือนทุกวันเพื่อป้องกันการระบาด โดยจากการตรวจหาเชื้อคนในหมู่บ้านทั้งหมดจนถึงตอนนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ขณะที่ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตรวม 9 คน และผู้สัมผัสเชื้อชั้นที่ 2 อีก 26 คน ได้ถูกกักตัวและตรวจไม่พบเชื้อ โดยทางการยังได้สั่งเตือนภัยระดับ 3 ป้องกันกาฬโรคในเขตที่หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่และมีผลจนถึงสิ้นปี ซึ่งการเตือนภัยระดับ 3 ถือว่ามีความรุนแรงต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ในระบบเตือนภัย 4 ระดับ
นี่นับเป็นผู้ติดเชื้อกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองรายที่ 2 ที่ได้รับการยืนยันในจีนปีนี้ และเป็นผู้เสียชีวิตรายแรก โดยก่อนหน้านี้ พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ในเมืองบายันนูณ์ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียในเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งก็นำไปสู่การประกาศเตือนภัยระดับ 3 และสั่งปิดจุดท่องเที่ยวหลายแห่ง
กาฬโรคเกิดจากแบคทีเรีย แพร่เชื้อผ่านการกัดของเห็บและสัตว์ที่ติดเชื้อ เคยคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 50 ล้านคน ในยุโรปช่วงการระบาดใหญ่ ‘กาฬมรณะ’ หรือ ‘ความตายสีดำ’ ในยุคกลาง โดยกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองเป็น 1 ใน 3 รูปแบบของกาฬโรค ซึ่งโรคนี้จะทำให้เกิดอาการอักเสบ ต่อมน้ำเหลืองบวม มีไข้ หนาวสั่นและไอ แม้ยาปฏิชีวนะซึ่งสามารถรักษาการติดเชื้อส่วนใหญ่ได้หากพบโรคเร็วได้ช่วยควบคุมการระบาดของกาฬโรคไม่ให้รุนแรงเหมือนในยุโรปช่วงยุคกลาง แต่ยาปฏิชีวนะก็ไม่ได้ขจัดกาฬโรคให้หายไปทั้งหมดและปรากฏกรณีการติดเชื้อไม่นานมานี้จนทำให้องค์การอนามัยโลกต้องจัดประเภทกาฬโรคเป็นโรคอุบัติซ้ำ
อ้างอิง CNN / Global Times