ไม่พบผลการค้นหา
ภาครัฐและภาคเอกชนไทยลงทุนในต่างแดนเพิ่มขึ้น ช่วยให้คืบหน้าด้านเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดผลกระทบในชุมชนต่างประเทศ น่ากังวลว่าจะเป็นการละเมิดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ก่อตั้งครบ 50 ปีในปีนี้ ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 10 ประเทศสมาชิกเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมประมาณ 18 ปีหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนมากขึ้นกว่าเดิม

หน่วยงานรัฐและเอกชนของไทยเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ไปลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน และ 'คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดนของไทย' ระบุว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไทยเข้าไปลงทุนในโครงการต่างๆ มากที่สุด แต่ระบบตรวจสอบมาตรฐานการลงทุนของสิงคโปร์นั้นถือได้ว่ามีประสิทธิภาพ ทำให้การดำเนินธุรกิจของกลุ่มทุนไทยในสิงคโปร์ไม่ค่อยตกเป็นเป้าโจมตีจากองค์กรพัฒนาเอกชนในภูมิภาคมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มทุนไทย รวมถึงบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจไทย ขยายการลงทุนเพิ่มเติมใน 3 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งอยู่ในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา แต่เนื่องจากว่าระบบการเมืองใน 3 ประเทศมีข้อจำกัด แตกต่างจากสิงคโปร์ ทำให้การลงทุนของไทยในประเทศดังกล่าวถูกจับตามองจากองค์กรเฝ้าระวังด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาล และมีการเรียกร้องให้กลุ่มทุนไทยที่ไปลงทุนข้ามชาติเคารพในหลักธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาลอย่างเคร่งครัด

Philippines ASEAN_Rata.jpg

'จับตา 5 โครงการใหญ่ในต่างแดน'

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานของคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน เผยว่าโครงการลงทุนของไทยในต่างแดนที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการเหมืองแร่เฮงดา (เมียนมา) โครงการเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนปากแบ่ง (สปป.ลาว ) รวมถึงโครงการปลูกอ้อยและจัดตั้งโรงงานน้ำตาลโอโดเมียนเจยร์ (กัมพูชา) โดยทั้งหมดเป็นโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศและประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ความเคลื่อนไหวต่อต้านครั้งล่าสุดที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณี 'เขื่อนปากแบ่ง' ที่ตามกำหนดเดิมจะถูกสร้างขึ้นในแม่น้ำโขงทางภาคเหนือของลาว และเป็นโครงการร่วมทุนของบริษัท 'ต้าถัง' ของจีน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ตามด้วยบริษัทผลิตไฟฟ้า หรือ 'เอ็กโก กรุ๊ป' บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าประเทศลาว เป็นโครงการที่เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา 

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดฯ ให้เหตุผลว่าโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทยด้วย เพราะเป็นผู้ที่อยู่ท้ายเขื่อน และศาลปกครองสูงสุดของไทยรับคดีดังกล่าวเอาไว้พิจารณา ส่วนที่ผู้ถูกฟ้อง คือ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (MRC)

นายมนตรีระบุว่าภาครัฐและภาคเอกชนของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและบรรษัทภิบาล ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี โดยหลักธรรมาภิบาลถูกกำหนดไว้พระราชกฤษฎีกาของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 และมีการระบุเอาไว้ในมาตรา 8 ว่า "ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" การจะดำเนินกิจการใดๆ จึงต้องคำนึงถึงประชาชนและกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบจากแต่ละโครงการด้วย ส่วนหลักบรรษัทภิบาล หรือ Corporate Governance (CG) เป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เอกชนควรปฏิบัติตามเช่นกัน แต่เป็นคนละเรื่องกับ 'บรรษัทบริบาล' หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กรในปัจจุบัน

Cambodia Daily Life_Rata.jpg

ผลประโยชน์ทับซ้อน-ละเมิดหลักธรรมาภิบาล

หลักธรรมาภิบาลที่สำคัญ ได้แก่ หลักการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะรวมถึงความโปร่งใสตรวจสอบได้ การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน แต่นายมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีกรณีที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า โครงการลงทุนต่างแดนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทย เข้าข่ายเป็น 'ผลประโยชน์ทับซ้อน' หรือไม่ เพราะมีกรณีเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงซึ่งเคยเกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรือสัมปทานโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกษียณอายุ และมาเป็นที่ปรึกษาของบริษัทที่เป็นผู้รับผิดชอบกิจการการลงทุนต่างแดนในปัจจุบัน 

แม้บางโครงการในต่างแดนจะถูกระงับชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาทบทวนและศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม แต่การตรวจสอบภาครัฐหรือเอกชนผู้ดำเนินโครงการเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่พอ แต่ต้องตรวจสอบถึง 'สถาบันการเงิน' ที่ปล่อยกู้ในโครงการต่างๆ ด้วยว่ามีความเข้มงวดมากน้อยเพียงใด รวมถึงต้องตั้งคำถามกับ 'สถาบันวิจัย' หรือ 'คณะนักวิจัย' ซึ่งรับหน้าที่ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่ามีการชี้แจงให้ชาวบ้านหรือผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจนหรือไม่ เช่น มีการอธิบายกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวนค่าชดเชยหรือไม่ และการจัดทำรายงาน 'ควรบันทึกเป็นภาษาท้องถิ่น' เพราะที่ผ่านมา รายงานด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มักตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาจีนเท่านั้น 

ด้านศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าธรรมาภิบาลเป็นสิ่งจำเป็นในโลกยุคใหม่ และต้องมองให้ไกลกว่าธรรมาภิบาลในความหมายเชิงการเมืองการปกครอง แต่ต้องคำนึงถึงธรรมาภิบาลการลงทุนและธรรมาภิบาลข้ามแดน เนื่องจากการลงทุนหรือการดำเนินกิจการข้ามแดนอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่อื่นๆ แม้ไม่เกี่ยวกับประชาชนไทยโดยตรง แต่ก็ถือเป็นประชากรอาเซียนซึ่งอยู่ร่วมภูมิภาคเดียวกัน

ลาวเดินหน้าสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ท่ามกลางเสียงคัดค้าน

หลักการดี แต่ไม่มี 'สถานะบังคับ'

แม้จะมีการระบุหลักธรรมาภิบาลลงในพระราชกฤษฎีกา แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีสถานะบังคับให้รัฐหรือผู้ลงทุนภาคเอกชนจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบหรือปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาล จึงต้องผลักดันให้เกิดการกำหนดกรอบการแสดงความรับผิดชอบที่มีสถานะบังคับ ทั้งผู้ลงทุนและสถาบันการเงินที่ให้กู้ลงทุน รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน

ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุด้วยว่า กลุ่มทุนเอกชนไทยในปัจจุบัน นิยมจดทะเบียนบริษัทในต่างแดนหรือออฟชอร์ ทำให้พูดได้ยากว่ากิจการเหล่านี้เป็นของไทยหรือเป็นของประเทศใดกันแน่ และการสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายครั้งสื่อมวลชนหรือภาคประชาชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบก็ติดตามข้อมูลได้ไม่ครอบคลุม หากเกิดกรณีที่บรรษัทข้ามชาติละเมิดหลักบรรษัทภิบาล ก็ไม่มีกลไกใดๆ ให้ประชาชนได้ร้องเรียนหรือเอาผิด

ด้วยเหตุนี้ หากมีการเจรจาหรือการเสนอให้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในข้อตกลงเขตการค้าเสรีเกิดขึ้นในอนาคต เครือข่ายภาคประชาชนและรัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการกำหนดกลไกหรือสถานะบังคับที่บรรษัทข้ามชาติจะต้องแสดงความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อประชาชนด้วย

(ข้อมูลจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในโครงการประชุมปรึกษาหารือ "ปัญหาและแนวทางการพัฒนาธรรมาภิบาลข้ามพรมแดน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง" ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560)

รายงานโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ