ไม่พบผลการค้นหา
อย.เตรียมออกประกาศห้ามใช้ "ไขมันทรานส์" ในอาหาร คาดประกาศในราชกิจจาฯ เม.ย.61 ชี้บริโภคไขมันทรานส์เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้านนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เชื่อไม่กระทบ ขณะที่ผู้ผลิตขอเวลาปรับตัวก่อนประกาศใช้จริง

น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อย.อยู่ระหว่างจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. …. เรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร (ฉบับที่ 3) โดยให้เพิ่มข้อความ “ห้ามใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ไขมันทรานส์) ยกเว้นการใช้ในการผลิตอาหารเพื่อการส่งออก

ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบจากการออกกฎหมายผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะสรุปความคิดเห็นเสนอต่อคณะกรรมการฯ ในช่วงต้นปีหน้า(61) คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนเมษายน 2561 และจะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 1 ปี 

"เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะก่อนหน้านี้มีการเรียกผู้ผลิตกว่า 50 รายมาพูดคุย พบว่าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่เกือบ 90% มีความพร้อม และปรับสูตรรองรับ ขณะที่ 5-10% ระบุว่า จะรอประกาศออกมาก่อนจึงจะปรับตัว โดยจะสามารถปรับตัวได้ทันทีเมื่อมีการประกาศใช้"น.ส.ทิพย์วรรณกล่าว

"ไขมันทรานส์" เกิดจากกระบวนการแปรรูปโดยการเติมไฮโดรเจนลงไปในน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เพื่อให้สามารถเก็บรักษาน้ำมันไว้ได้นานโดยไม่เหม็นหืน ทนความร้อนสูงได้ แต่เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ระบุอย่างชัดเจนว่าไขมันทรานส์ ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงมีแนวทางใช้มาตรการบังคับใช้ทางกฎหมาย ห้ามใช้ไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในผลิตภัณฑ์อาหารทั้งผลิตและนำเข้า

เบเกอร์รี่

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดว่า ในอาหารต้องมีไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องนำไปปฏิบัติ ซึ่งสหรัฐอเมริกา เริ่มออกกฎหมายไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2559 และจะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิถุนายน 2561 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า หาก อย.ออกประกาศดังกล่าวออกมา เชื่อว่าจะไม่กระทบกับผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตกว่า 70-80% มีการปรับตัวแล้ว หลังต่างประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประกอบกับเทรนด์การรักสุขภาพกำลังมาแรง 

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการประกาศใช้จริง ควรมีเวลาให้ผู้ผลิตปรับตัวก่อนประมาณ 1 ปี หรือปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมากเพราะอาหารสำเร็จรูปบางอย่างต้องใช้กระบวนการวิจัยในเรื่องรสชาติ หากรีบร้อนประกาศจะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจได้ 

เบเกอร์รี่

นายสมพบ กาศยปนันทน์ เจ้าของร้านนนท์เบเกอรี่ กล่าวกับวอยซ์ ออนไลน์ ว่า ทางร้านมีการตื่นตัวเรื่องไขมันทรานส์ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่บริษัทที่ส่งวัตถุดิบให้กับร้าน ได้พัฒนาสูตรไม่ให้มีไขมันทรานส์ผสมอยู่ ดังนั้นหากมีประกาศดังกล่าวออกจึงไม่มีผลกระทบ และมองว่าประกาศดังกล่าวจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยรวม เพราะช่วยสร้างมาตรฐานให้ผู้ผลิต ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลในการเลือกซื้ออาหาร