นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ธุรกิจย่อยของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และตัวแทนจากกระทรวงคมนาคม ร่วมตรวจการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว (สายสุขุมวิท) ตั้งแต่สถานีอารีย์ ถึง สถานีพร้อมพงษ์ รวม 11 สถานี ในเช้าวันนี้ (2 ก.ค. 2561)
โดยการตรวจรวมกันวันนี้ใช้เวลาไป-กลับทั้งสิ้น 48 นาที เริ่มเดินทางจากสถานีอารีย์ เมื่อเวลา 6.11 น. ถึงสถานีพร้อมพงษ์ เมื่อเวลา 6.30 น. ส่วนขากลับ ออกจากสถานีพร้อมพงษ์ เวลา 6.40 น. ถึงสถานีอารีย์ เวลา 6.59 น.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า การตรวจสอบคลื่นสัญญาณความถี่ตามแนวเส้นทางเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงเช้าวันนี้ (2 ก.ค.) ถือว่า บีทีเอส สอบผ่าน หลังจากบริษัทดำเนินการใน 3 ด้านเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1) เปลี่ยนอุปกรณ์วิทยุสื่อสารระบบอาณัติสัญญาณจากโมโตโรล่าเป็นม็อกซ่า 2) ขยับคลื่นความถี่ไปอยู่ในช่วงปลาย 2400 MHz คือย้ายไปอยู่ที่ตำแหน่ง 2430-2495 MHz และ 3) ติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่น
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบร่วมกันวันนี้ อาจรบกวนการเดินทางของประชาชนผู้ใช้บริการบีทีเอสในช่วงเช้าจึงขออภัยที่ต้องออกตรวจในช่วงเวลาเร่งด่วน จึงใช้เวลาตรวจทั้งขาไปและขากลับจากสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ถึงพร้อมพงษ์ประมาณ 1 ชั่วโมง พร้อมกับยืนยันว่า จากปัญหาระบบอาณัติสัญญาณของบีทีเอสที่ขัดข้อง จนต้องเปลี่ยนจากการเดินรถแบบอัตโนมัติ มาใช้ระบบแมนนวลจนทำให้เกิดการล่าช้าในการเดินรถในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 มิ.ย.) นั้น ขณะนี้ ไม่มีปัญหาแล้ว
เนื่องจาก คลื่นสัญญาณของ TOT กับ BTS ไม่รบกวนกันแล้ว เพราะได้ขยับห่างจากการถึง 70 MHz จากเดิมห่างกัน 30 MHz
"การตรวจสอบร่วมกันวันนี้ ถือว่า บีทีเอสสอบผ่าน แม้การใช้งานคลื่น 2400 MHz ซึ่งเป็น Unlicensed Band หรือ คลื่นที่ไม่ต้องมีใบอนุญาต จะเป็นคลื่นที่มีการใช้งานทั่วไปตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ เช่น wi-fi โดยเฉพาะย่านสถานีสยาม สถานีอโศก และสถานีพร้อมพงษ์ อยู่ก็ตาม แต่ถือว่าตอนนี้ก็ไม่มีปัญหา" นายฐากร กล่าว
ขณะเดียวกัน วันนี้ทีโอทีก็เปิดให้บริการคลื่น 2300 MHz ทั้ง 70 สถานีตามปกติหมดแล้ว หลังจากปิดสัญญาณไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นจึงถือว่าไม่มีคลื่นรบกวนกันแล้ว
นอกจากนี้ เลขาธิการ กสทช. ยังระบุถึงการให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 850-900 MHz แก่กระทรวงคมนาคมเพื่อใช้สำหรับรถไฟความเร็วสูง หรือ ไฮ สปีด เทรน ว่า ภายใต้การประมูลใบอนุญาตครั้งใหม่นี้ กสทช. จะกำหนดให้ผู้ชนะประมูลคลื่นเป็นผู้ลงทุนทำระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ วงเงิน 2,000 ล้านบาท ตลอดแนว 4 ด้านที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดย กสทช. จะให้ผู้ชนะการประมูลรับผิดชอบติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่น โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายจากการประมูลออกไป
"เดิมไม่มีเจ้าภาพติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่น เพราะไม่มีใครอยากลงทุน ดังนั้น ในสัญญาประมูลใบอนุญาตสำหรับรถไฟความเร็วสูงอันใหม่ ก็จะกำหนดเลยว่า ผู้ชนะประมูลต้องเป็นผู้รับผิดชอบติดตั้งระบบนี้" นายฐากร กล่าว
รองผู้ว่า กทม. รับไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก BTS ได้
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. กล่าวว่า ตามสัญญาสัมปทานที่กรุงเทพมหานครทำกับบีทีเอส ไม่ได้ครอบคลุมในเรื่องการเรียกค่าเสียหายกับบีทีเอสได้ ดังนั้นจึงจะไม่มีฟ้องร้องหรือปรับคู่สัญญาในกรณีนี้ อย่างไรก็ตาม กทม. มีความเห็นให้ บีทีเอส ทำมาตรการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากการเดินรถไฟฟ้าขัดข้อง หรือล่าสุด ออกมาเป็นแบบแผน จากเดิมเป็นการเยียวยารายกรณี และจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุมคณะกรรมการกำกับการขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครที่ตนเป็นประธานในเร็วๆ นี้
"สัญญาสัมปทานเก่าของบีทีเอสกับ กทม. ทำให้เราฟ้องร้องไม่ได้ เพราะไม่มีช่องให้ฟ้อง แต่กับสัญญาใหม่ในกรณีส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง -สมุทรปราการ กับ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) อันนี้ถ้าเกิดปัญหาแบบนี้จะฟ้องได้ และเหตุการณ์ครั้งนี้ก็จะเป็นบทเรียนของ กทม. ในการพิจารณาลงนามสัญญาสัมปทานกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่จะดำเนินการในอนาคตด้วย" นายสกลธี กล่าว
บีทีเอสแถลงมาตรการเยียวยาผู้โดยสาร 5 ก.ค. นี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า เรื่องมาตรการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องในสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทจะออกแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ค. จะถึงนี้ เพราะวันพุธจะมีประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการหารือถึงแนวปฏิบัติในอนาคต กรณีรถไฟฟ้าขัดข้องด้วย
"ถึงวันนี้ เราค่อนข้างมั่นใจว่าระบบเดินรถไฟฟ้ากลับมาทำงานได้ตามปกติ และที่ผ่านมา เราทำงานเต็มที่ ตอนนี้ก็มีผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาทำงานร่วมกับเรา ดังนั้น หากมีปัยหาใดๆ เกิดขึ้นอีก ก็จะสามารถแก้ไขได้ทันที" นายสุรพงษ์ กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :