ไม่พบผลการค้นหา
เหล่าเพจยอดนิยมให้คำแนะนำนายกรัฐมนตรี หลังเริ่มหัดเล่นโซเชียลมีเดีย

การเปิดเพจเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคม โดยขณะนี้มียอดผู้ติดตามแล้วเกือบ 2 แสนราย และไม่มีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ พร้อมกันนั้นเขายังเปิดบัญชีในทวิตเตอร์และอินสตาแกรมเพิ่มอีกด้วย

"ก็มีทั้งด่าทั้งชมก็เป็นเรื่องธรรมดา" คือคำตอบจาก 'บิ๊กตู่' ต่อกระแสตอบรับบนเฟซบุ๊ก

'วอยซ์ ออนไลน์' สอบถามความเห็นแอดมินเพจดังผู้ทรงอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดียเมืองไทย ว่ามองวิธีเล่นโซเชียลมีเดียของนายกรัฐมนตรีอย่างไรและมีคำแนะนำอะไรบ้าง

ทำผิดแล้วรู้จักขอโทษ

อีเจี๊ยบ เลียบด่วน มองการเปิดเพจของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเรื่องสนุกและชี้ว่าหากต้องการประสบความสำเร็จควรมีความจริงใจและเป็นตัวเองให้มากที่สุด

ในฐานะเพจผู้ทรงอิทธิพล อีเจี๊ยบแนะนำเจ้าของเพจทุกเพจว่า เมื่อถูกคนอื่นด่าให้หันกลับมามองตัวเอง ประเมินว่าที่เขาตำหนินั้นเป็นเพราะเราผิดพลาดจริงหรือไม่ อย่าเข้าข้างและอย่าหลอกตัวเอง

“ถ้าผิดจริงก็แก้ไข ขอโทษเขาซะและระวังอย่าทำอีก คนเราทำผิดพลาดได้ทุกคน แอดมินเพจก็คน แต่ถ้าเรามาไตร่ตรองแล้วคิดว่าเราทำไปถูกต้อง ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน ทำลายใคร ก็พยายามอธิบายให้เขาเข้าใจอย่างสุภาพ ใจเย็น เป็นมิตร เอาเท่าที่จะทำได้ ถ้าเขายังไม่ปลื้มก็ถือว่าจริตไม่ตรงกัน ก็อันไลค์ แยกทางกันไป” เจ้าของเพจที่มียอดผู้ติดตามกว่า 2.8 ล้านให้คำแนะนำ

“จริงใจ เป็นตัวเองให้มากที่สุด โง่ก็อย่าทำเป็นฉลาด แต่ฉลาดแล้วแกล้งโง่ได้” อีเจี๊ยบ กล่าว


อีเจี๊ยบ

แนะเสนอเครื่องมือแก้ปัญหามากกว่าสร้างภาพ

"CSI LA" เพจดังของนายเดวิดหรือ ประมุข อนันตศิลป์ บอกว่า บิ๊กตู่ ตัดสินใจช้าเกินไปสำหรับการเปิดเพจรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนการเปิดภายหลังบริหารประเทศมามากกว่า 4 ปี หนีไม่พ้นที่จะทำให้หลายฝ่ายมองว่า ต้องการหวังผลหาเสียงทางการเมืองมากกว่ารับฟังความคิดเห็น

“ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจหลายคนดูถูกคนโซเชียลมองว่าสื่อออนไลน์ไม่มีตัวตน แต่กลับมาเปิดเพจในวันนี้ซึ่งผมคิดว่าสายเกินไปแล้ว”

เขาบอกต่อว่า การสื่อสารผ่านโซเซียลมีเดียในฐานะผู้บริหารประเทศควรเป็นลักษณะสอบถามความคิดเห็นเพื่อดำเนินนโยบายหรือแนะนำเครื่องมือในการจัดการแก้ไขปัญหา เช่น เปิดให้โหวต


CSI LA

ทั้งนี้ นายเดวิดบอกด้วยว่า การเปิดเพจให้ได้รับความนิยมควรสื่อสารในลักษณะที่มีความจริงใจอย่างแท้จริงมากกว่าการสร้างภาพหรือนำเสนอแค่ความสวยงามเท่านั้น ขณะเดียวกันยังตั้งข้อสังเกตถึงการรองรับอารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยว่าจะสามารถทำได้ดีมากน้อยแค่ไหนยามเจอคำถามหรือความคิดเห็นโจมตีอย่างรุนแรง

“เจอคำถามนักข่าว นายกฯยังปรี๊ดแตกให้เห็น น่าสนใจว่าถ้าเจอคอมเมนต์โจมตีจำนวนมาก จะเป็นอย่างไร”



สัตว์โลกอมตีน


ใส่ใจกับความเห็นคุณภาพ-หาวิธีเข้าถึงใจประชาชน

“เป็นเรื่องดีในการตัดสินใจเปิดเพจแม้จะช้าเกินไปหน่อยแต่เข้าใจได้เนื่องจากผู้ใหญ่ยุคนี้ต้องการเวลาในการเรียนรู้และปรับตัวในการใช้เทคโนโลยี” เสียงจาก เมฆ ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเพจ สัตว์โลกอมตีน ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2.8 ล้านคน

เขาบอกว่า โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหนึ่งในการติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกรวดเร็วระหว่างผู้มีอำนาจและชาวบ้าน ผิดจากอดีตที่ต้องใช้เวลายาวนานและมีขั้นตอนหลากหลายกว่าปัญหาของชาวบ้านจะถึงหูนายกฯ

“มีปัญหาอยากแนะนำ อยากเสนอก็สามารถส่งข้อความได้ทันที ไม่ต้องเขียนจดหมายที่ใช้เวลานานกว่าจะผ่านมาถึงนายกฯ”

คำแนะนำสำหรับการใช้โซเชียลมีเดีย ผู้ก่อตั้งเพจ สัตว์โลกอมตีน บอกว่า แต่ละวันจะมีคนแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์และส่งข้อความทางแชทส่วนตัวจำนวนมากทั้งติและชม ควรเลือกที่จะใส่ใจกับความคิดเห็นที่มีสาระ สร้างสรรค์ชี้ให้เห็นปัญหาอย่างแท้จริง มากกว่าการด่าทออย่างไม่เกิดประโยชน์

“เราเลือกได้ว่าจะใส่ใจกับคอมเมนต์ไหน เลือกที่มันน่าจะแก้ไขและช่วยเหลือสังคมได้จริงๆ” 


Lowcostcosplay


พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จ

การก้าวไปสู่ความสำเร็จของแต่ละเพจนั้นแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จได้จากมุมมองของ ชา-อนุชา แสงชาติ เจ้าของเพจยอดนิยมระดับอินเตอร์ Lowcostcosplay คือ การทำความดี สร้างสรรค์และพิสูจน์ให้กลุ่มเป้าหมายเห็นให้ได้

“นายกฯ ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำอะไร ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้าง ถ้าคนเห็นว่าเขาต้องการพัฒนาประเทศจริงๆ คนก็ไม่ด่า คนเขาก็รัก กุญแจสำคัญคือต้องเข้าใจว่าคนส่วนมากต้องการอะไร นำเสนอให้ตอบโจทย์เท่านั้นเอง แต่จำเป็นต้องเข้าใจและระมัดระวังอีโก้ของตนเอง เช่น อาจต้องนิ่งขึ้น ลดความเกรี้ยวกราด พูดจาอ่อนหวานมากขึ้น”

ด้าน กูจะฮาก็ตรงคอมเมนต์นี่แหละ อีกหนึ่งเพจดังบอกว่า เพจของพล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะเป็น personal brand ที่ขึ้นกับภาพลักษณ์บุคคลเป็นหลัก ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการสะสมภาพลักษณ์ในใจซึ่งผลจะสะท้อนออกมาผ่านการแสดงความคิดเห็นของผู้คน ข้อควรระมัดระวังคือ อย่าแสดงความคิดเห็นส่วนตัวมากเกินไป ระวังคำพูดเนื่องจากมีผู้คนคอยจับผิดอยู่ตลอด

“รูปแบบการนำเสนอ ถ้าอยากให้เข้าถึงประชาชนก็ไปดูเพจคุณบิณฑ์ อ้างอิงได้ครับ ทางที่ดีคือลงแต่ภาพว่าช่วยเหลืออะไรใครบ้าง ลงไปเรื่อยๆ แหละครับ ไม่เอาแบบภาพไปงานนู่นงานนี่ ของพวกนี้มันเข้าไม่ถึงใจใครหรอกครับ”


เกิดผล แก้วเกิด

แสดงความเห็นในกรอบของกฎหมาย

“สร้างสรรค์ ไม่ประจานด่าทอหรือใส่ความ อย่าลืมว่าทุกคำพูดต้องรับผิดชอบ” เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดังแนะนำและว่าในโลกออนไลน์ทุกคนมีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ต้องเคารพกฎหมายรวมถึงศักดิ์ศรีของผู้อื่น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบในทางการเมืองก็ตาม

ทนายความอิสระ บอกว่า อย่าอ้างสิทธิการแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชน แต่ควรมีเหตุผลในการนำเสนอความเห็นและหากไม่พอใจก็เพียงแค่เลิกติดตามเท่านั้นเอง

“แม้เขาจะอยู่ในฐานะบุคคลสาธารณะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนมีสิทธิตำหนิติชม แต่ต้องทำโดยสุจริตไม่ใช่ถือโอกาสด่าทอในลักษณะเข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือผิดกฎหมาย”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง