ไม่พบผลการค้นหา
คำถามจากกองประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ที่ถาม 'มารีญา พูลเลิศลาภ' ในรอบ 5 คนสุดท้าย จุดประกายให้สังคมไทยสนใจคำว่า Social Movement โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นกันอย่างคึกคักในโลกออนไลน์

หลัง 'สตีฟ ฮาร์วีย์' ผู้ดำเนินการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2017 ลั่นคำถามจากกองประกวดรอบ 5 คนสุดท้าย ถึง นางสาวมารีญา พูลเลิศลาภ ตัวแทนจากประเทศไทย ว่า "อะไรคือการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญที่สุดในยุคของคุณ" แม้คำตอบอันน่าประทับใจจาก 'มารีญา' ไม่อาจทำให้เธอคว้ามงกุฏ 'นางงามจักรวาล' แต่ควันหลงหลังเวทีคือความตื่นตัวของภาคประชาสังคม ที่ตั้งคำถามถึงคำศัพท์ 'การขับเคลื่อนทางสังคม' หรือ Social Movement


ศัพท์ที่เหล่านักรัฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักมานุษยวิทยาคุ้นเคย กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงมากที่สุด หลัง 'มารีญา' พลาดเข้ารอบ 3 คนสุดท้าย ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ตลอดทั้งวันในกลุ่มผู้ใช้งานชาวไทย ทั้งแสดงความคิดเห็นต่อคำตอบของ 'มารีญา' ตลอดจนแบ่งปันความรู้และยกตัวอย่างที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศ โดย 'ศาสดา' แอดมินเพจศาสดา มองว่า 'โซเชียลมูฟเมนต์' เป็นศัพท์ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก

สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้ช่วยศาสตราจารย์ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของหนังสือ 'หัวร่อต่ออำนาจ' ที่มองว่า 'โซเชียลมูฟเมนต์' เป็นศัพท์เฉพาะที่คนจำนวนน้อยเข้าใจนิยาม คำถามของมารีญาจึงถือเป็นคำถามที่ยากมาก เพราะผู้ตอบต้องเข้าใจความหมายทางทฤษฏีเสียก่อน พร้อมยกตัวอย่างขบวนการเคลื่อนไหวใหญ่ในโลก เช่น ขบวนการแรงงาน ขบวนการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ขบวนการต่อต้านสงคราม ขบวนการชนพื้นถิ่น ฯลฯ ส่วนในไทย ยกตัวอย่าง เช่น ขบวนการต่อต้านเขื่อนปากมูล และสมัชชาคนจน การประท้วงทางการเมืองโดยกลุ่มเหลือง-แดง ถือเป็นโซเชียลมูฟเมนต์เช่นกัน


000_UE3CD.jpg

ปัจจุบัน 'โซเชียลมูฟเมนต์' บรรลุเป้าหมายด้วยการประท้วงบนท้องถนนร่วมกับการแสดงพลังผ่านโลกออนไลน์ เช่น ปรากฏการณ์ 'อาหรับสปริง' ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ด้วยการเคลื่อนไหวผ่านออนไลน์และออฟไลน์

ขณะที่ ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับวอยซ์ทีวีถึงความหมายของโซเชียลมูฟเมนต์ คือ 'การขับเคลื่อนทางสังคม' ในทางทฤษฎี หมายถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีปฏิบัติการทางสังคม อย่างเช่น มีการทำอะไรเกิดขึ้น ยกอย่างเช่น การขับเคลื่อนทางสังคมที่เคยโด่งดังในประเทศไทยเมื่อประมาณ 30 - 40 ปีที่แล้วคือ 'ขบวนการนักศึกษา'

“คิดว่าเมื่อเช้าที่มีการถามตอบกัน คนตอบอาจจะเกร็งไปหน่อย ก็เลยพูดถึงเยาวชนหรือ Youth นัยสำคัญ แต่ว่า คิดว่า สิ่งที่เราพูดถึงโซเชียลมูฟเมนต์ มันต้องไม่ได้หมายถึงแค่ว่าใคร แต่หมายถึงเขามีปฏิบัติการที่ทำอะไร ยกตัวอย่าง โซเชียลมูฟเมนต์ที่โด่งดังในระดับโลกก็อย่างเช่น ขบวนการสิ่งแวดล้อมที่เราจะเจอกัน หรือในปัจจุบันโซเชียลมูฟเมนต์ที่มีการพูดกันถึงมากขึ้น เช่น ขบวนการสตรี ขบวนการกลุ่มหลากหลายทางเพศ ดังนั้น โซเชียลมูฟเมนต์มันต้องมีลักษณะเป็นขบวนการ มีการเคลื่อนไหว มีปฏิบัติการ” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

สำหรับในประเทศไทยก็มีโซเชียลมูฟเมนต์จำนวนมาก นอกเหนือจากขบวนการนักศึกษาในช่วงยุค 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ หรือที่เรียก��่า ขบวนการเดือนตุลา อย่างเช่น สมัชชาคนจนที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวของชาวนาที่เรียกร้องเมื่อทศวรรษ 90 เป็นต้น


จุดเทียน

ผศ.ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีขบวนการโซเชียลมูฟเมนต์ที่น่าสนใจและมีการเคลื่อนไหวอยู่ อย่างเช่น ขบวนการสิ่งที่แวดล้อมที่มีการผลักดันว่าทำอย่างไรให้โลกมีลักษณะของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งขบวนการผู้หญิงหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ กลุ่มประชาสังคมที่ผลักดันประเด็นสาธารณสุข เป็นต้น

“ถ้าจะเอาใจช่วยผู้ประกวดและคิดว่าผู้ประกวดไม่ตื่นเต้น และพูดถึง Youth Movement ในความหมายของขบวนการหนุ่มสาวที่จะมีบทบาทในการผลักดันก็อาจจะตอบได้มากกว่านี้ คิดว่าตอนนั้นอาจจะตกใจ“ ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์กล่าวต่อว่า กองประกวดน่าจะให้ความสนใจในประเด็นผู้หญิง เพราะดูจากคำถาม จะเห็นได้ว่า มีคำถามเรื่องของปัญหาการคุมคามทางเพศ (sexual harassment) มีการตั้งคำถามในประเด็นเรื่องของการได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน อันนี้เป็นกระแสของโลก คือ ขบวนการสตรี เพราะในเดือนนี้ เป็นเดือนที่มีการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ดังนั้นถ้าพูดว่ามีโซเชียลมูฟเมนต์อะไรที่เป็นปฏิบัติการอันหนึ่งของโลกซึ่งไม่เคยตกกระแสเลยก็คือประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิง บทบาทของผู้หญิง ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นกระแสที่กำลังเกิดขึ้นในแง่ของขบวนการที่เรียกร้องในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ ระยะหลังก็ก้าวหน้าไปไม่ใช่เฉพาะเพศหญิง แต่รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นใหม่ 

“ถ้าดูคำถามทั้ง 5 คำถามมันคือเทรนด์ของปีนี้ คำถามแรกที่ไล่มา มองยังไงในเรื่องของผู้หญิงผู้ชาย คนตอบก็ตอบในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ในแง่ของการทำงานว่าควรได้รับค่าแรงสิทธิเท่าเทียมกัน หรือแม้กระทั่งตอนหลังที่มีการพูดถึงคำถาม อย่างมิสจาไมกาที่หลายคนชื่นชมว่าตอบดีมากก็เป็นในเรื่องของการเลือกปฏิบัติทางเพศหรือในลักษณะของการคุกคาม คิดว่าคำถามทั้ง 5 คำถาม พูดง่าย ๆ พูดถึงคนที่จะไปมีบาทบาทในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง และไม่ได้คิดในเรื่องของแค่สังคมสงเคราะห์หรือทำงานช่วยใคร แต่กำลังคิดว่าคุณจะทำอะไรที่เป็นตัวแทน ก็เรียกว่าเป็นคำถามที่ลึกพอสมควรในปีนี้”ผศ.ดร.นฤมล


000_AA7OE.jpg

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะมองว่า มารีญาสามารถตอบคำถามได้อย่างดีที่สุดแล้ว แต่หลายคนก็ตั้งขอสังเกตว่า เหตุผลที่มารีญายังตอบคำถามได้ไม่เต็มที่อย่างที่จะถูกใจกรรมการได้ เป็นเพราะโซเชียลมูฟเมนต์เป็นคำที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมือง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนเรื่องขบวนการภาคประชาชนและเอ็นจีโอในหนังสือ "แผ่นดินจึงดาล: การเปลี่ยนผ่านในสภาพบังคับ" แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ความคิดแบบไทยๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองและไม่มีส่วนร่วมกับโลก หรือสังคมที่ตัวเองอยู่ เป็นภาพสะท้อนวิธีคิดคนรุ่นใหม่ในไทยที่น่าสนใจและน่าเศร้าใจไปพร้อมๆ กัน น่าแปลกที่คนในไทยส่วนใหญ่คิดว่าโซเชียลมูฟเมนต์เป็นเรื่องวิชาการ และมีแต่นักวิชาการเท่านั้นที่จะตอบคำถามประเภทนี้ได้ จึงน่าแปลกที่คำถาม 'วิชาการ' ดันกลายไปเป็นคำถามบนเวที มิสยูนิเวิร์สได้

ผศ.ปิ่นแก้วมองว่า ความคิดแบบไทยๆ ไม่ได้อยู่แค่ที่ตัวนางงามไทย แต่มันครอบคลุมไปทั้งสังคมไทย แม้แต่ในกลุ่มชนชั้นกลาง และปัญญาชนไทย ถ้าสนใจความเป็นไปในสังคม อ่านข่าว ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองก็จะเห็นคำเหล่านี้ขึ้นมาบ่อยๆ อยู่แล้ว


000_PT2OL.jpg

ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรผ่านทางทวิตเตอร์ โดยระบุความหมายของการเคลื่อนไหวทางสังคมว่าเป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกันคือเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง LGBT โรคเอดส์ ฯลฯ

การเคลื่อนไหวทางสังคมเติบโตมาพร้อมกับแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเมื่อประชาชนถูกกดขี่ข่มเหง ย่อมสามารถออกมาแสดงความเห็น วิจารณ์ ประท้วง และเรียกร้องความยุติธรรมได้ คนที่ร่วมกับการเคลื่อนไหวทางสังคมมีความหลากหลาย บางประเทศเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อปลดแอกจากอำนาจผู้ปกครอง บางประเทศเป็นคนยากจน บางประเทศเป็นชนชั้นกลาง

การเคลื่อนไหวทางสังคมบางประเด็นขยายจากในประเทศจนได้รับการยอมรับเกือบทั่วโลก บางประเด็นมีต้นกำเนิดในตะวันตก เช่น สิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิง แต่บางเรื่องก็มาจากตะวันออก เช่น หลักการอหิงสาของคานธี

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ได้มีแค่การเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเสมอไป เห็นได้จากการเคลื่อนไหวกลุ่มนาซีใหม่ กลุ่มหัวรุนแรงต่างๆ เป็นต้น

รายงานโดย: ชยากรณ์ กำโชค/นรรณพร แสนใจวุฒิ/ประภาภูมิ เอี่ยมสม

อ่านเพิ่มเติม:

เปิดคำถามรอบตัดสิน วัดกึ๋นมิสยูนิเวิร์ส

‘มารีญา’ ร่ำไห้ เผยผิดหวังที่ทำไม่ได้ตามความคาดหวัง

มิสเปรูใช้เวทีนางงามต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง