ไม่พบผลการค้นหา
พ.ร.บ.งบกลางปี 2561 วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ 14 พ.ค.นี้ เน้นอัดฉีดกระทรวงมหาดไทย 3.1 หมื่นล้านบาท ปลุกเศรษฐกิจฐานราก หว่านกองทุนประชารัฐ 1.38 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.รบ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 หรืองบฯ กลางปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.เป็นต้นไป สำหรับ พ.ร.บ.งบกลางปี 2561 กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลางในความควบคุมของสำนักงบประมาณ ตั้งเป็นจำนวน 4.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน

สำหรับงบประมาณที่ตั้งให้กระทรวงสำคัญ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ถือเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด จำนวน 3.18 หมื่นล้านบาท โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้รับงบฯในแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน จำนวน 2 หมื่นล้านบาท กรมการปกครองได้รับงบ 2.5 พันล้านบาท และกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับงบฯในแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน จำนวน 9.3 พันล้านบาท

ขณะที่กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน ได้รับจำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20 ล้านบาท กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1.38 หมื่นล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช จำนวน 150 ล้านบาท

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ โดยรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดำเนินนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อรักษาทิศทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มีการขยายตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศอย่างยั่งยืน จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เป็นจำนวนไม่เกิน 100,358,077,000 บาท

โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1. ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จำนวน 4.6 พันล้านบาท 2.เพื่อจัดสรรตามแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท 3. เพื่อจัดสรรตามแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 2.1 หมื่นล้านบาท และ 4.เพื่อจัดสรรตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน จำนวน 5.03 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 3 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ที่มีการของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี รวมแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท ไล่ตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 5.6 หมื่นล้านบาท ปี 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และล่าสุดปี 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท  ขณะเดียวกัน รัฐบาลคสช. เคยยืนยันมาตลอดว่า จะคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ซึ่งการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมกลางปี 2561 ยังถูกมองว่าเป็นการเตรียมการรองรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 ผ่านการดำเนินการโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่ขับเคลื่อนโดยกระทรวงมหาดไทย

ข่าวเกี่ยวข้อง :