ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงครอบครัว เผย จ.ราชบุรี พบเหตุการณ์รุนแรง มากที่สุด รองลงมากรุงเทพฯ

ศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว แสดงข้อมูลสถิติการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลทั่วไปและความรุนแรงในครอบครัว ปี 2561 สถิติชี้ว่าจังหวัดที่มีการใช้ความรุนแรงมากที่สุดได้แก่จังหวัดราชบุรี จำนวน 56 เหตุการณ์ รองลงมาเป็น กรุงเทพมหานคร 44 เหตุการณ์ ส่วนประเภทความรุนแรงสูงสุดคือ การทำร้ายร่างกายผู้หญิง ซึ่งสูงถึงร้อยละ 58.14 ของประชากรผู้หญิงภายใต้ความสัมพันธ์สามีภรรยา

สถิติความรุนแรงในรอบหลายปีนำมาซึ่งองค์กรให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงหลายกลุ่ม แต่หากจะยกตัวอย่างสักองค์กรหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือเหยื่อได้ตั้งแต่ต้นจนจบ คงไม่พ้นต้องกล่าวถึง ‘มูลนิธิ SHEro’ ซึ่งก่อตั้งโดย บุสยาภา ศรีสมพงษ์ หรือเบส ผู้เคยเป็นเหยื่อความรุนแรงจากแฟนเก่า ผนวกกับการที่ตนเองเป็นนักกฎหมาย เธอตั้งองค์กรเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรง ตั้งแต่ให้คำปรึกษา ช่วยดำเนินการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ ตลอดจนให้คำปรึกษาเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความรุนแรง

เบส เล่าให้เราฟังว่า การให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน โดยเฉพาะความสัมพันธ์แบบคู่รัก หรือสามีภรรยา

“เพราะสังคมไทยมีคติเรื่องครอบครัวสมบูรณ์แบบเป็นกำแพง หลายครั้งผู้หญิงไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครและไม่กล้าสื่อสาร เพราะเชื่อว่าต้องปกป้องครอบครัวของตนไว้ การได้รับความเป็นธรรมเชิงกฎหมายจึงเหมือนถูกจำกัด” เบสกล่าว

สอดคล้องกับงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง “เพศวิถีในคำพิพากษา” ที่ชี้ว่าศาลมักจะ พิจารณาถึงความรุนแรงภายในครอบครัวที่ชายกระทำต่อหญิงว่าเหมือนลิ้นกับฟันที่ต้องกระทบกันบ้างเป็นธรรมดา แม้จะไม่ยอมรับอำนาจของชายในการใช้ความรุนแรงต่อภรรยา แต่แนวคำวินิจฉัยของศาลในด้านหนึ่งก็เท่ากับปฏิเสธไม่รับรู้ต่อความรุนแรงภายในครอบครัวที่เกิดมาอย่างต่อเนื่อง

วอยซ์ออนไลน์ได้คุยกับ นางเอ (นามสมมติ) ผู้ถูกสามีใช้ความรุนแรงอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่แต่งงานจนลูกอายุเกิน 2 ขวบ เธออดทนเป็นเวลานานเพราะกลัวว่าลูกจะมีครอบครัวไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งเริ่มรู้สึกว่าลูกชายเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าว จึงพยายามแจ้งความและฟ้องหย่า การแจ้งความไม่เป็นผล แม้สุดท้ายจะได้จะหย่าขาดกับสามีเก่าและแต่งงานใหม่ แต่เธอกลับยังไม่รู้สึกปลอดภัย เพราะกลัวว่าวันหนึ่งสามีเก่าอาจกลับมาทำร้ายเธออีก

“มีครั้งหนึ่งแฟนยกมือจะหวีผม ก็สะดุ้งผวา จนแฟนบอกว่าเธอเหมือนหมาตกใจ กลัวโดนตีตลอด”

จริงตามคาด 2 ปีหลังการหย่า สามีเก่าเข้ามาทำร้ายเธอถึงที่บ้านในวันที่สามีใหม่ไม่อยู่เธอและสามีใหม่พยายามหาทางเอาผิด จนมาเจอมูลนิธิ SHEro ซึ่งช่วยดำเนินการฟ้องร้องจนสามีเก่าถูกดำเนินคดี อีกทั้งสามารถขอความคุ้มครองจากศาลได้ ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยขึ้น แต่การขอความคุ้มครองจากศาลก็ไม่ได้ง่ายนัก ต้องอาศัยความหนักแน่นของตนเอง เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ก็อาจจะท้อและเลิกไป

ภายหลังได้รับการเยียวยาและความปลอดภัย นางเอ ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ กับมูลนิธิ SHEro อยู่เป็นประจำ เธอบอกว่าการแชร์ประสบการณ์ความรุนแรงของผู้เคยถูกกระทำด้วยกัน เป็นการระบายความเจ็บปวดออก และมันช่วยให้เหยื่อมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้น

แต่สำหรับผู้ก่อตั้งมูลนิธิ SHero อย่างเบส ผู้ซึ่งเล่าเรื่องความรุนแรงของตัวเองซ้ำไปซ้ำมา บอกว่าหลายครั้งก็เป็นการเปิดแผลที่ปิดไว้เหล่านั้นขึ้นมาอีกซ้ำๆ รวมถึงการต้องรับฟังเรื่องความรุนแรงเป็นจำนวนมาก มีส่วนทำให้เธอต้องเข้ารับการบำบัดจิตใจไม่ให้หดหู่ แต่เธอจำเป็นต้องยืนหยัดเป็นที่พึ่งให้กับเหยื่อรายอื่นๆ ให้ได้ต่อไป อย่างไรก็ตาม เบส ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ SHero แนะนำข้อปฏิบัติบางประการเป็นการส่งท้ายว่า

หากเหยื่อได้รับความรุนแรงให้รีบไปโรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน ซึ่งจะมีศูนย์ OSCC คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ หลังจากนั้นให้เข้าแจ้งความโดยให้แจ้งความดำเนินคดี ว่าจะฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรุนแรง ไม่ใช่แค่บันทึกประจำวัน จากนั้นให้ทำเอกสารขอความคุ้มครองจากศาลที่ศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อไม่ให้ผู้กระทำเข้าใกล้หรือตามรังควานในระหว่างดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้ตำรวจสามารถโน้มน้าวให้ไกล่เกลี่ยได้ในทุกกระบวนการ ซึ่งเหยื่อจำเป็นต้องใจแข็ง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของกฎหมายความรุนแรงในครอบครัวเพราะมัวแต่ห่วงสัมพันธภาพของคู่รัก ถ้ามีการดำเนินคดีต่อ จะเข้าสู่กระบวนการที่เหยื่อลงนามว่าจะดำเนินคดีและสามารถเรียกค่าเสียหายได้

อ้างอิง : shero , “เพศวิถีในคำพิพากษา” , ความรุนแรงในครอบครัว , พ.ร.บ.ความรุนแรง