ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะ เร่งปั้น 'คนดิจิทัล' รองรับรัฐฝันสร้างไทยเป็น 'ฮับดิจิทัล-อีคอมเมิร์ซ' รับแผนการลงทุนกลุ่มอาลีบาบา ย้ำปัญหาไม่ได้อยู่ที่ปริมาณ แต่เป็นคุณภาพ เหตุหลักสูตรยังล้าสมัย ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี

ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ระบุในบทความเรื่อง 'การมาของอาลีบาบา กับความท้าทายด้านกำลังคนดิจิทัลของไทย' ว่าการมาเยือนของ 'แจ็ค หม่า' ประธานบริหารของกลุ่มอาลีบาบา เพื่อประกาศแผนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและส่งเสริมการพัฒนาทักษะบุคลากรของไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้นในฐานะที่เป็น 'ฮับ' ของการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย คือ ความพร้อมของกำลังคนด้านดิจิทัลในประเทศ ซึ่งนอกจากจะให้อาลีบาบาช่วยพัฒนาแล้ว ประเทศไทยควรต้องออกแรงพัฒนากำลังคนเองด้วย  

เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลออกมามากพอสมควร เพราะมีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านดิจิทัลมากถึง 427 หลักสูตร ในสถาบันการศึกษาเกือบ 170 แห่งทั่วประเทศ และสามารถผลิตบัณฑิตที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านดิจิทัลมากกว่า 26,000 คน ในปี 2560  


"แต่ปัญหาคือ บุคลากรที่ผลิตออกมาจำนวนไม่น้อยมีปัญหาด้านคุณภาพที่ไม่ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจ"

สาเหตุหนึ่งมาจากหลักสูตรที่ใช้ล้าสมัย เพราะไม่ได้ปรับให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างๆ ที่มาลงทุน รวมทั้งอาลีบาบา เลือกที่จะไม่ทำกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในประเทศไทย แต่มาลงทุนในไทย เพียงเพื่อใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้าไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนไม่มาก 

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการจะได้ประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสามารถสร้างเสน่ห์ในการดึงดูดการลงทุนด้านดิจิทัล เหมือนหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวันและญี่ปุ่น สิ่งที่ภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง และใช้งานได้จริง โดยการดำเนินนโยบายระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวควบคู่กันไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 

แนะสร้างนโยบาย เกิดกำลังคนด้านดิจิทัล 3 กลุ่ม

ในระยะสั้นและระยะกลาง ประเทศไทยควรมีนโยบายเพื่อให้เกิดกำลังคนด้านดิจิทัล 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มแรก: กลุ่มคนด้านดิจิทัลที่สามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยีหลักที่เปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (disruptive technologies) เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ซึ่งหลายประเทศ การพัฒนาคนกลุ่มนี้ มักทำโดยการจัดหลักสูตรเข้มข้นระยะประมาณ 6 เดือน โดยเน้นการพัฒนาทักษะจากโจทย์จริง ข้อมูลจริงเพื่อใช้งานจริงและแก้ปัญหาจริงได้ เช่น ไต้หวัน จัดหลักสูตรในลักษณะดังกล่าวโดย Institute for Information Industry (III) ส่วนสิงคโปร์ดำเนินการโดยผ่านโครงการ Skills Framework for Infocomm Technology 

หัวใจของการฝึกอบรมในทั้ง 2 ประเทศคือ ไม่มุ่งเน้นปริมาณมาก แต่เน้นฝึกอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้คุณภาพระดับสามารถใช้งานได้จริง 

กลุ่มสอง: กลุ่มคนด้านดิจิทัลที่ต้องการจำนวนมากพอสมควร เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ (software developer) และโปรแกรมเมอร์ ซึ่งต้องมีคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ คนกลุ่มนี้ สามารถสร้างได้โดยสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจ

ตัวอย่างที่ดีในต่างประเทศคือ เกาหลีใต้ ซึ่งมี ICT Model Schools ซึ่งเปิดให้สถาบันการศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก คือ การมีหลักสูตรการสอนที่เหมาะสมและความพร้อมด้านสถานที่และอุปกรณ์วิจัย ที่สำคัญ ต้องสามารถดึงดูดการลงทุนร่วมด้านการศึกษาและวิจัยจากภาคธุรกิจ โดยสถาบันฯ ที่สนใจต้องส่งข้อเสนอการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันที่เชี่ยวชาญด้าน ICT มาให้คณะกรรมการพิจารณา  

มีสถาบัน ที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 30 แห่ง ซึ่งกระจายในแต่ละภูมิภาค แต่ละแห่งได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 45-90 ล้านบาทสำหรับโครงการ 4 ปี อย่างไรก็ตาม หากการประเมินผลประจำปีไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ สถาบันฯ นั้น ก็จะถูกคัดออกจากโครงการ โดยสถาบันฯ ที่อยู่ในระดับรองลงไปจะได้รับการคัดเลือกแทน

กลุ่มสาม: กลุ่มคนด้านดิจิทัลทักษะสูงจากต่างประเทศ โดยกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาความขาดแคลนเฉพาะหน้า เราสามารถดึงดูดกลุ่มนี้ได้จากการอำนวยความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาทำงาน เช่นที่ผ่านมา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และสหรัฐ ได้ใช้มาตรการนี้ดึงดูดกำลังคนจากต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานานและประสบความสำเร็จ  

สำหรับประเทศไทย มาตรการดังกล่าวเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2561 เมื่อรัฐบาลออกมาตรการ Smart Visa ซึ่งเป็นวีซ่าพิเศษ เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทักษะสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยให้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การให้วีซ่าถึง 4 ปี และไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงาน 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวของไทยยังมีเงื่อนไขไม่ดึงดูดพอ เพราะกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำไว้สูงมากถึง 200,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีผู้ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวและสนใจเข้ามาทำงานในไทยน้อยเกินไป ดังนั้น รัฐบาลควรพิจารณาปรับเงินเดือนขั้นต่ำ และเงื่อนไขให้เหมาะสมกัน เช่น ผู้ที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 200,000 บาท จะได้วีซ่านาน 4 ปี ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนเกิน 100,000 บาท แต่ไม่ถึง 200,000 บาท จะได้วีซ่านาน 2 ปี เป็นต้น

ในระยะยาว ประเทศไทยควรมุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา โดยสร้างกลไกให้ภาคธุรกิจให้ข้อมูลทักษะกำลังคนที่ต้องการแก่สถาบันการศึกษา และให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ รวมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยสถาบันการศึกษาวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของตน จัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ขยายจำนวนนักศึกษาฝึกงาน และเพิ่มอาจารย์ที่มีคุณภาพ 

ตัวอย่างของประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดีคือ เกาหลีใต้ ซึ่งมีโครงการ Nurturing Excellent Engineers in Information Technology (NEXT) และ ญี่ปุ่นซึ่งมีระบบ KOSEN ที่มีชื่อเสียง 

4 ปัจจัยความสำเร็จ : คุณภาพ -เอกชนร่วม-ตรวจสอบประเมินผล-หนุนสถาบันการศึกษา

บทเรียนจากประสบการณ์ต่างประเทศที่กล่าวมาสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลประกอบด้วย 4 ประการ 

หนึ่ง เน้นการพัฒนาคุณภาพมากกว่าปริมาณ   

สอง เน้นความร่วมมือกับภาคเอกชน   

สาม มีกลไกการตรวจสอบและประเมินผลที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างความรับผิดชอบ (accountability) 

สี่ มีกลไกที่สนับสนุนความเข้มแข็งของสถาบันการศึกษา

ดร.เสาวรัจ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ ปัจจุบัน การสร้างกำลังคนด้านดิจิทัลในประเทศไทย ในสถาบันต่างๆ ยังไม่มีองค์ประกอบแห่งคุณภาพครบทั้ง 4 ประการ แต่ก็น่าจะสามารถสร้างขึ้นได้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของอาลีบาบา และบริษัทชั้นนำอื่นๆ ในอนาคต

รถยนต์

'เอดีบี' ชี้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติช่วยเพิ่มงาน เพิ่มค่าจ้างแรงงาน

ด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook : ADO) ปี 2561 พร้อมกับเผยแพร่งานวิจัยล่าสุดเรื่อง 'ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงาน' โดยชี้ว่า สำหรับภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานบางอาชีพ แต่ท้ายที่สุดจะทำให้เกิดการชดเชยจ้างงานในอัตราที่สูงกว่าตำแหน่งงานที่ถูกยกเลิกไป

เนื่องจาก 25 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดแรงงานเอเชียกว่า 2,000 ล้านคน ช่วยสร้างงานนับ 30 ล้านตำแหน่งต่อปีในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานและค่าจ้างให้สูงขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาความยากจน

นายยาสุยูกิ วาซาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าวว่า การวิจัยล่าสุดพบว่า ภาพรวมของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และเพิ่มความต้องการของการจ้างแรงงาน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้กำหนดนโยบายต้องมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ช่วยรักษาความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน ทำให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง และลดความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้

การวิจัยยังชี้ว่า ในช่วงที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน เช่น วิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ยังมีแนวโน้มในทางบวกต่อการจ้างงานในภูมิภาค เนื่องจากเทคโนโลยีอัตโนมัติสามารถทำงานแทนที่ได้เฉพาะงานบางอย่าง แต่ไม่สามารถทำแทนได้ทั้งหมด

นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานจะทำได้ ก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวมีเทคนิคและศักยภาพเพียงพอที่จะทดแทนแรงงานได้

ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการคือ ความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มศักยภาพของแรงงาน จะช่วยสร้างอาชีพใหม่ๆ ซึ่งสามารถชดเชยแรงงานที่ถูกยกเลิกจ้างอันเป็นผลจากเทคโนโลยีได้เช่นกัน

ดังนั้น เอดีบีได้ทำการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานใน 12 ประเทศเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ระหว่างปี 2548-2558 พบว่าอุปสงค์การจ้างงานภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตรางานที่ถูกยกเลิกไปจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลวงกว้าง พบว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นในสาขาสุขภาพ การศึกษา การเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี ในรายงานดังกล่าวยอมรับว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น วิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานทั่วไปที่ไม่ได้ใช้การศึกษาและทักษะในการทำงานผ่านการขยายตัวที่ชะลอลงของค่าจ้างแรงงาน อันจะส่งผลกระทบต่อความไม่เทียมกันทางรายได้ของภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น

ขณะที่ อาชีพที่ต้องอาศัยทักษะการสังเคราะห์และวิเคราะห์ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาระดับสูง จะได้รับค่าแรงที่สูงกว่า โดยเอดีบีพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาชีพดังกล่าวขยายตัวมากกว่าอัตราการจ้างงานทั่วไปถึงร้อยละ 2.6 และค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของอาชีพดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอาชีพทั่วไป

คนนิยมหุ่นยนต์แสดงอารมณ์ได้มากกว่าหุ่นยนต์ทั่วไป

แนะรัฐหามาตรการรองรับความเสี่ยงเทคโนโลยีกระทบแรงงาน

รายงานได้เน้นให้ผู้กำหนดนโยบายเร่งเตรียมรับมือเพื่อให้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถกระจายสู่ทั้งแรงงานและสังคมในวงกว้าง และต้องเตรียมรองรับความเสี่ยงของแรงงานที่จะถูกกระทบ โดยทำให้แน่ใจว่าแรงงานจะได้รับความคุ้มครองจากผลกระทบเชิงลบของเทคโนโลยี และสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ได้ ซึ่งอาจทำได้โดยความพยายามร่วมกันในด้านการพัฒนาทักษะ กฏระเบียบของตลาดแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม และการกระจายรายได้

เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่มีในสาขาต่างๆ เช่น เทคโนโลยีการเรียนรู้อย่างปรับตัว (Adaptive learning technology) ซึ่งเป็นวิธีศึกษาที่ใช้ระบบอะกอริทึ่ม (Algorithm) ของคอมพิวเตอร์มาออกแบบการเรียนให้เข้ากับนักเรียนรายบุคคล ช่วยกระตุ้นผลการเรียนรู้จากโรงเรียน ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนและนำมาใช้

นอกจากนั้น เทคโนโลยีระบุตัวตนจากข้อมูลทางชีวภาพ (Biometric Identification) ช่วยปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการลดค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาความท้าทายระหว่างขั้นตอนดำเนินการในระบบชดเชยการว่างงานที่ซับซ้อน และจัดทำระบบติดตามการบริการจัดหางานต่างๆ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องแน่ใจว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชากร และต้องปกป้องสิทธิ์และสิทธิส่วนบุคคล เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปพร้อมๆ กัน