ไม่พบผลการค้นหา
นักศึกษาเกาหลีใต้บางส่วนเตรียมตัวต้อนรับ 'คิมจองอึน' ผู้นำที่รักแห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งมีกำหนดเยือนกรุงโซล จึงมีผู้ตั้งคำถามว่า การสนับสนุนเผด็จการและพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เข้าข่ายละเมิด ก.ม.ความมั่นคงเกาหลีใต้หรือไม่ หรือถึงเวลาจะต้องยกเลิก ก.ม.แล้ว ?

สมาชิกองค์กรเอกภาพนักศึกษาเกาหลี หรือ KYS ซึ่งเป็นเครือข่ายเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในเกาหลีใต้ ออกแถลงการณ์สนับสนุน 'คิมจองอึน' ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนกรุงโซลของเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกภายในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อเจรจากับ 'มุนแจอิน' ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดกระบวนการสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงการเจรจาเพื่อรวมชาติเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องนับจากการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างผู้นำเกาหลีสองฝ่ายที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

'คิมซูกึน' ประธานกลุ่ม KYS เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดอะโคเรียไทม์ส สื่อของเกาหลีใต้ ว่า เขาและสมาชิกเควายเอสเป็นแฟนของคิมจองอึน พร้อมระบุว่า "ผมรักคอมมิวนิสต์ และพวกคุณก็จะรักคอมมิวนิสต์เช่นกัน" ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 พ.ย. สมาชิกของกลุ่มเควายเอสและองค์กรนักศึกษาอื่นๆ รวม 103 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมระดมทุนในพื้นที่สาธารณะกลางกรุงโซลของเกาหลีใต้เพื่อจัดทำป้ายต้อนรับผู้นำเกาหลีเหนือ แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

'พักยอนซอ' สมาชิกกลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมที่สนับสนุนแนวคิดอนุรักษนิยม แย้งว่า เกาหลีเหนือยังเป็นรัฐเผด็จการ มีคนที่ตายและถูกทรมานในคุกเกาหลีเหนือเพียงเพราะเขาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำคิมและครอบครัว การยกย่องและสร้างความชอบธรรมให้แก่ตระกูลผู้นำคิมจึงเป็นการสร้างวาทกรรมบิดเบือนเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ ทั้งยังละเมิดกฎหมายความมั่นคงของเกาหลีใต้ ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1948 อีกด้วย


อยู่ในประเทศเสรีประชาธิปไตยแต่สนับสนุนเผด็จการ 'ผิด' หรือไม่?

กฎหมายความมั่นคงของเกาหลีใต้ระบุว่า 'การยกย่อง' 'การปลุกระดม' หรือ 'การโฆษณา' เพื่อสนับสนุนแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับเกาหลีเหนือ ถือเป็นความผิด และมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี แต่ 'คิมยองซู' ศาสตราจารย์ในคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโซกังแห่งเกาหลีใต้ ระบุว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยในปี 2018 อยู่ในยุคที่คนเชื่อแต่สิ่งที่ตัวเองมองเห็น

"พวกเขาไม่เคยเผชิญหน้ากับทหารคอมมิวนิสต์ และไม่เคยได้รับข้อมูลต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระบบการศึกษาตามโรงเรียน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนนัก"

เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้-คิม-ทรัมป์-มุนแจอิน-คิมจองอึน-ประชุม-สิงคโปร์-สหรัฐ

"การที่คนเกาหลีใต้สามารถตะโกนดังๆ ในที่สาธารณะได้ว่า 'เรารักระบอบคอมมิวนิสม์' เช่นเดียวกับที่สามารถตะโกนว่า 'เราเกลียดคอมมิวนิสม์' เป็นเครื่องบ่งชี้ได้ดีว่าประเทศมีความเป็นเสรีประชาธิปไตย แต่เราก็ต้องการเสียงคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายกว่านี้ในการถกเถียงให้เกิดวาทกรรมสาธารณะ" ศ.คิมยองซูกล่าว

หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวสนับสนุนผู้นำเกาหลีเหนือในดินแดนเกาหลีใต้ มีผู้นำเรื่องดังกล่าวไปยื่นฟ้องต่อศาลในหลายพื้นที่ และคาดว่าสมาชิกกลุ่มเควายเอสอาจถูกสอบสวนและดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติประมาณ 40 ราย

แต่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การบังคับใช้ ก.ม.ดังกล่าวกับผู้สนับสนุนระบอบเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้ลดน้อยลงไปมาก นับตั้งแต่ 'มุนแจอิน' เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อเดือน พ.ค.2560 เป็นต้นมา เพราะเขาเป็นผู้สนับสนุนการเจรจาสันติภาพกับเกาหลีเหนือ และประกาศนโยบายเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างเกาหลีสองฝ่ายอย่างเป็นทางการมาแล้ว

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพีประเมินว่าการดำเนินคดีแก่กลุ่มนักศึกษาเควายเอสจะไม่เกิดขึ้น เพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเป็นผลดีต่อการเจรจาระหว่างผู้นำเกาหลีทั้งสองฝ่าย เพราะเป็นการรณรงค์ให้ชาวเกาหลีใต้ 'เปิดกว้าง' ต่อผู้นำคิมจองอึนแห่งเกาหลีเหนือ และการเดินทางเยือนกรุงโซลของคิมจองอึนและรีโซลจูผู้เป็นภริยา จะถูกบันทึกว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ และขึ้นอยู่กับว่าคิมจองอึนจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาว่าที่เขาให้ไว้กับผู้นำเกาหลีใต้หรือไม่


ก.ม.ความมั่นคง 'เครื่องมือเอาผิด' ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

แม้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในเกาหลีใต้จะวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลของตนไม่ได้พูดคุยกดดันเกาหลีเหนืออย่างจริงจังให้แก้ปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการประชุมผู้นำทั้งสองฝ่าย แต่ประชาชนจำนวนมากของเกาหลีใต้มองว่า การเจรจายุติความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นดีพอแล้ว ทั้งยังได้ผลกว่าการผลักดันนโยบายทางการทหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดการปะทะต่อสู้ และยิ่งทำให้เกาหลีเหนือตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงกว่าเดิม

CLIP Tonight Thailand : ศาลรธน.เกาหลีใต้ถอดพักกึนเฮพ้น ปธน.
  • การดำเนินคดีผู้ละเมิด ก.ม.ความมั่นคงของเกาหลีใต้สูงสุดในรอบ 10 ปีในสมัยที่อดีต ปธน.พักกึนเฮ ทายาทนายพลเผด็จการ เข้ารับตำแหน่งปีแรกเมื่อ พ.ศ. 2556

ข้อมูลของรอยเตอร์ระบุว่า สถิติผู้ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาละเมิด ก.ม.ความมั่นคงตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งหมด 15 ราย ซึ่งเป็นสถิติต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ส่วนสถิติผู้ถูกฟ้องสูงสุด 129 รายเกิดขึ้นเมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่พักกึนเฮ อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทายาทนายพลเผด็จการ ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็น ปธน.ปีแรก ก่อนที่เธอจะถูกประชาชนเดินขบวนขับไล่และถูกถอดถอนจากตำแหน่งช่วงปี 2559-2560

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากฝั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องและสอบสวนคดีละเมิด ก.ม.ความมั่นคงทั้งหมด 580 คดี และในปีนี้ ลดลงเหลือ 479 คดี ทั้งยังมีการปรับลดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของกองทัพลงอีกร้อยละ 30 อีกด้วย 

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้พิจารณาทบทวนหรือปรับลดการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายความมั่นคง เป็นผลจากที่เคยมีการใช้ ก.ม.ดังกล่าวกันอย่างแพร่หลายในยุคอดีตรัฐบาลเผด็จการเกาหลีใต้ ช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินคดีและลงโทษฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นดัวยกับระบอบอำนาจนิยม ทำให้ระหว่างปี 2550-2559 รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องจ่ายเงินชดเชยกว่า 2.12 แสนล้านวอน แก่ผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิด ก.ม.ความมั่นคง รวม 1,311 ราย

การเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนเกาหลีเหนือในเกาหลีใต้ ทำให้เกิดข้อถกเถียงในหมู่นักวิชาการและขบวนการนักศึกษา รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคมว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนแก้ไข หรือไม่ก็พิจารณายกเลิกกฎหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติที่บังคับใช้มานานกว่าครึ่งศตวรรษทิ้งไปแล้วหรือไม่

คิมจงกวี ทนายความที่รับผิดชอบคดีความมั่นคงในเกาหลีใต้ ระบุว่า ภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน การดำเนินคดีผู้ละเมิด ก.ม.ความมั่นคงแห่งชาติลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เขาก็ไม่รู้สึกว่าความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงหรือเสถียรภาพของประเทศชาติแต่อย่างใด โดยส่วนตัวจึงเห็นว่า ก.ม.ความมั่นคงคือสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อในเกาหลีใต้ยุคนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: