ไม่พบผลการค้นหา
ทำความรู้จักและลบล้างความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเสริมหน้าอก ศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 3 ในเมืองไทย ผ่าน นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ตกแต่งมากประสบการณ์

สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (ISAPS) รายงานว่า การเสริมหน้าอกเป็นประเภทของการทำศัลยกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับสามในไทย เป็นรองเพียงแค่การเสริมจมูกและเปลือกตา โดยรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีความเชื่อหลากหลายเกี่ยวกับอันตรายและปัญหาของการเสริมหน้าอก บ้างบอกว่าหน้าอกมีโอกาสระเบิดเมื่อต้องโดยสารบนเครื่องบิน บ้างบอกว่าการอัปไซส์เพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น ขณะที่บางส่วนเชื่อว่า ผู้ผ่านการศัลยกรรมจะไม่สามารถดำน้ำลึกได้ 

นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง สาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมแล้วที่จะอธิบายให้ความกระจ่างเรื่องหน้าอกเพื่อให้สาวๆ เกิดความเข้าใจและได้รับคุณภาพอย่างที่หวัง

นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์

ไม่มีนมที่ดีที่สุด ?  

วัสดุในการเสริมหน้าอกที่ได้รับความนิยมคือ ถุงน้ำเกลือและซิลิโคน อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลในแง่คุณภาพและความคงทน ปัจจุบันถุงน้ำเกลือได้ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว

นพ.วิษณุ อธิบายว่า ส่วนประกอบสำคัญของซิลิโคนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. เปลือก มีทั้งผิวเรียบและผิวทราย โดยมีความหยาบของผิวสัมผัสแตกต่างกันออกไป 2.เจล มีความยืดหยุ่นหลากหลาย ขณะที่รูปทรงของซิลิโคน แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะหลัก คือ ทรงกลมและทรงหยดน้ำ

“รูปทรงยังแบ่งได้อีกหลายแบบ กลมมาก กลมน้อย พุ่งมาก พุ่งน้อย แพนเค้กหรือซาลาเปา บางคนใส่ซิลิโคนฐานกว้างแล้วล้นออกข้าง ทำให้ทรงไม่สวย บางรายเหมาะสมกับทรงหยดน้ำเพื่อแก้ไขเติมเต็มเนื้อด้านล่าง หรือช่วยดันเนื้อที่หย่อนคล้อยขึ้นมา เรื่องเหล่านี้เป็นเทคนิคการเลือกซิลิโคน ซึ่งคนไข้แต่ละรายมีความเหมาะสมแตกต่างกันออกไป รวมถึงขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละคน”

เสริมหน้าอก

ความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพหรือความปลอดภัยระหว่างซิลิโคนผิวเรียบและผิวทราย ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของร่างกาย ทั้งภายในและภายนอก อย่างน้ำหนัก ส่วนสูง และสัดส่วนต่างๆ ,คุณภาพของวัสดุอุปกรณ์และเทคนิคความเชี่ยวชาญในการศัลยกรรมของแพทย์     

“ไม่มีรุ่นที่ดีที่สุด มีแต่รุ่นที่เหมาะสมที่สุด”

IMG_7435.jpg

เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgery หรือ ISAPS) ได้เปิดเผยรายงานศัลยกรรมตกแต่งเสริมสวยระดับโลกสำหรับปี 2017 พบว่า มีผู้เข้ารับการศัลยกรรมตกแต่งเสริมหน้าอกในเมืองไทยจำนวน 14,614 ครั้ง เป็นอันดับสาม รองจากการตกแต่งเปลือกตา 19,743 ครั้ง และจมูก 21,260 ครั้ง อย่างไรก็ตาม นพ.วิษณุ เห็นว่า ในข้อเท็จจริงอาจมีผู้เข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกมากกว่า 4 หมื่นรายในปีดังกล่าว 

บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 6122561 135141.jpg

อยู่ได้เกิน 10 ปี ไม่มีผลกับมะเร็ง

ความเชื่อที่ว่าซิลิโคนมีอายุการใช้งานเพียงแค่ 10 ปี ถูกทำลายล้างด้วยเทคโนโลยีและคุณภาพที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง     

“หากเรามุงหลังคาบ้านโดยกระเบื้องที่การันตีความแข็งแรง 10 ปี ถ้าไม่แตกไม่รั่ว ไม่เจอภัยพิบัติ เราก็ไม่ต้องซ่อมแซม ซิลิโคนก็เช่นกัน ปัจจุบันมีคุณภาพ สามารถอยู่ได้ยาวนานไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน มันแข็งแรงมาก เอาฆ้อนทุบหรือโยนลงมาจากตึก 2 ชั้นก็ยังไม่แตก ไม่รั่ว”

ศัลยแพทย์ตกแต่งรายนี้ ยืนยันว่า ข่าวซิลิโคนหรือหน้าอกระเบิดเพราะความดันภายในห้องโดยสารบนเครื่องบิน ไม่ใช่เรื่องจริงอย่างแน่นอน เนื่องจากภายในห้องโดยสารมีการปรับระดับความดันที่เหมาะสม ขณะเดียวกันยังสามารถดำน้ำหรือเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อการปะทะได้อย่างเป็นปกติ 

‘ระเบิด’ นั้นเป็นไปไม่ได้ แต่มีโอกาสรั่วซึม ซึ่งมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดในการใส่ซิลิโคน จนนำไปสู่การเสียดสี พังผืดรัด ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยการปรับเปลี่ยนซิลิโคน และป้องกันได้ด้วยการติดตามดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง 

“เหมือนเราซื้อรถยนต์สุดหรู คุณภาพยอดเยี่ยมที่สุด ก็จำเป็นต้องดูแล มีการติดตามหลังการขาย”

คุณหมอแนะนำว่า หลังการผ่าตัด 1-2 สัปดาห์แรก คนไข้จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ จากนั้นให้พบทุก 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน ซึ่งถือเป็นช่วงติดตามการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ระยะต่อไปควรพบแพทย์ทุกปีหรือปีเว้นปี หากมีความผิดปกติจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากศัลยกรรมโดยแพทย์ วัสดุอุปกรณ์และสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน โอกาสในการปรับแก้เต้านมก่อนระยะเวลา 10 ปีนั้นน้อยมาก โดยที่ผ่านมาแม้จะไม่มีการเก็บสถิติ แต่ นพ.วิษณุ เชื่อว่ามีจำนวนต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์

“ควรสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ เจ็บหน้าอก ผิวหนังแดง คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณเต้านม ต่อมน้ำเหลือง รักแร้หรือต้นคอ เต้านมมีรูปทรงผิดแปลก งอบิดเบี้ยว หัวนมย้อย ทั้งหมดนี้ควรพบแพทย์” เขาบอกและว่าปัญหาส่วนใหญ่ของคนไข้คือ พังผืดหดรัดและหลายเคสที่ต้องการปรับขนาดให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง 

เสริมหน้าอก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีข้อสรุปแล้วว่าการศัลยกรรมเสริมเต้านม ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านมตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูล โดยพบว่าผู้ที่เสริมเต้านมกับผู้ที่ไม่ได้ทำ มีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมไม่ต่างกัน มากไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่า การเสริมเต้านมยังส่งผลให้คนไข้หลายรายหันมาดูแลใส่ใจตัวเองและตรวจพบเจอมะเร็งได้รวดเร็วขึ้นด้วยซ้ำ

สำหรับการให้นมบุตร หากใช้เทคนิคการผ่าตัดโดยใส่ซิลิโคนผ่านฐานเต้านมหรือใต้กล้ามเนื้อ จะไม่มีผลกระทบต่อการให้นมบุตร

“หากผ่าตัดบริเวณรอบหัวนม โดยลดขนาดฐานลานนม อาจทำให้ต้องตัดท่อน้ำนมบางส่วนออกไป ซึ่งมีผลต่อการให้นมบุตรได้น้อยลง ฉะนั้นผู้หญิงที่อายุน้อยหรือวางแผนจะมีบุตร แพทย์มักแนะนำให้เลือกมีบาดแผลบริเวณอื่น”


สาวไทยชอบขนาดใหญ่มากขึ้น

ปัจจุบันผู้เสริมหน้าอกมีแนวโน้มความต้องการขนาดที่ใหญ่ขึ้น เฉลี่ย 300-350 ซีซี หากเทียบกับเมื่อ 10-20 ปีก่อน ที่ขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 200-250 ซีซี อย่างไรก็ดี การศัลยกรรมจำเป็นต้องคำนึงถึงสรีระ ไม่ใช่เพียงแค่ความพอใจของคนไข้เพียงอย่างเดียว

“ดูเพื่อนมา เห็นดาราทำแล้วอยากเอาอย่าง มันไม่ใช่ ความหนาของผิวและเนื้อเต้านมไม่เหมือนกัน อย่าลืมว่า ยิ่งใส่ใหญ่ ปัญหาในอนาคตอาจเพิ่มมากขึ้น ขนาด 200 ซีซี โอกาสเกิดพังผืด เป็นริ้วและหย่อนคล้อยในอนาคตก็น้อย เพราะร่างกายไม่ต้องรับน้ำหนักมาก ฉะนั้นความใหญ่ไม่ใช่เรื่องดี ต้องมีความเหมาะสม” นพ.วิษณุที่เชื่อว่าค่านิยมยิ่งใหญ่ยิ่งดีเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำมนุษย์มีเสน่ห์และมีคุณค่ามากขึ้น

ทั้งนี้ การเสริมหน้าอกด้วยการฉีดสารแปลกปลอมเข้าไปภายในร่างกาย ถือเป็นสิ่งอันตราย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมการไหลเวียนของสารดังกล่าวได้

“บางคนไหลลงมาที่หน้าท้อง ไหลไปที่หัวหน่าว ต้นขา หรืออวัยวะเพศ บางคนถึงกับต้องตัดเต้านมทิ้ง”

เสริมหน้าอก

รอบคอบก่อนอัปไซส์

ต่อไปนี้คือปัจจัย 4 ข้อที่ทุกคนควรตระหนักก่อนอัปไซส์ตามคำแนะของ นพ.วิษณุ ศัลยแพทย์ตกแต่ง

1. เลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานปลอดภัย เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ฉุกเฉินช่วยชีวิต มีประวัติที่ดีและความน่าเชื่อถือในการรักษา ไม่ใช่ประเภทผ่านไป 3 เดือน 6 เดือนแล้วย้ายที่ตั้งหรือปิดหนี

2. ศัลเเพทย์ตกแต่งต้องเชื่อถือได้ ผ่านการฝึกอบรมและเป็นผู้เชี่ยวชาญ ปัจจุบันสามารถเช็กข้อมูลได้จากฐานข้อมูลของเเพทยสภา หรือราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย

3. เลือกอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย ตรวจสอบ Serial number ของซิลิโคนทั้ง 2 ใบ ต้องเป็นเลขเดียวกัน ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัด ควรจะเก็บบัตรซิลิโคนไว้ เพราะถือเป็นหลักฐานประกันคุณภาพ เผื่อวันข้างหน้าเกิดซิลิโคนมีปัญหา ทางบริษัทผู้ผลิตสามารถตรวจสอบได้ถึงปัญหา และใช้รับประกันได้  

4. คำนึงถึงเทคนิคการผ่าตัดและความเหมาะสมของร่างกายตนเอง

สำหรับผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก คือผู้ที่สูบบุหรี่อย่างเป็นประจำ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มของโรคเลือด มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ต้องรับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์หรือกลุ่มภูมิแพ้เป็นประจำ

“สูบบุหรี่อาจทำให้เกิดแ���ลเป็นนูน มีผลต่อการเกิดพังผืด ภูมิคุ้มกันไม่ดีหรือใช้สเตียรอยด์ อาจมีโอกาสติดเชื้อ มีพังผืดหรือมีเนื้อตายรอบๆ ถุงเต้านมได้ง่าย อีกกลุ่มที่ไม่ควรเสริมเต้านมคือ พวกที่มีความคาดหวังไม่ตรงกับความจริง เช่น มีเต้านมหย่อนคล้อย แต่ดันยอมรับไม่ได้กับแผลบางตำแหน่ง หรือคนรูปร่างผอมบาง หนังติดกระดูก เห็นซี่โครง แต่ต้องการเสริมขนาด 600 ซีซี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ความเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ ขืนทำไปวันนี้ วันหน้าก็เกิดปัญหา” เขาทิ้งท้าย

IMG_7396.jpg


วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog