ไม่พบผลการค้นหา
สภาท้องถิ่นในรัฐฮาวายของสหรัฐฯ มีมติรับรองร่างกฎหมายห้ามใช้สาร 'อ็อกซิเบนโซน' ผสมครีมกันแดด หลังผลวิจัยบ่งชี้ว่าสารดังกล่าวทำให้ปะการังฟอกขาวได้

ไมค์ แก็บบาร์ด ส.ว.รัฐฮาวาย สังกัดพรรคเดโมแครต เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายห้ามใช้สารกันแดดอ็อกซีเบนโซน หรือเบนโซฟิโนน-3 (BP-3) ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญของผลิตภัณฑ์กันแดดหลายชนิดในท้องตลาดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีในแดดได้สูงถึง SPF 50 โดยอ้างอิงงานวิจัยผลกระทบของสาร BP-3 ที่มีต่อปะการัง จัดทำโดยคณะนักวิทยาศาสตร์และนักเคมีชาวอเมริกันที่เผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค.2558

ผลวิจัยดังกล่าวพบหลักฐานบ่งชี้ว่าสาร BP-3 มีผลให้ตัวอ่อนปะการังหยุดเติบโต และส่งผลให้ปะการังที่โตเต็มที่มีภาวะฟอกขาว โดยเป็นการทดสอบในห้องทดลอง และคำนวณปริมาณนักท่องเที่ยวที่ไปยังชายทะเลในรัฐฮาวายแต่ละปี เทียบกับปริมาณสารกันแดดที่แต่ละคนน่าจะใช้ ทำให้ประเมินได้คร่าวๆ ว่า แต่ละปีจะมีสาร BP-3 ประมาณ 14,000 ตันปนเปื้อนไปกับน้ำทะเล

เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส์ สื่อธุรกิจของสหรัฐฯ รายงานด้วยว่าสาร BP-3 เป็นส่วนผสมที่พบในครีมกันแดดหลายยี่ห้อซึ่งเป็นที่นิยม รวมถึงยี่ห้อคอปเปอร์โทนและยี่ห้อบานานาโบ๊ท และกฎหมายห้ามใช้สาร BP-3 จะส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตครีมกันแดดเหล่านี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง ทำให้ผู้ผลิตครีมกันแดด รวมถึงบริษัทผู้ผลิตยาและสินค้าอุปโภครายใหญ่อย่าง Bayer ออกมาคัดค้านกฎหมายฉบับนี้

ส.ว.แก็บบาร์ดย้ำว่า สิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเปราะบาง จึงต้องระวังไม่ให้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีโดยไม่จำเป็น การออกกฎหมายห้ามใช้ BP-3 ของรัฐฮาวายถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่เข้มงวดในเรื่องดังกล่าว และจะเป็นการสร้างมาตรฐานให้ทั่วทั้งโลกดำเนินตาม ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของ BP-3 ก็ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ แต่การซื้อหรือใช้งานจะต้องมีใบรับรองจากแพทย์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

ปะการัง-เต่า-ดำน้ำ-ทะเล-ใต้ทะเล-สิ่งแวดล้อม

ส่วนเดอะวอชิงตันโพสต์รายงานว่า ถ้าหาก เดวิด อิเก ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ลงนามรับรองกฎหมายดังกล่าว จะทำให้คำสั่งห้ามใช้สาร BP-3 ในครีมกันแดดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป หรืออีกราว 3 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการให้เวลาแก่ผู้ผลิตครีมกันแดดให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนสูตรของผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้ไม่มีส่วนผสมของสารกันแดดต้องห้าม

อย่างไรก็ตาม สภาการแพทย์แห่งรัฐฮาวายเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎหมายดังกล่าว โดยสภาฯ ต้องการให้ตรวจสอบงานวิจัยที่ใช้อ้างอิงในการออกกฎหมายเพิ่มเติม เพราะรายงานดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจทานจากผู้เชี่ยวชาญรายอื่น

สภาการแพทย์ฯ ระบุด้วยว่าในปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้รับผลกระทบจากมลพิษ กรด และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน จึงสรุปได้ไม่ชัดเจนว่าสารเคมีในครีมกันแดดจะเป็นตัวการหลักที่ทำให้ปะการังฟอกขาวจริงหรือไม่ แต่ถ้าประชาชนไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงๆ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้นอย่างแน่นอน

เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานอ้างอิงข้อมูลของสถาบันสมิธโซเนียนเพิ่มเติม พบว่าแนวปะการังเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ จึงเป็นแหล่งผลิตอาหารและยา รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานของคนในท้องถิ่น ทำให้เกิดรายได้แก่รัฐปีละ 30,000 - 172,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: