แม้ว่า 'พลเอกประยุทธ์' ประกาศลั่นว่าภายใต้การบริหารของคสช. ต้องปราศจากการคอร์รัปชั่นไม่ซ้ำรอยในอดีต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปี จากคนในรัฐบาลกลับสวนทางคำประกาศที่ถูกตั้งคำถามว่าเข้ามา 'ปราบโกง' จริงหรือ
ด้วยสโลแกน 'คืนความสุข' ของคสช. เริ่มคลายมนต์สะกดผู้คน เมื่อเหล่าคนใกล้ชิดหรือแม้แต่ตัวของพลเอกประยุทธ์ ล้วนมีรายชื่อปรากฎในหน้าสื่อหลังการถูกร้องเรียนพฤติกรรมส่อทุจริต ที่คนในสังคมมองตรงกันว่าไม่ชอบมาพากล อีกทั้งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หากจะทำการตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการรัฐในยุคนี้
เปิดปูมคดี 'บิ๊กทหาร' ผ่านเครื่องซักฟอกป.ป.ช.
'วอยซ์ออนไลน์' ได้รวบรวมคดีความที่เกี่ยวโยงกับคนในรัฐบาลยุคคสช. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า คดีใหญ่ๆประมาณ 9 คดี ที่สังคมให้ความสนใจและตั้งคำถามถึงบรรทัดฐานของการตรวจสอบเมื่อเทียบกับคดีของนักการเมืองจาการเลือกตั้ง
คดีประวิตร 'ทัวร์ฮาวายไม่ผิด-นาฬิกาหรูอยู่ระหว่างตรวจสอบ'
เริ่มที่พี่ใหญ่คสช. 'พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ' ว่าด้วยคดีร้อนเรื่องบัญชีทรัพย์สิน ที่โลกโซเชียลขุดรูปนาฬิกาหรูและแหวนเพชร ซึ่งพบว่าทรัพย์สินทั้งหมดกลับไม่ปรากฎในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ได้รายงานไว้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2557 โดยล่าสุดอยู่ที่ 17 เรือน ซึ่งมูลค่ารวมทั้งหมดทะลุ 30 ล้านบาท และอยู่ระหว่างคณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบการครอบครอง ขณะที่คดีเช่าเหมาลำเครื่องบิน ไปทัวร์ฮาวายของคณะพลเอกประวิตร โดยใช้งบประมาณกว่า 20 ล้าน ป.ป.ช. มีมติตีตกไปเนื่องจากไม่ผิดระเบียบ
คดี อนุพงษ์ 'ซื้อเรือเหาะไม่พบทุจริต-จีที 200กำลังแปลเอกสาร'
อีกหนึ่งคนที่ขาดไม่ได้เลยคือ 'บิ๊กป๊อก' พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตผู้บัญชาการทหารบก ที่ถูกยื่นตรวจสอบกรณีมหากาพย์ 'เรือเหาะ' มูลค่า 350 ล้านบาท โดยมีเสียงครหาว่าไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป เนื่องจากตลอด ระยะเวลาประจำการ 8 ปี มักเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติการ จนต้องจอดเก็บในโรงจอดจนหมดวาระประจำการ แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการป.ป.ช.เคยตรวจสอบแล้วแต่กลับไม่พบการทุจริต ในการจัดซื้อ
นอกจากนี้ ยังมีกรณี 'บิ๊กป๊อก' จัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ที่เพิ่งแปลเอกสารเสร็จ และคดีเซ็นอนุมัติที่ดินสาธารณะป่าห้วยเม็ก ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน
คดี 'บิ๊กติ๊ก' ตั้งบริษัทในค่ายทหาร-คฤหาสน์หรู ไม่มีความผิด
ขยับมาที่ 'บิ๊กติ๊ก' พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายนายกรัฐมนตรี ที่เจอมรสุมข่าวฉาวเช่นเดียวกับบิ๊กทหาร ที่ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไรมักตกเป็นข่าวเสมอ แม้แต่การสร้างฝายของภรรยา ยังเล่นเอาบิ๊กติ๊กกุมขมับเลยทีเดียว ซึ่งรายนี้ถือว่าหนักพอสมควรแต่ก็รอดทุกครั้ง ทั้งกรณีลูกชายเปิดบริษัทในค่ายทหาร โดดประชุมสนช.ขาดการลงมติ 1 ใน 3 ก็ไม่ผิดจริยธรรม รวมถึงปลูกบ้านคฤหาสน์หรู ป.ป.ช.มีมติยกคำร้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เข้าข่ายความผิด ขณะที่ตั้งลูกชายรับราชการ ป.ป.ช.ก็มีมติไม่รับตรวจสอบ โดยโยนไปที่กลาโหมพิจารณาแทน
คดี อุดมเดช อุทยานราชภักดิ์ ไม่พบความผิดปกติ
นอกจากนี้ยังมีอีกคดีดังที่คณะกรรมป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง นั้นคือกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือพลเอกอุดมเดช สีตบุตร อดีตรัฐมนตรีช่วยกลาโหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) ภายหลังการลงมติทำให้ทุกอย่างที่สังคมสงสัยเรื่องหักหัวคิวหรือการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษหยุดลงทันที ในเมื่อตรวจสอบแล้ว "ไม่พบความผิดปกติของการดำเนินการโครงการดังกล่าว"
การบริหารตลอดระยะเวลา 3 ปี ของรัฐบาลคสช.ที่ประกาศมาเพื่อขจัด 'ปัญหาโกงบ้านโกงเมือง' แต่หากมองย้อนกลับมาดูในปัจจุบันพบ'ความโปร่งใส'ที่อ้่างไว้แต่แรกไม่ได้เกิดขึ้นจริง