งานประกาศผลรางวัลสถาบันศิลปะภาพยนตร์และโทรทัศน์บริติช หรือ BAFTA Awards ครั้งที่ 71 เมื่อคืนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่เหล่าคนในวงการบันเทิงร่วมกันแสดงจุดยืนต่อต้านการคุกคามทางเพศด้วยการพร้อมใจกันสวมชุดดำ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำเมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าการประกาศผล BAFTA นักแสดงและนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมในอังกฤษ ยังได้ร่วมกันประกาศตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือทางการเงินและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศและต้องการฟ้องร้องผู้กระทำผิด เช่นเดียวกับที่ฟากฝั่งฮอลลีวูดตั้งแคมเปญ Time's Up เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศ
ในงานนี้ เหล่านักแสดงเกือบทั้งหมดพร้อมใจกันแต่งกายในชุดสีดำ ไม่ว่าจะเป็นแองเจลินา โจลี, ซัลมา ฮาเย็ค, ออคทาเวีย สเปนเซอร์, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, นาโอมิ แฮร์ริส ขณะที่นักแสดงชายบางคนก็ติดเข็มกลัด Time's Up เพื่อร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการคุกคามทางเพศเช่นกัน
ลูพิตา นยองโก นักแสดงจากภาพยนตร์ Black Panther สวมชุดสีดำขลิบเงินจากคอลเล็กชันกูตูร์ของเอลิ ซาบ
เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ นักแสดงชาวอเมริกัน มาในชุดที่เรียบหรูจากแบรนด์ดิออร์
แองเจลินา โจลี สวมชุดกำมะหยี่สีดำสนิทจากราลฟ์ แอนด์ รุสโซ ภาพยนตร์ First They Killed My Father ที่เธอกำกับและร่วมเขียนบท ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำ BAFTA ปีนี้
แกรี โอลด์แมน นักแสดงผู้ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Darkest Hour ภาพยนตร์ชีวประวัติของเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ติดเข็มกลัด Time's Up
อย่างไรก็ตาม มีผู้ร่วมงานอีกบางส่วนที่ไม่ได้แต่งกายในชุดสีดำด้วยเหตุผลต่างๆกันไป และผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในเรื่องนี้ก็คือดัชเชสแคทเธอรีนแห่งเคมบริดจ์ พระชายาของเจ้าชายวิลเลียม รัชทายาทลำดับที่ 2 แห่งอังกฤษ ที่ทรงปรากฏพระองค์ในฉลองพระองค์สีเขียวเข้มคาดดำ ทำให้ในโซเชียลมีเดียเกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่าเหตุใดราชวงศ์จึงไม่ร่วมแสดงจุดยืนต่อประเด็นที่เป็นสากลอย่างการต่อต้านการคุกคามทางเพศ
สื่ออังกฤษหลายฉบับรายงานว่าอันที่จริงแล้วดัชเชสแคทเธอรีนทรงไม่สามารถร่วมแสดงออกในเรื่องนี้ได้ แม้จะทรงปรารถนาก็ตาม หนังสือพิมพ์ The Telegraph ของอังกฤษอธิบายว่าดัชเชสแคทเธอรีนทรงเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการเสด็จร่วมงาน BAFTA ปีนี้ เนื่องจากตามปกติ ราชวงศ์อังกฤษไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงจุดยืนทางการเมืองใดๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะในงานสาธารณะเช่นนี้ แต่หากไม่ทรงฉลองพระองค์สีดำ ก็อาจเสี่ยงที่จะกลายเป็นสตรีคนเดียวในงานที่แต่งกายแบบมีสีสัน และต้องถูกวิจารณ์ว่าไม่ยอมแสดงจุดยืนร่วมกับเหล่านักแสดงอังกฤษในประเด็นที่กำลังเป็นกระแสทั่วโลกอย่างการคุกคามทางเพศ
ด้วยเหตุนี้ ดัชเชสแคทเธอรีนจึงทรงเลือกฉลองพระองค์สีเขียวเข้มเกือบดำ คาดบั้นพระองค์ด้วยกำมะหยี่ดำ ซึ่งฉลองพระองค์ดังกล่าวมองในแสงที่ไม่สว่างมากนัก จะดูเป็นสีดำได้เช่นกัน เท่ากับว่าทรงแสดงออกว่าสนับสนุนขบวนการต่อต้านการคุกคามทางเพศแบบอ้อมๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการแสดงออกถึงการต่อต้านการคุกคามทางเพศ ไม่ควรถูกมองว่าเป็นการแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ต่างกับการรณรงค์เพื่อผู้ป่วย HIV หรือการต่อต้านความยากจน การที่ดัชเชสแคทเธอรีนทรงระมัดะวังที่จะไม่แสดงออกในเรื่องนี้ จึงถูกมองว่าเป็นการระวังพระองค์เกินไปจนพลาดที่จะร่วมกระแสที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ