ไม่พบผลการค้นหา
ศาลปกครองสูงสุด สั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จ่ายค่าสินไหมทดแทน คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร ปี 2551 ขณะที่ 'คดีอภิชาติ' ชูป้าย 'ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน' เมื่อปี 2557 ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษาเป็นครั้งที่ 3

ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา คดีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จำนวน 250 คน ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานนายกรัฐมนตรี กรณีสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อปี 2551 ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยศาลพิเคราะห์ว่า สตช. เป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก้ผู้ฟ้องร้องจำนวน 254 ราย โดยแก้ให้ลดลงจากที่ศาลปกครองกลางกำหนด ร้อยละ 20 เนื่องจากการชุมนุมบางส่วนมีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงกลัว ซึ่งเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว โดยจากเดิมที่ศาลปกครองกลางให้ชดใช้ตั้งแต่จำนวน 8,900-5,190,964.80 บาท ลดลงเหลือ 7,120-4,152,771.84 บาท

ส่วนสำนักนายกรัฐมนตรี ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการประชุมแถลงนโยบายที่รัฐสภาเป็นไปตามปกติ หากเกิดเหตุความไม่สงบเรียบร้อย อีกทั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการสลายการชุมนุม จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้ได้รับความเสียหาย

ศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา 'คดีอภิชาต พงษ์สวัสดิ์' ชูป้ายค้านรัฐประหารปี 57 เหตุคดีซับซ้อน

ศาลแขวงปทุมวัน เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นครั้งที่ 3 คดีจ่าสิบเอกอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ถูกฟ้องตามความผิดประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง และชุมนุมมั่วสุม ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง หลังศาลพิเคราะห์ว่าคดีมีความซับซ้อน เลื่อนฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 โดยก่อนหน้านี้ศาลได้เลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 สิงหาคม 2560 และครั้งที่สองวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560

โดยคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากภายหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีกลุ่มประชาชนรวมถึงจ่าสิบเอกอภิชาต ได้ออกมาจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อคัดค้านการรัฐประหาร บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตปทุมวัน โดยจ่าสิบเอกอภิชาต ได้ชูป้ายข้อความว่า “ไม่ยอมรับอำนาจเถื่อน” และในช่วงค่ำของวันนั้นเอง เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าเคลียร์พื้นที่และสลายกลุ่มประชาชน นายอภิชาติถูกทหารจับกุมและถูกนำตัวไปควบคุมไว้ภายใต้อำนาจของกฎอัยการศึก 7 วัน

ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2558 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องนายอภิชาต ในความผิดฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2557 ชุมนุมมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามหน้าที่ตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันควร ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก มาตรา 216 และมาตรา 368