ก่อนเกิดประเด็นร้อนโต้เถียงกันพักใหญ่ ถึงมาตรการ 'รีเซ็ต' กสม. ว่า ไม่น่าจะเกี่ยวกับการถูกลดชั้น อันเกิดจากผลของ กสม.ชุดเก่าที่ ไม่อาจตอบรับต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงได้อย่างเท่าทัน ผ่านการจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิอย่างล่าช้า
ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มนปช.ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย หรือเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มกปปส. ในปลายปี 2556 ที่เกิดความรุนแรงจนนำไปสู่การขัดขวางการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ บรรดานักสิทธิมนุษยชนต่างยังแสดงข้อห่วงกังวลต่อการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของ กสม. ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับ2560 ว่า นำไปสู่การถดถอยของประเทศไทย จากการตัดอำนาจที่เคยถูกมองว่า ก้าวหน้า ในรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ที่เคยเปิดโอกาสให้ กสม.สามารถฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ได้
ขณะเดียวกัน กรธ. กลับเพิ่มหน้าที่ให้ กสม.ต้องคอยชี้แจงประเด็นสิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ เมื่อมีการรายงานสถานสิทธิในไทยที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นธรรม ทำให้เกิดคำถามว่า หน้าที่เช่นนี้ จะช่วยส่งเสริมและคุ้มครอง สิทธิมนุษยชนไทยได้อย่างไร ในเมื่อ กสม.ถูกสร้างให้เสมือน 'โฆษกรัฐบาล' คอยแก้ต่างต่อเหตุการณ์ด้านสิทธิที่เกิดขึ้น
ล่าสุด คณะกรรมการสรรหา กสม. ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ถึงคิวเคาะ 7 ว่าที่ กสม. ชุดใหม่ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตั้ง กมธ.สอบประวัติและความประพฤติฯ 7 ผู้ได้รับการเสนอชื่อ ก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง เพื่อลงตรายางประทับรายบุคคลว่าเห็นชอบหรือไม่
ขณะเดียวกันมีการตั้งข้อสังเกตต่อว่าที่ กสม. ชุดใหม่แล้วในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนจากเอ็นจีโอเข้ามามากเกินไป ไร้ตัวแทนจากสายศาล หลายรายก็เคยร่วมชุมนุมกับ กปปส.
ต่อไปนี้ คือส่วนหนึ่งในรายงาน การพิจารณาสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กสม. ของคณะกรรมการสรรหา เพื่อทำความรู้จัก 7 ว่าที่กสม. ผ่านวิสัยทัศน์ มุมอง บางท่อนบางตอน ที่ให้ไว้ตอนสัมภาษณ์ ดังนี้
นางสมศรี หาญอนันสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน ได้ 7 คะแนน ในรอบแรก
"ดิฉันยังมองว่าเงื่อนไขของการปฏิรูปประเทศไทยทั้ง 11 ด้าน เป็นสิ่งที่น่าให้การสนับสนุนพร้อมผลักดัน ในส่วนที่ กสม.เข้าไปช่วยเหลือหรือออกกฎหมายใหม่ๆ ที่ให้การปกป้องคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริง ดิฉันได้ทำเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนดีขึ้น
"ลำดับต่อมาคงจะพูดถึงเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ในมุมมองของดิฉันคือโอกาส ที่จะทำให้ กสม.ช่วยส่งเสริมรัฐบาลบริหารประเทศไทย โดยคำนึงถึงภาพพจน์ที่กำลังจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยดีขึ้นหรือไม่"
"เราต้องพยายามยกเลิกวัฒนธรรมเก่าๆ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ล้าหลัง เช่น การซ้อมทรมาน การอุ้มหาย และการจับแพะผู้บริสุทธิ์"
"ตัวเองจะมีจุดยืนมั่นคงกับเรื่องนี้ว่า นักสิทธิมนุษยชนต้องไม่เห็นด้วยกับโทษประหารและจำคุกตลอดชีวิต โดยต่อสู้มาเป็นระยะเวลา 30 ปี แต่เราก็สามารถทำงานกับคนที่ยังเห็นด้วยกับโทษประหารได้ เนื่องจากคนไม่เห็นด้วย ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เคารพสิทธิมนุษยชน แต่เพียงความคิดยังต่างกัน ซึ่งต้องทำความเข้าใจในหลายๆมิติ"
นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน ได้ 7 คะแนนในรอบที่สอง
"ยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของกสม.มีอยู่ 3 เรื่องที่สำคัญ ประเด็นแรก การเยียวยาแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ในกระบวนการยุติธรรมที่จะเป็นกลไกสำคัญในการทำให้การดูแลสิทธิมนุษยชนเป็นการดำเนินการได้จริง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกลสำคัญแแรกที่จะดำเนินการแก้ไขเยียวยาหรือคุ้มครองสิทธิ โดยกสม.สามารถเชื่อมโยงกับศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะการละเมิดสิทธิต้องมองเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นที่กสม.ต้องเชื่อมโยงกับผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย"
"ประเด็นที่ 2 ความขัดแย้งตามแนวโน้มที่มีมาตลอดคือ ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย นอกจากความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงแล้ว ระบบโครงการและกิจกรรมก่อให้เกิดผลกระทบจนเกิดปัญหาวิกฤติภัยพิบัติอย่างต่อนเอง"
"ประเด็นที่ 3 ปัญหา 2 กลุ่มคือ ปัญหาผู้สูงอายุ ซึ่งสังคมไทยกำลัจะก้าวเข้าสูสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งปัญหาเด็ก ที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่าต่อเนื่องเตรียมความพร้อม นี่น่าจะเป็นประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างน้อย 3 ปี จะเห็นการเปลี่ยนแปลง"
(จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร)
นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารสวัสดิการสังคม ม.หัวเฉียวฯ ในฐานะผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนระดับอุดมศึกษา ได้ 8 คะแนน ในรอบแรก
"ปีแรก กสม.ต้องมีความชัดเจนเรื่องแผนงาน ตามอำนาจหน้าที่ การทำงานต้องเน้นประสิทธิภาพให้มากขึ้น ทั้งเรื่องการตรวจสอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในส่วนของรายงานต้องใช้เวลาสั้นที่สุด อีกทั้งการเยียวยาของผู้ตกเป็นเหยื่อ แล้วต้องรายงานต่อสาธารณชน การทำงานได้ดีจะมีผลต่อการเลื่อนสถานภาพจาก B เป็น A ได้ ในระยะเวลา 1 ปี ควรทำแผนให้ชัดเจน และปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม"
"ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า กสม.กลายเป็นโฆษกรัฐบาลทั้งที่ตามหลักการ กสม.ควรทำงานอิสระตามหลักการปารีส แต่ผมคิดว่า การเขียนหน้าที่และอำนาจข้อนี้ไม่เป็นไร และไม่ได้เสียหาย กสม.จะทำหรือไม่ขึ้นกับความจริงที่เกิดขึ้น ถ้ามีรายงานสถานการณ์จากต่างประเทศแล้วผิดไปจากข้อเท็จจริง ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของ กสม.ที่ควรชี้แจง ไม่ควรปล่อยปละละเลยสิ่งที่ไม่เป็นจริงปรากฎในระดับสากล"
นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ในฐานะผู้มีความรู้ด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ ได้ 7 คะแนนในรอบแรก
"ภารกิจเร่งด่วนที่คิดว่าจำเป็นที่ กสม.ต้องต้องฟื้นฟูให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น กสม. กลับคืนมา เพราะในสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่ว่า กสม. คณะไหน ก็จะประสบปัญหายุ่งยากในเรื่องของภาครัฐ ในเรื่องของความโน้มเอียงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์"
"ที่สำคัญ กสม.ถูกลดระดับเป็น B ภารกิจในการกอบกู้ศักดิ์ศรีของ กสม.กลับคืนสู่ระดับ A ให้เป็นแถวหน้าของภารกิจด้านสิทธิมนุษยชน ในภูมิภาคนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งต้องปรับปรุงภายในพอสมควร โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมว่า สำนึกสิทธิมนุษยชนของสังคมเป็นอย่างไร"
"การถูกปรับลดระดับมีนัยยะสำคัญคือ ประเทศไทยไม่สามารถตั้งคณะผู้แทนนั่งในคณะกรรมการในฐานะสมาชิกสามัญได้ มีสถานะเป็นสมาชิกผู้สังเกตการณ์เท่านั้น ไม่อาจเสนอข้อญัตติต่อที่ประชุมได้ ตรงนี้ทำให้ภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองคนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก"
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐทีเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้ 7 คะแนน ในรอบแรก
"สิ่งสำคัญที่ดำเนินการคือ การให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 2 ฉบับที่เป็นคนผลักดันคือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ล่าสุดทางสภาเห็นชอบลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยคนหายโดยไม่สมัครใจ และตอนนี้รัฐบาลกำลังเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ หากมีโอกาสได้เป็น กสม.จะติดตามเรื่องกฎหมายที่รัฐบาลจะผลักดันอยู่"
"ดูเหมือนว่าแผนสิทธิมนุษยชน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนไทย ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีการขับเคลื่อน แต่จริงๆแล้ว เราประเมินพบว่าดีขึ้น ที่สำคัญคือรัฐบาลรับให้เป็นวาระแห่งชาติด้วยจากแผนสิทธิมนุษยชน"
(พรประไพ กาญจนรินทร์ )
น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐทีเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้ 7 คะแนนในรอบแรก
"ต่างประเทศมองว่า กสม.ต้องมีอิสระ สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเต็มที่ นี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศเขาอาจจะยึดหลักนี้ แต่ในบริบทของไทย แต่ละประเทศจะมีสภาวการณ์ไม่เหมือนกัน ในเมื่อพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. พ.ศ.2560 กำหนดต้องทำหน้าที่ชี้แจง ไม่ใช่เฉพาะทั่วๆไป แต่รัฐบาลในส่วนก็คงต้องทำหน้าที่โดยสุจริตคือ น่าจะต้องพูดในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงได้"
"อยู่ที่วิธีการนำเสนอว่า จะเสนอข้อเท็จจริงอย่างไร ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ ฉะนั้นในส่วนของประเทศไทย อำนาจหน้าที่อาจไม่เหมือนกับของประเทศต่างๆ ต้องคำนึงถึงบริบทในประเทศด้วย แต่ก็เชื่อว่าในฐานที่อยู่ในแวดวงระหว่างประเทศ ก็สามารถพูดข้อเท็จจริงโดยรวม โดยไม่ทำให้แต่ละภาคส่วนเกิดความรู้สึกว่า เราเอนเอียง ไม่ตรงไปตรงมา"
(สุรพงษ์ กองจันทึก)
นายสุรพงษ์ กองจันทึก กรรมการด้านนโยบายด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้มีความรู้และประสบการณ์ ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษณ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ได้ 8 คะแนน ในรอบสอง
"ปัจจุบันเราถูกลดเกรดลงมาจากระดับ A ลงมาเป็น B ขณะเดียวกันเราได้แก้ไขเรื่องการสรรหาซึ่งเป็นจุดอ่อนในครั้งก่อนแล้ว ในคณะกรรมาชุดปัจจุบันนี้ ผมว่าเรื่องของความเป็นอิสระซึ่งอาจจะยังมีปัญหาอยู่ในชุดที่ผ่านมา จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า กสม.ต่อไปต้องมีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง กล้าที่จะเสนอข้อเท็จจริงออกมาให้สังคมทราบโดยเร็ว"