ไม่พบผลการค้นหา
คนไทยในนิวยอร์ก จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนการชุมนุมคณะราษฎร 2563 อ่านแถลงประณามรัฐบาลไทย ขอเลิกรังแกประชาชน ประกาศยืนหยัดเคียงข้างราษฎร หน้าสำนักงานใหญ่ยูเอ็น

กลุ่มคณะราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย (Thai New Yorker For Demorcracy) ซึ่งระบุว่าเป็นกลุ่มประชาชนไทย-อเมริกัน, ชาวนิวยอร์ก วัยทำงานและวัยเรียน รวมตัวกัน (Organic Group) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 เพื่อทำกิจกรรมหน้าพื้นที่สำนักงานใหญ่ด้านหน้า UN บริเวณ 46 street และ 1st Ave. โดยมีการติดตั้งป้ายรณรงค์ชั่วคราว พูดคุยแลกเปลี่ยนการชุมนุมรณรงค์และเรียกร้องประชาธิปไตยในไทย

คณะราษฎรไทย-นิวยอร์คเกอร์ฯ ได้เดินขบวนเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อนุสาวรีย์สันติภาพ Peace monument ที่ RalpheBunche Park - 43 street and 1Ave. บริเวณฝั่งตรงกันข้ามประตูทางเข้าสำนักงานใหญ่ ยูเอ็น บริเวณอนุสาวรีย์มีผู้คนสัญจรทั้งทางรถยนตร์ จักรยานพลุกพล่าน และชาวนิวยอร์คเกอร์ที่สัญจรไปมา เข้ามาพูดคุยทักทายถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย และร่วมเขียนข้อความ สนับสนุน เป็นกำลังใจ ส่งความในใจ ความคิดเห็น ต่อประวัติศาสตร์ ประชาชน และประชาธิปไตย 

คณะราษฎรนิวยอร์กฯ ได้แจกแถลงการณ์ประณามเปิดผนึกต่อผู้สนใจ ชาวนิวยอร์กท้องถิ่นต่างพูดถึงสถานการณ์ที่ขัดขวางการเติบโตของระบอบประชาธิปไตยของไทยในอนาคต 

หลังจากนั้นได้ทำกิจกรรม ‘เดินฝ่าข้ามขวากหนามเผด็จการ’ ไปกลับจากอนุสาวรีย์สันติภาพถึงหน้าสำนักงานใหญ่ยูเอ็น และเชิญชวนผู้ใช้รถใช้ถนนร่วม ‘บีบแตรเพื่อประชาธิปไตยไทย’ (Honk For Thai Demorcracy) หวังให้ได้ยินถึงด้านในยูเอ็น และรัฐบาลไทย

คณะราษฎรนิวยอร์กฯ ได้อ่านแถลงการณ์เปิดผนึกประณามการใช้ความรุนแรงของรัฐในทุกรูปแบบต่อราษฎร ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและรัฐสภาปฏิบัติตามดังนี้

1. ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมสันติวิธี 

2. รับฟังประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ต่อผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง 

3. มีการใช้กฎหมายด้วยความยุติธรรม อย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้กฎหมายรังแกผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง

4. ให้มีการพิจารณารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอีกครั้ง และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากตัวแทนประชาชนทันที เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และผ่อนคลายความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย

ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์จำกัดโควิด-19 ผู้ประสานงานกลุ่มไม่สามารถติดต่อผู้เกี่ยวข้องมารับจดหมายเปิดผนึกได้ จึงส่งอีเมลไปถึงผู้รับผิดชอบพันธกิจร่วมไทย-ยูเอ็นแล้ว และยุติกิจกรรมเวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

ราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย

ต้าร์ ชาวไทย-อเมริกัน อายุ 37 ปี อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกามากว่า 15 ปี ระบุว่า ทุกคนอยากให้ไทยมีประชาธิปไตยและเจริญมากกว่านี้ รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง 

“เด็กๆ หรือใครๆ ที่ออกมาต่อสู้อยู่ตอนนี้ ไม่มีใครอยากทำร้ายประเทศชาติทั้งนั้นแหละค่ะ เขารักชาติถึงได้ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้บ้านเมืองเจริญขึ้น"

"สำหรับมาตรการของรัฐบาลต่อผู้ชุมนุม เป็นการทำเกินกว่าเหตุ เพราะว่าพวกที่ออกมาประท้วง ชุมนุม เขาไม่ได้มีอาวุธ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ถ้าคุณมีอาวุธหรือชุมนุมรุนแรง เขาถึงจะใช้พวกนี้ (ปืนฉีดน้ำความดันแรงสูง กระสุนยาง) มาสลายการชุมนุม บ้านเราเด็ก ๆ ทั้งนั้นและมือเปล่า ฝากถึงที่เมืองไทย สู้ๆ ไปด้วยกัน ทางนี้ก็จะทำทุกวิถีทางที่ช่วยได้"

เจเจ ชาวไทย-อเมริกัน 37 ปี อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา 13 ปี แอดมินกลุ่มคณะราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พวกเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และรัฐบาลไม่ควรกระทำความรุนแรงต่อผู้ที่หวังดีต่อประเทศชาติ 

“การประท้วงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยสงบดี ไม่เหมือนการประท้วงทั่วไปที่เราเคยเห็นว่ารุนแรงและมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บตาย นี่เป็นการชุมนุมที่เรามารวมตัวทำกิจกรรม เป็นไปในทางสร้างสรรค์มากกว่า"

เจเจ กล่าวว่า ทางออกของประเทศไทย คือการตอบรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุม สถาบันพระมหากษัตริย์จะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เป็นหลักสากลที่ประเทศอื่นๆ ทำกัน 

“ถ้าจะอยู่ร่วมกันก็ต้องอยู่ในกฎ กติกาเดียวกัน เพราะเราก็คนเหมือนกัน ไม่มีใครล้มล้างหรอกค่ะ"

"ฝากถึงคณะราษฎรและการชุมนุมที่จะมีขึ้นวันที่ 25 นี้ อยากให้ทุกคนดูแลรักษาตัวให้ดีเพราะเอาเข้าจริงๆ เราไม่เชื่อใจเลยกับรัฐบาลชุดนี้ รู้สึกว่าเป็นอะไรที่คาดการณ์ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้แสดงความรุนแรงอะไรแต่เหมือนกับเขาสร้างความรุนแรงกับเราได้เสมอ  อยากให้ทุกคนมีจุดยืนเดียวกัน ร่วมกันสู้และบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันค่ะ"

ราษฎรไทย-นิวยอร์กเกอร์เพื่อประชาธิปไตย