ในการประชุมสมาคมธรณีวิทยายุโรปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ฟรานเซสโก เบอร์โกลี นักวิจัยจากสถาบัน Delft ของเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า ระบบน้ำสะอาดส่วนใหญ่กำลังถูกคุกคามจากสารเคมีจากยาที่มีความเข้มข้นสูง
ยาจำนวนมากที่ถูกค้นพบในแหล่งน้ำนั้นได้แก่ ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านฮอร์โมน ยาลดกรดในกระเพาะ ยาเหล่านี้ล้วนถูกค้นพบในแหล่งน้ำซึ่งอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า ยาเหล่านี้ล้วนเป็นภัยต่อระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อในร่างกายของสัตว์ เช่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเพศสภาพในสัตว์จำพวกปลา และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ
สหภาพยุโรปและสถาบันปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ประกาศว่า ยาประเภทไดโคลฟีแนค ซึ่งเป็นยาบรรเทาปวดกล้ามเนื้อนั้นเป็นหนึ่งในยาที่เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสัตวแพทย์ใช้ยากลุ่มดังกล่าวในการช่วยยับยั้งการขยายพันธุ์อีแร้งในอินเดีย
ทั้งนี้จากการวิจัยพบว่า มีแม่น้ำทั่วโลกมากกว่า 10,000 กิโลเมตรที่มีการปนเปื้อนสารไดโคลฟีแนคในระดับที่มากกว่า 100 นาโนกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร
"การปล่อยสารไดโคลฟีแนค นั้นคล้ายกับการปล่อยสารเคมีจากยาและสารเคมีจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพอีกหลายพันชนิด" เบอร์โกลีกล่าว
ปัจจุบันทั่วโลกมีการใช้ยาไดโคลฟีแนคกว่า 2,400 ตันต่อปี จำนวนสารไดโคลฟีแนคประมาณ 2-300 ตันเท่านั้นที่มีการสะสมอยู่ในร่างกายของมนุษย์ และมีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกกรองโดยพืช อีกกว่า 20 เปอร์เซ็นต์นั้นจะถูกดูดซึมอยู่ในระบบนิเวศ และที่เหลือจะถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทร
ทั้งนี้ทางทีมวิจัยของเบอร์โกลีพบว่า จุดที่พบสารไดโคลฟีแนคมากที่สุดนั้นอยู่ในทวีปละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีเทคโนโลยีที่สามารถกรองสารเคมีจากยาได้มีประสิทธิภาพ
"เราพบแหล่งมลพิษทางน้ำในแม่น้ำทั่วโลกเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2010 มลพิษทางน้ำที่ก่อให้เกิดน้ำเสียนั้นได้กระจายไปยังแม่น้ำสายต่างๆทั่วโลกทั้งหมด" มารีน่า สโตรคัล นักวิทยาศาสตร์และวิจัยจากเนเธอร์แลนด์กล่าว
รายงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติกล่าวว่า ยาปฏิชีวนะและขยะสารเคมีเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียให้เกิดการดื้อยา