ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ชี้แจงกรณีราคามะพร้าวตกต่ำในประเทศ อาจมาจากการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อน ประสานกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบและปราบปรามการลักลอบนำเข้าแล้ว

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำว่า กรณีการกำหนดราคากลางมะพร้าวไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการค้าต่างประเทศ สำหรับประเด็นชะลอการนำเข้ามะพร้าว (มะพร้าวผล น้ำกะทิ และมะพร้าวขาวแช่แข็ง) จากต่างประเทศนั้น กรมการค้าต่างประเทศตระหนักและรับทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง แต่หากใช้มาตรการห้ามนำเข้า จะเป็นการขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ดังนั้น ในชั้นนี้เห็นว่าสามารถพิจารณานำมาตรการที่มิใช่ภาษีเข้ามาใช้ในการชะลอการนำเข้าได้

สำหรับการทบทวนระเบียบการนำเข้า ที่ต้องการให้มีแต่อุตสาหกรรมน้ำกะทิเป็นผู้นำเข้าและต้องแนบข้อมูลการนำเข้าย้อนหลัง 2 ปีนั้น นายอดุลย์ เปิดเผยว่า เรื่องนี้กรมการค้าต่างประเทศจะส่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช หยิบยกเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธินำเข้าและเกณฑ์การออกหนังสือรับรองต่อไป 

ส่วนประเด็นบทลงโทษผู้กระทำผิดเงื่อนไขการนำเข้า กรมการค้าต่างประเทศจะส่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช หยิบยกเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดบทลงโทษต่อไป

“ที่ผ่านมาได้กวดขันการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้ประสานกรมศุลกากรเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 เพื่อเข้มงวดตรวจสอบ ปราบปรามการลักลอบนำเข้ามะพร้าวเถื่อน มิให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตมะพร้าวในประเทศ” นายอดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ จากสถิติของกรมศุลกากร การนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค. – ส.ค.) ปรากฎว่ามีการนำเข้าปริมาณ 195,303 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 27.03 (ปีก่อนหน้า 268,672 ตัน) จากสถิติดังกล่าวจะเห็นว่าการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวกลับเดือดร้อนจากการประสบปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่ามะพร้าวที่สร้างความเดือดร้อนอยู่ในท้องตลาดนี้ อาจมีแหล่งที่มาไม่ถูกต้อง ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรเร่งกวดขันต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง