ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ออนไลน์ สัมภาษณ์อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ ผู้มีข้อเสนอดึงการเมืองกลับสู่สังคม โดยเชื่อว่าความสร้างสรรค์ จะทำให้คนไม่หันเหออกจากแนวทางประชาธิปไตย

แม้ยังไม่มีชื่อพรรค และยังไม่ได้เปิดตัวสมาชิกพรรค แต่ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่เปิดตัวพร้อมๆ กับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจประกาศสร้างพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ก็ถูกจับตาในฐานะที่เป็นสีสันที่ดึงดูดผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโซเชียลมีเดีย

มีคีย์เวิร์ดหลายๆ คำในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งปิยบุตรพูดย้ำๆ บ่อยๆ นั่นคือ โอกาส วิกฤต และคนรุ่นใหม่ เราจึงชวนเขามาอธิบายอีกครั้ง ว่าความหวังใหม่ๆ ที่เขาพูดย้ำๆ นั้น มันแปรเป็นรูปธรรมอย่างไร และเขาเตรียมใจไว้แค่ไหน หากต้องเลอะเทอะไปกับเกมการเมืองในระบบ ที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเปลี่ยนผ่านให้สร้างสรรค์

ตัวคุณเอง พูดย้ำบ่อยๆ ว่าเราสูญเสียไปมากแล้วจากช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่าน บอกได้ไหมว่าทศวรรษที่ผ่านมาเราสูญเสียอะไรไปบ้าง

ในแง่หนึ่งคือโอกาส โอกาสที่หายไป ต้องไม่ลืมว่าเวลา 10 กว่าปี จริงๆ มันน่าจะบวกมากกว่านั้นอีกเพราะว่าในขณะที่เราหยุด ที่อื่นก็จะเดิน โอกาสที่หายไปก็คือโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และโอกาสในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพราะคุณตกอยู่ในกับดักความขัดแย้งซึ่งกลายเป็นวิกฤต คือคุณเสียสมองไปกับเรื่องนี้ แทนที่จะไปใช้สมองในแง่ของครีเอทีฟ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ

เข้าใจว่านักเศรษฐศาสตร์ประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ในแง่ความรู้สึกทั่วไป ผู้คนในสังคมคงประเมินได้ว่าสิบกว่าปีนี้รู้สึกว่าอะไรหายไป

ลองนับกันง่ายๆ ปี 2548 กับ 2561 คุณรู้สึกว่าทำไมมันยังวนกลับมาที่เดิม

พรรคของคนรุ่นใหม่ตอบสนองหรือชดเชยโอกาสที่เสียไปได้จริงหรือเปล่า

ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อไป หลายๆ คนเขาไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งชุดนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สูญหายไปมันเป็นภาระต้นทุนของเขา มันเป็นความชอบธรรมที่สุดที่เขาจะบอกว่า พอกันทีเรื่องแบบนี้ แล้วเขาจะขอกำหนดอนาคตใหม่ ทวงคืนอนาคตกลับมาใหม่ ในแง่นี้เขามีความชอบธรรมที่สุด เขาจะต้องมีแรงผลักดันมากที่สุดที่จะตัดสินใจว่าเรื่องแบบนี้ต้องยุติลง หาทางออกให้ได้ แล้วไปกำหนดอนาคต ว่าอนาคตของประเทศ อนาคตของสังคมที่เขาใฝ่ฝันคืออะไร

แต่ประชากรประเทศนี้ไม่ได้มีแต่คนรุ่นใหม่ พรรคนี้จะเข้าถึงถึงคนรุ่นก่อนได้อย่างไร

จริงๆ คำว่าคนรุ่นใหม่ เวลาผมพูดบ่อยๆ ต้องดูบริบทการพูด เช่น ถ้าผมพูดกับเยาวชนหรือเรียกร้องให้เยาวชนเข้ามาสนใจเรื่องการเมือง ผมก็จะพูดในแง่อายุ 18-25 18-30 คล้ายๆ กับว่าบ้านเมืองเป็นของคุณ สังคมนี้เป็นของคุณ คุณต้องอยู่กับมัน อย่าเพิกเฉยมัน ให้คุณมาลงมือทำ เปลี่ยนแปลง

แต่พูดในเรื่องของพรรคที่เราพยายามบอกว่าเราสนับสนุนคนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องจำกัดอยู่ที่อายุ คนรุ่นใหม่คือคนที่มีความคิดแบบใหม่ คนที่เห็นสภาพปัญหาที่เป็นอยู่และอยากเข้าไปเปลี่ยนมัน มีความคิดแบบใหม่ๆ คนอายุมากๆ จำนวนมากก็มีความคิดแบบใหม่ๆ

และอีกด้านหนึ่ง คนที่อายุมากๆ หรืออยู่ในช่วงวัยกลางคน เขาอาจจะต้องคิดต่อไปในอนาคตว่าลูกของเขาจะต้องอยู่ในสังคมนี้ ดังนั้นจะอยู่แบบนี้หรือ มันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะคนอายุน้อยที่จำเป็นจะต้องทวงอนาคตของตัวเองกลับมา เป็นความชอบธรรมที่สูงที่สุดเพราะเขาต้องอยู่อีกนาน

20180305_Sek_14.jpg

คนวัยกลางคนเขาก็จะต้องอยากจะมีโอกาสที่จะขยับสถานะตัวเอง อยากจะประสบความสำเร็จในการงาน อยากจะก้าวหน้า แต่ว่าวิกฤตที่ผ่านมามันทำให้เรื่องนี้ไปต่อไม่ได้ คนที่อายุมากขึ้นเขาก็ต้องคิดถึงลูกหลานของเขา แม้เขาจะจากไปแต่ลูกหลานก็ต้องอยู่ในสังคมต่อ อยากจะสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคมนี้ต่อไป

ปกติพรรคการเมืองต้องมีฐานเสียง แต่พรรคนี้ดูจะเป็นของคนรุ่นใหม่ คิดว่าความเป็นคนรุ่นใหม่ของตัวเองสามารถเข้าถึงฐานเสียงที่กว้างขึ้นเพื่อที่จะชนะเลือกตั้งได้อย่างไร

ณ เวลานี้สื่อมวลชนและนักวิชาการก็พูดกันบ่อยว่าเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาตร์จำนวนมากบอกว่าเราติดกับดักชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางจำนวนมากขยับต่อไม่ได้แล้ว ในขณะที่เราจะไปใช้วิธีการแข่งขันแบบเดิมคือแรงงานไม่ได้แล้ว เพราะประเทศเพื่อนบ้านค่าแรงเขาถูกลง มันก็เหลืออย่างเดียวคือคุณต้องสร้างสรรค์ สร้างของสิ่งใหม่ๆ

ถ้าพรรคของเราเสนอไอเดียสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ทุกคนซึ่งตกอยู่ภายใต้ภาวะเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ได้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ได้เข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันมันถูกผูกขาดไว้อยู่ไม่กี่กลุ่มแบบนี้ เขาจะไม่สนใจเหรอ พรรคการเมืองแบบใหม่ คือเราเอานโยบายไปเสนอนั่นเอง

เริ่มมีการโจมตีตัวบุคคลแล้ว เตรียมตัวเจอแรงเสียดทานไว้มากน้อยแค่ไหน

วันที่ตัดสินใจจะลงมือทำ ตัดสินใจว่าจะร่วมกันสร้างพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา ก็ต้องประเมินอยู่แล้วว่าการเมืองไทยอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ต้องประเมิน แต่ผมคิดว่าความหวังดี ความอยากจะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ให้กับการเมืองไทย อยากจะเปลี่ยนความคิดของสังคมไทยให้เห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องสกปรก ถ้าทุกคนคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องอันตราย เป็นเรื่องเสี่ยง เป็นเรื่องสกปรก มันก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ


20180305_Sek_33.jpg

แต่ถ้าคุณคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องเสี่ยง เป็นเรื่องสกปรก เป็นเรื่องอันตรายแล้วคุณอยากจะเปลี่ยนมันก็ลงมาทำ ทำให้มันดี แล้วความคิดของคนก็เห็นว่า เออ การเมืองจริงๆ มันเข้าท่า มันสามารถเป็นเรื่องของคนที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง อยากจะนำเสนออะไรบางอย่าง เสนอไปแล้วก็ลงมือปฏิบัติแล้วก็มีคนเห็นด้วย 

การเมืองไม่ใช่เรื่องของการทำลายล้าง ภาพลักษณ์ของการเมืองไทยทั้งหมดมันจะเปลี่ยนไป ซึ่งมันอาจจะต้องใช้เวลา แต่ถ้ามันเปลี่ยนไปได้จริงๆ หมายความว่า เวลาเกิดอะไรขึ้นมา คนจะไม่หันหลังให้กับการเมืองแบบประชาธิปไตย

ที่ผ่านมา คนเวลารู้สึกว่าการเมืองมันสกปรก มันมีปัญหา มันมีวิกฤต ก็จะหันไปหาระบบราชการแบบทหาร เผด็จการทหาร การรัฐประหารอะไรต่างๆ วันข้างหน้า สมมติว่าเราปรับความคิดตรงนี้ได้ คนก็จะรู้สึกว่าอย่างนี้ก็ต้องแก้ด้วยการเมืองแบบประชาธิปไตย เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ

พูดง่ายๆ ว่าผมกำลังคืนการเมืองให้กับสังคมไทยน่ะ ความตั้งใจของผมคือให้ทุกๆ คนมองว่าการเข้ามาทำงานการเมืองเป็นปกติ ไม่ใช่เรื่องประหลาดนะครับ การเข้ามาทำงานการเมืองคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องของการสาดสี สาดเสียเทเสียใส่กัน หรือทำร้ายกัน เป็นการแข่งขันกันสร้างสรรค์

แปลว่าจะยอมสกปรก

เราก็ไม่ได้จะไปสกปรกอะไร เพราะเราต้องการนำเสนอของเรา เพราะเราต้องการทำสิ่งใหม่ๆ แน่นอนถ้าเกิดจะมีอะไรที่เราจะต้องเผชิญต่อไปในวันข้างหน้าผมคิดว่าเราอธิบายได้ ชี้แจงได้ และถ้าเปิดใจรับฟังกันก็จะเห็นว่าเราไม่ได้คิดร้ายอะไร นี่เป็นความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองจริงๆ ว่าสภาวะที่เป็นอยู่มันไม่ควรที่จะต้องเป็นแบบนี้อีกแล้ว มันต้องไม่เป็นแบบนี้อีกต่อไป มันต้องหาทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ให้ได้ แล้วก็เราเสียพลังงานไปกับวิกฤตครั้งนี้ เสียโอกาสไปกับวิกฤตครั้งนี้เยอะมาก เปลี่ยนพลังงานที่คุณทุ่มเทไปกับวิกฤตครั้งนี้ในการทะเลาะเบาะแว้งกัน เปลี่ยนให้มันเป็นความคิดสร้างสรรค์ มันจะเป็นประโยชน์กว่า