นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า
“ทำไมถึงคิดอย่างนี้ ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเอง ไม่ต้องแสดงในบัญชีทรัพย์สิน” ความคิดแบบนี้ออกมาสู่สังคมได้อย่างไร อีกหน่อยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมืองก็จะอ้างว่า “รถหรูคันนี้ (หรือบ้านหลังนี้หรือก้อนนี้) ผมยืมเพื่อนมา ก่อนพ้นหน้าที่ผมก็คืนไปแล้ว จึงไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน”
ถ้าทำอย่างนี้ได้ ป.ป.ช. ไม่ต้องตรวจสอบใครอีกแล้วครับ เพราะไปเปิดประเด็นให้เขาโกงได้เต็มที่ อย่าลืมซิครับ การยืมใช้คือการได้ประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ถ้าคำนวณแล้วเกินกว่า 3,000 บาทก็ผิดมิใช่ครับ นาฬิกา รถยนต์หรือทรัพย์สินอื่นใดก็ตาม อาจเอาให้เช่าได้ แม้เขาให้ใช้ฟรีๆ มันก็เป็นสัญญายืม ซึ่งสามารถคำนวณเป็นค่าเช่าได้
เมื่ออาจคำนวณได้ก็ต้องถือว่าคนยืมได้รับประโยชน์อันอจคำนวณราคาเงินได้ ถ้าบอกว่าเพื่อนให้มา แต่เพื่อนตายแล้ว ก็ต้องดูว่าเพื่อนเขาตายเมื่อไหร่ จะทราบว่าได้มาตอนไหน ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ คำตอบมันมีอยู่ในตัวทุกเรื่องแหละครับ เอาง่ายๆ ผู้กำกับ รองผู้กำกับ สารวัตรหรือแม้แต่ น.4 ที่ใช้บริการในโรงนวดดัง ไม่ต้องไปเฉไฉไปว่าต้องตรวจสอบดูก่อนว่าตำแหน่งเหล่านั้นเป็นใคร เพราะไม่มีชื่อ ก็ไปดูซิครับว่า คนพวกนั้นใช่บริการเมื่อไหร่ แล้วใครครองตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น มันก็จบ
ไหนบอกว่าจะปราบโกง เห็นจัดกิจกรรมโชว์ต้านโกงเสียใหญ่โต เชิญชวนชาวบ้านมาแสดงท่าทางร่วมต้าน พอเอาเขาจริงๆ แล้วเป็นไงครับ ดีแต่ปากกันทั้งนั้น ชักสงสัยว่าคนที่แสดงร่วมต้านมากเท่าไร อ้ายคนนั่นมันน่าจะโกงมากที่สุด ผิดหวังกับ ป.ป.ช.