สถานเอกอัคราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อชี้แจงกรณีที่มีข้อมูลว่าทางการออสเตรเลียเป็นฝ่ายออก 'หมายแดง' หรือ 'หมายจับแดง' กรณีฮาคีม อัล-อาไรบี นักบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน วัย 25 ปี ซึ่งถูกกักตัวและจับกุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขณะเดินทางมาไทยเพื่อฮันนีมูนกับภรรยาเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณาคดีในศาลไทย ว่าจะถูกส่งตัวกลับไปยังบาห์เรนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่
เนื้อหาในแถลงการณ์ของสถานทูตออสเตรเลียระบุว่า ทางรัฐบาลออสเตรเลียมีความประสงค์ที่จะชี้แจงเพื่อให้คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับหมายจับแดงของตำรวจสากล ในกรณีของฮาคีม เนื่องจากมี 'กรณีความเข้าใจผิด' ในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับฮาคีม ซึ่งระบุว่าทางการออสเตรเลียเป็นผู้ออกหมายจับแดง หรือ red notice แต่ออสเตรเลียย้ำว่า ทางการออสเตรเลียไม่เคยออกหมายจับแดงดังกล่าว แต่รัฐบาลบาห์เรนเป็นผู้ออกหมายฯ ในวันที่ 8 พ.ย. 2561
ในตอนแรก ออสเตรเลียไม่ทราบสถานการณ์ดังกล่าว จึงแจ้งให้รัฐบาลไทยทราบเรื่องการเดินทางมายังประเทศไทยของฮาคีม ซึ่งเป็นการแจ้งตามระเบียบการดำเนินการของตำรวจสากล แต่หลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียรับทราบถึงสถานการณ์นี้แล้ว ก็ได้ทำการขอถอนหมายดังกล่าวในทันที และมีผลในวันที่ 30 พ.ย. 2561 หรือ 3 วันหลังจากที่ฮาคีมเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 27 พ.ย. 2561
"รัฐบาลออสเตรเลีย ขอยืนยันว่าทางการออสเตรเลียไม่เคยออกหมายจับแดงดังกล่าว และรัฐบาลบาห์เรนเป็นผู้ออกหมายจับแดงดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ก่อนที่นายอัล อาไรบี จะออกเดินทางมายังกรุงเทพฯ"
"การออกหมายจับแดงดังกล่าวไม่ควรที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากนายอัลอาไรบี ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการคุ้มครอง อีกทั้งยังเป็นการละเมิดระเบียบของทางตำรวจสากล"
"หลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียรับทราบถึงสถานการณ์นี้แล้ว เราได้ทำการขอถอนหมายจับดังกล่าวในทันที ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลาสามวันหลังจากที่นายอัลอาไรบี เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ขณะนี้ รัฐบาลออสเตรเลียกำลังดำเนินการทบทวนกระบวนการการทำงานของเรา เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต"
ท้ายสุด แถลงการณ์ระบุว่า "รัฐบาลออสเตรเลียได้อธิบายย้ำอย่างชัดเจนในหลายโอกาสแล้วว่านายฮาคีม อัลอาไรบี ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย และได้รับการคุ้มครองในออสเตรเลีย สมควรได้รับการส่งตัวกลับไปยังประเทศออสเตรเลียอย่างเร็วที่สุด"
วันที่ 6 ก.พ. 2562 กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อชี้แจงกรณี 'ฮาคีม' โดยมีข้อชี้แจง 6 ประการ คือ
1. ประเทศไทยไม่รู้จักนายฮาคีม ไม่มีอคติต่อตัวบุคคลและคงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการมาไทยของเขา หากไม่ใช่ Interpol ของออสเตรเลียที่ได้แจ้งเตือนเรื่องหมายแดงของนายฮาคีมแต่แรก และหากทางการบาห์เรนไม่ได้มีคำร้องขออย่างเป็นทางการให้จับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายฮาคีม ซึ่งไทยได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือ ให้จับเพื่อส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน
2. ทางการออสเตรเลียใช้เวลาหลายวันหลังจากที่นายฮาคีมเดินทางถึงไทยในการแจ้งการยกเลิกหมายแดง ซึ่งในขณะนั้น กระบวนการทางกฏหมายในไทยได้เริ่มขึ้นแล้วและไม่สามารถย้อนกลับได้
3. ขณะนี้เรื่องได้เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว ในการเดินตามขั้นตอนของกฎหมาย ฝ่ายบริหารไม่สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการได้ซึ่งเป็นหลักสากลและเชื่อว่าออสเตรเลียก็ยึดถือหลักการนี้เช่นเดียวกัน
4. ขออย่าได้ด่วนสรุปว่าไทยจะส่งตัวนายฮาคีมให้กับบาห์เรน เรื่องนี้ศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่มีอยู่ซึ่งมีพื้นฐานจากหมายจับ/หมายศาลของบาห์เรน เมื่อเขาหนีความผิดตามกฎหมายของประเทศบาห์เรนมา และบาห์เรนได้ขอให้คุมตัวเมื่อมาไทย พร้อมกับส่งเอกสารหลักฐานทางกฎหมายให้ฝ่ายไทย พนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าเข้าเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะส่งฟ้องต่อศาลได้ จึงดำเนินการต่อไปแล้ว
5. ขณะเดียวกันศาลไทยพร้อมรับหลักฐานทุกชิ้นทุกชนิดที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นธรรมต่อนายฮาคีมที่ทนายของนายฮาคีมจะนำส่งให้ศาลพิจารณา
6. ไม่มีส่วนใดของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการควบคุมตัวนายฮาคีม แต่ในฐานะรัฐอธิปไตยที่มีพันธะทางกฎหมายและความถูกต้องต่อสังคมโลก ไทยได้มาพบว่าเพื่อนที่ดีของไทย 2 ประเทศเกิดแย่งตัวบุคคลคือนายฮาคีมที่มาประเทศไทย ในภาวะดังกล่าวไทยมีทางเดินอันชอบธรรมเพียงว่า (1) ให้ความร่วมมือทางด้านกฎหมายและ (2) เสนอแนะให้เพื่อนที่ดีทั้งสองนี้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันด้วย หันหน้าหารือ หาทางออกในปัญหาซึ่งเป็นของตนเองเสีย แทนการผลักดันหาทางออกทางอ้อมจากไทยซึ่งเผอิญจับพลัดจับผลูมาอยู่ในภาพของประเด็นปัญหานี้ซึ่งเพื่อน 2 ประเทศของไทยมีระหว่างกันมาแต่ก่อน
7. การขอให้ออสเตรเลียกับบาห์เรนคุยกัน หาทางออกร่วมกัน จึงเป็นท่าทีโดยชอบธรรมของไทย และไม่ว่าแนวทางออกร่วมกันดังกล่าวจะมาในรูปแบบใด ไทยก็ยินดีจะช่วยส่งเสริมให้เป็นจริงและบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่เป็น win-win
8. ไทยหวังว่าทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนจะมีมิตรไมตรีที่ดีเพียงพอที่จะร่วมกันหาทางออกของเรื่องนี้ด้วยความจริงใจ หากผลลัพธ์เป็น win-win เชื่อได้แน่นอนว่า คนไทยและผู้คนในภาคส่วนต่าง ๆ ของโลกที่รับรู้เรื่องนี้จะสรรเสริญทั้งออสเตรเลียและบาห์เรนอย่างแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: