ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้ UNHCR ประเทศไทย ทบทวนการเลือกให้ นก - สินจัย มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่านักแสดงคนดังกล่าวทัศนคติสร้างความแตกแยกในสังคม ผลักไสคนเห็นต่าง และไม่ยอมรับในกติกา อีกทั้งบางส่วนยังยกเลิกบริจาคเงินสนับสนุนไปแล้วด้วย

จากกรณีการแข่งขัน The Face Thailand ซีซั่น 5 เมื่อเสาร์ที่ผ่านมา (1 มิ.ย.) ทางผู้จัดงานได้ให้ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเทศไทย ร่วมกิจกรรมเปิดให้ผู้เข้าชมและผู้ชมทางบ้านได้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือองค์กรดังกล่าว ภายในงานมีการนำศิลปินดาราที่ได้รับเลือกเป็นพรีเซ็นเตอร์ได้ขึ้นพูดเพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมบริจาค เช่น แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ นางแบบและนักแสดงมากความสามารถ, คิด - คณชัย เบญจรงคกุล ช่างภาพชื่อดัง, กลุ่ม The Face Men Thailand, และนักแสดงรุ่นใหญ่ นก - สินจัย เปล่งพานิช 

และในเพจของ UNHCR ประเทศไทยมีนำเสนอคลิปสั้นของศิลปินดาราที่ขึ้นพูดบนเวทีมาโพสต์ใหม่อีกครั้ง โดยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของนก - สินจัย ว่าอยากให้ทางข้าหลวงใหญ่ฯ ประเทศไทยทบทวนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีชาวเน็ตจำนวนหนึ่งมองว่าทัศนคติที่ผ่านมาของนก - สินจัย สร้างความแตกแยกในสังคม ผลักไสคนเห็นต่าง ไม่ยอมรับกติกา ทำไมถึงนำคนที่สนับสนุนรัฐประหาร กดขี่ความเป็นคน ทำให้คนในประเทศเป็นผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศเพื่อเอาตัวรอดมาเป็นพรีเซนเตอร์ได้ ซึ่งบางคนอยากได้รับคำอธิบายในเรื่องนี้จาก UNHCR ประเทศไทยด้วย 



2.jpg1.jpg

ทั้งนี้ มีคนแนะนำว่าให้ทีมงานได้ศึกษาข้อมูลของศิลปินคนนั้นก่อนว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร โดยที่มีผู้บริจาคบางส่วนแสดงความคิดเห็นว่า มีความประสงค์จะยกเลิกบริจาคเงินที่เคยให้ทุกเดือนมาเป็นระยะเวลาหลายปี และคลิปดังกล่าวที่ปรากฎอยู่ในเพจ UNHCR ประเทศไทย มีคนกดแสดงอารมณ์ "โกรธ" มากถึง 596 ครั้ง จากยอดกดแสดงอารมณ์รวมราว 1,000 ครั้ง

ทั้งนี้ยังไม่มีการตอบความเห็นใดๆ จากทาง UNHCR

3

สำหรับข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาตินี้ทำงานเพื่อผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากประเทศเนื่องจากสงคราม ความขัดแย้งและความรุนแรง ได้ให้ความช่วยเหลือ มอบความคุ้มครอง และหาทางออกที่ยั่งยืนแก่บุคคลในความห่วงใยทั่วโลก ส่วนในประเทศไทย ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยฯ ได้เริ่มทำงานในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งในประเทศไทย UNHCR มีเจ้าหน้าที่ชาวไทยและชาวต่างชาติราว 180 คน ส่วนหนึ่งทำงานในสำนักงานกรุงเทพฯ และมากกว่าครึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในจังหวัดกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และแม่สอด

ภาพ : LINE TV