เหตุโจมตีโรงแรมและโบสถ์คริสต์ 8 แห่งในศรีลังกาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 359 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 500 คน โดยกลุ่มไอเอส กลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางได้ออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดฆ่าตัวตายครั้งนี้ แต่สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ทางการศรีลังกายังไม่สามารถรับรองได้ว่า การโจมตีครั้งนี้เกี่ยวกับกลุ่มไอเอสโดยตรงอย่างที่กลุ่มไอเอสอ้างหรือไม่ เบื้องต้นระบุได้เพียงว่าคนเหล่านี้เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของศรีลังกาเปิดเผยว่า ผู้ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายทั้ง 8 แห่งมีทั้งหมด 9 คน เป็นผู้หญิง 1 คน และทั้งหมดเป็นชาวศรีลังกา โดยส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางถึงชนชั้นกลางระดับบน ค่อนข้างมีอิสระทางการเงิน ครอบครัวมีฐานะทางการเงินค่อนข้างมั่นคง มีการศึกษาดี โดยหนึ่งในผู้ก่อเหตุไปเรียนปริญญาตรีที่อังกฤษ และไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาศรีลังกา
นอกจากนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผู้ก่อเหตุ 2 คนที่ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่โรงแรมแชงกรีลาและซินนามอนแกรนด์เป็นพี่น้องกัน ทั้งคู่เป็นทายาทของโมฮัมเหม็ด อิบราฮิม เศรษฐีค้าเครื่องเทศในกรุงโคลอมโบ ซึ่งล่าสุด ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวว่าอาจมีส่วนช่วยเหลือให้ลูกชายทั้งสองคนก่อเหตุ
(ทหารศรีลังกาดูแลความปลอดภัยที่โบสถ์ หลังเกิดเหตุระเบิด 8 แห่ง)
'แฟรงก์ การ์ดเนอร์' ผู้สื่อข่าวด้านความมั่นคงของสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ผู้ก่อการร้ายที่เป็นชนชั้นกลางและมีการศึกษาที่ดีไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะแม้ความยากจนและการขาดโอกาสอาจทำให้บางคนไปร่วมต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ละทิ้งชีวิตแสนสบายของตัวเองไปสู่ความรุนแรง
'ซิอัด จาร์ราห์' หนึ่งในผู้ก่อการร้ายไฮแจ็คเครื่องบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์สเที่ยวบิน 93 ในเหตุก่อวินาศกรรม 9/11 ก็มาจากครอบครัวชนชั้นนำในเลบานอน 'โมฮัมเหม็ด เอ็มวาซี' หรือ 'จีฮาดี จอห์น' มือสังหารชื่อดังของกลุ่มไอเอส ก็เป็นชาวอังกฤษที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ในกรุงลอนดอน หรือกระทั่ง 'อุซามะ บิน ลาเดน' ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอัลกออิดะห์ก็เลือกที่จะหันหลังให้ชีวิตหรูในฐานะทายาทเจ้าของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในเมืองเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบียไปสู้รบกับโซเวียตในอัฟกานิสถานในช่วงปี 1980
'ปีเตอร์ เบอร์เกน' นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นก็กล่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มตอลิบาน ชักชวนคนจนหลายหมื่นมาเป็นนักรบโดยเสนอเงินเดือนให้ เพื่อจูงใจวัยรุ่นในประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงอย่างอัฟกานิสถาน ดังนั้น กลุ่มตอลิบานเป็นหนึ่งในขบวนการค้ายาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดของโลก เพราะพวกเขาต้องหาเงินมาจ่ายเงินเดือนนักรบเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายรับรู้กันมานานมากแล้วว่า เงินเดือนไม่ใช่สิ่งจูงใจที่ได้ผลนักสำหรับคนชนชั้นกลาง กลุ่มก่อการร้ายอีกหลายกลุ่มเติบโตขึ้นมาได้ด้วยผู้มีอุดมการณ์คล้ายกัน และคนเหล่านี้ก็มักเป็นอาสา ไม่ได้รับเงินเดือน ดังนั้น คนที่มีฐานะทางการเงินมั่นคงอยู่แล้ว มีการศึกษาค่อนข้างดี จึงมีอุดมการณ์เป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย
เบอร์เกนกล่าวว่า วิธีการป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้มีแนวคิดสุดโต่งก็คือ การให้ครูสอนศาสนาที่เป็นที่มีความรู้และน่าเคารพในศาสนานั้นๆ ห้ามปราม หรือให้คนที่กลับใจจากกลุ่มก่อการร้ายมาอธิบายว่า การสังหารผู้บริสุทธิ์ไม่ใช่วิธีการสร้างโลกในอุดมคติที่พวกเขาต้องการ
(จีฮาดี จอห์น หรือโมฮัมเหม็ด เอ็มวาซี มือสังหารชาวอังกฤษของกลุ่มไอเอส)
นักวิชาการคนสำคัญที่ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างความยากจนและการก่อการร้าย ได้แก่ 'อลัน เบนเนตต์ ครูเกอร์' ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์และกิจการสาธารณะที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันของสหรัฐฯ และ 'ยิตคา มาเล็ชโควา' รองศาสตราจารย์ที่สถาบันการศึกษาตะวันออกกลางและแอฟริกาที่มหาวิทยาลัยชาร์ลสของสาธารณรัฐเช็ก
หลังเกิดเหตุก่อวินาศกรรม 9 ก.ย. 2001 นักวิชาการทั้งสองได้ร่วมกันทำวิจัยเพื่อหาคำตอบว่า การศึกษา ความยากจน ความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้ายมีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ โดยพวกเขาได้เริ่มจากการศึกษางานวิจัยของเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับการก่อการร้ายมากกว่าอาชญากรรมอื่นๆ
จากการศึกษาการแขวนคอชาวแอฟริกันอเมริกันในสหรัฐฯ และความรุนแรงต่อชาวเติร์กในเยอรมนี พบว่า กลุ่มแนวคิดสุดโต่งเกลียดชังคนต่างชาติหรือคนเชื้อชาติอื่น ไม่มีความเชื่อมโยงกับอัตราการว่างงาน ค่าแรงเฉลี่ยหรือระดับการศึกษาเฉลี่ยของคนในพื้นที่นั้นๆ
จากนั้น ครูเกอร์กับมาเล็ชโควาได้วิเคราะห์ผลการสำรวจความเห็นของคนในเขตเวต์แบงก์และฉนวนกาซาในธ.ค. 2001 ซึ่งออกมาว่า การสนับสนุนการโจมตีใส่อิสราเอลไม่ได้ลดลงในกลุ่มชาวปาเลสไตน์ที่มีการศึกษาสูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนอื่น โดยชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่มองว่า การโจมตีใส่พลเรือนอิสราเอลจะช่วยให้ชาวปาเลสไตน์มีสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาควรจะมีอย่างที่การเจรจาสันติภาพจะให้พวกเขาไม่ได้ และผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 92 ยังไม่เห็นว่าการระเบิดฆ่าตัวตายที่ไนท์คลับกลางกรุงเทลอาวีฟ ทำให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิต 21 รายเมื่อกลางปี 2001 เป็นการก่อการร้ายแต่อย่างใด
(ชาวปาเลสไตน์ประท้วงสถานทูตสหรัฐฯ กรณีรับรองเยรูซาเลมเป็ฯเมืองหลวงของอิสราเอล)
การศึกษาสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนที่เสียชีวิตในช่วงปี 1980 -1990 และกลุ่มใต้ดินของชาวยิวอิสราเอลที่ก่อเหตุในช่วงปี 1970 - 1980 ก็มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางการเงินดี มีการศึกษาสูงมากกว่าจะเป็นครอบครัวยากจนที่ไม่มีโอกาสเรียน
ครูเกอร์และมาเล็ชโควาได้สรุปผลการวิเคราะห์ว่า รายได้เฉลี่ยต่ำมีความเชื่อมโยงกับอัตราการเกิดอาชญากรรมประเภทลักทรัพย์หรือกรรโชกทรัพย์ แต่มีหลักฐานน้อยมากที่จะบ่งบอกว่า เศรษฐกิจที่ย่ำแย่หรือการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจที่แย่ลง เป็นปัจจัยให้เกิดการใช้ความรุนแรงตอบโต้ การประท้วง ใช้ความรุนแรง หรือก่อการร้าย เกิดขึ้นไม่เกี่ยวว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลง
พวกเขาพบว่าการก่อการร้ายส่วนใหญ่มีลักษณะใกล้เคียงกับความรุนแรงทางการเมืองมากกว่า โดยพวกเขาระบุว่า “คนที่มีการศึกษาสูงจากครอบครัวที่มีฐานะมีแนวโน้มจะมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่า และการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องอาศัยความสนใจ ความเชี่ยวชาญ ความมุ่งมั่น และความพยายามเกี่ยวกับเรื่องนั้นในระดับหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่คนมีการศึกษาและมีเงินจะให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องเงินสำหรับการดำรงชีพ”
ครูเกอร์และมาเล็ชโควายังระบุว่า กลุ่มก่อการร้ายเองก็ต้องการคนที่มีการศึกษาสูงหรือเป็นคนชนชั้นกลางหรือสูงเข้าร่วมภารกิจมากกว่า แม้จะเป็นภารกิจระเบิดฆ่าตัวตายก็ตาม เนื่องจากคนที่มีการศึกษาสูงเหมาะกับการก่อการร้ายระดับนานาชาติมากกว่าคนที่การศึกษาน้อยหรือไม่รู้หนังสือเลย เพราะผู้ก่อการร้ายจะต้องทำตัวให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศหรือวัฒนธรรมสากล จึงจะปฏิบัติภารกิจสำเร็จ
(เจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝรั่งเศสปิดล้อมพื้นที่ หลังไอเอสไล่แทงกลางกรุงปารีสเมื่อปี 2018)
'เลียม ดัฟฟี' ผู้อำนวยการ SINCE 9/11 องค์กรสร้างความตระหนักเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ 9/11 และการก่อการร้ายในปัจจุบันได้เขียนบทความลง Just Security ฟอรัมออนไลน์วิเคราะห์กฎหมายและนโยบายด้านความมั่นคงสหรัฐฯ ของศูนย์ไรส์ด้านกฎหมายและความมั่นคง มหาวิทยาลัยกฎหมายนิวยอร์ก โดยตั้งคำถามว่า วิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการร้ายไม่จำเป็นต้องไร้การศึกษา แล้วการศึกษาจะป้องกันการก่อการร้ายได้อย่างไร?
ดัฟฟีอธิบายว่า อุดมการณ์และความคับข้องใจเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้คนไปร่วมกับกลุ่มก่อการร้าย คนที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากจึงไปเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้าย อย่างไรก็ตาม ทางแก้ไขก็ไม่ใช่การเลิกส่งเสริมให้ประชาชนเรียนหนังสือ แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการได้รับการศึกษาที่ “ถูกต้อง”
แม้รัฐบาลอังกฤษจะบังคับให้โรงเรียนต้องสอน “ค่านิยมขั้นพื้นฐานของอังกฤษ” เช่น ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม เสรีภาพของปัจเจก การเคารพซึ่งกันและกัน การยอมรับความแตกต่างด้านความเชื่อ แต่การสอนคุณค่าเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถสู้กับกระแสแนวคิดสุดโต่งได้โดยตรง
ดัฟฟีระบุว่า การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มสุดโต่งมักปลุกความรู้สึกคับข้องใจโดยการพูดถึงความอยุติธรรม ความน่าอับอาย และความทุกข์ทรมานที่คนอีกกลุ่มหนึ่งกระทำ เช่น พรรคนาซีมักโทษชาวยิวว่าสร้างความอับอายให้กับชาวเยอรมัน อุซามะ บิน ลาเดน ผู้นำอัลกออิดะห์มักโทษสหรัฐฯ ที่สร้างความอับอายให้กับชาวมุสลิม
ผู้ก่อการร้ายมักมองตัวเองว่ากำลังต่อสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเขาและพวกพ้อง เช่น 'โมฮัมหมัด ซิดิก ข่าน' ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดรถไฟใต้ดินกรุงลอนดอนเมื่อปี 2005 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 52 ราย โดยเขาประกาศว่าเป็นการแก้แค้นสำหรับความทุกข์ทรมานของพี่น้องชาวมุสลิม หรือเหตุชายขับรถพุ่งชนคนในโตรอนโตของแคนาดาเมื่อปี 2018 โดยกลุ่มอินเซล วัฒนธรรมย่อยบนโลกออนไลน์ที่เกิดจากความคับแค้นใจที่ถูกผู้หญิงละเลยนำไปสู่การเหยียดเพศหญิง
(สมาชิกกลุ่มเหยียดเพศหญิง "อินเซล" ขับรถตู้พุ่งชนคนในโตรอนโตเมื่อปี 2018)
SINCE 9/11 พยายามจัดโครงการที่เปิดพื้นที่ในการพูดคุยประเด็นที่ละเอียดอ่อน เช่น แนวคิดสุดโต่ง การก่อการร้าย ความขัดแย้ง และที่สำคัญจะต้องทำให้นักเรียนรู้สึกว่าไม่มีคำตอบไหนผิดหรือถูก ซึ่งดัฟฟีกล่าวว่า การเปิดพื้นที่ถกเถียงเรื่องเหล่านี้ในโรงเรียนส่งผลให้นักเรียนมองเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกนี้มีมุมมองที่ลึกซึ้งและซับซ้อนมากกว่าการมองโลกด้วยทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ รู้สึกเห็นใจความสูญเสียของเหยื่อจากความรุนแรงมากกว่าจะเห็นด้วยกับแนวคิดว่าคนทั่วไปจะต้องมารับผิดชอบกับความทุกข์ทรมานของคนหนึ่งคนหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
งานวิจัยของยูเนสโกระบุว่า การเสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์ การรู้เท่าทันดิจิทัล การตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก และการคลี่คลายวาทกรรมแห่งความความคับแค้นใจจะช่วยดึงคนกลับมาจากแนวคิดสุดโต่งได้
ดังนั้น การต่อสู้กับการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งจึงไม่ได้อยู่ที่การให้การศึกษามากๆ แต่อยู่ที่การให้การศึกษาแบบไหนต่างหาก ครูและนักการศึกษาจะต้องท้าทายวาทกรรมแห่งความคับข้องใจเหล่านั้นด้วยการไม่ส่งเสริมแนวคิดแบบขาวดำ การมองโลกแบบทวิภาค การให้เหตุผลแบบ “พวกเขา-พวกเรา” การตีความความล้มเหลวส่วนตัวเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดของกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง
วิธีที่ท้าทายความคับแค้นใจเหล่านั้นก็คือ การแสดงให้เป็นถึงมุมมองและข้อถกเถียงหลายๆ ด้าน รวมถึงการอดกลั้นยอมรับความแตกต่างทางการเมือง เพราะความคับแค้นใจและทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดมักเติบโตอยู่ในพื้นที่สีเทาแห่งความไม่รู้เรื่องรู้ราวและความไม่แน่นอน พวกแนวคิดสุดโต่งมักฉวยโอกาสเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ด้วยวาทกรรมต่างๆ ที่อาจไม่มีพื้นฐานความจริงอยู่เลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :