ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ปรับเงื่อนไขสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้สูงสุด 15 ปี ลดเบี้ยปรับร้อยละ 75 ช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีและมีภาระหนี้จำนวนมาก แจงมีผู้กู้ผิดนัดชำระที่ถูกดำเนินคดีปีละแสนราย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เปิดเผยว่า การปรับหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล หากผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดีในปี 2562 ทำสัญญาประนีประนอมที่ศาล จะได้รับการลดเบี้ยปรับร้อยละ 75 ของเบี้ยปรับที่มีอยู่ ณ วันทำสัญญา

แต่มีเงื่อนไขว่าผู้กู้ต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่หนึ่ง ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นไป หากผิดนัดจะนำส่วนลดเบี้ยปรับกลับมาเป็นหนี้ตามคำพิพากษาทันที 

สำหรับระยะเวลาการผ่อนชำระสามารถผ่อนชำระได้สูงสุด 15 ปี นับแต่วันทำสัญญาขึ้นกับจำนวนทุนทรัพย์คงเหลือ เช่น ทุนทรัพย์ไม่เกิน 250,000 บาท ให้ผ่อนไม่เกิน 9 ปี, ทุนทรัพย์ตั้งแต่ 250,000 - 400,000 บาท ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 12 ปี และทุนทรัพย์มากกว่า 400,000 บาทขึ้นไป ให้ผ่อนชำระไม่เกิน 15 ปี

สำหรับปัจจุบันมีผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระหนี้รวมทั้งหมดประมาณ 2.09 ล้านราย ถูกดำเนินคดีแต่ละปีมีประมาณ 1 แสนราย โดยในส่วนนี้ได้มีการประนีประนอมในชั้นศาล ประมาณ 80,000 ราย แต่ในจำนวนนี้ที่มีการประนีประนอมหนี้แล้วก็ยังมีการผิดนัดชำระหนี้อยู่ที่ร้อยละ 70 

นอกจากนี้ ผู้จัดการ กยศ. ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ครอบครัวมีรายได้น้อยและถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้ได้สิทธิพิเศษในการกู้ยืม ซึ่งที่ผ่านมา กยศ. มีการเน้นการช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนที่มีครอบครัวขาดเเคลนทุนทรัพย์ และกลุ่มที่ต้องการศึกษาที่เป็นต้องการของตลาด ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย และการกู้ไม่จำกัดจำนวน ซึ่งในส่วนของนักเรียนที่ครอบครัวมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็จะได้รับสิทธิดังกล่าวด้วย แต่ก็จะขอพิจารณาความเหมาะสมก่อน

ขณะเดียวกันจากมาตรการการหักบัญชีเงินเดือนลูกหนี้ ที่เป็นข้าราชการ และเอกชน รวม 7.6 แสนราย ส่งผลให้กองทุนมีการชำรหนี้กลับเข้ามาเพิ่มขึ้น ตกเดือนละ 420 ล้านบาท คาดว่า ณ สิ้นปี กองทุนจะมีเงินสะสมรวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถช่วย นักเรียนมีทุนในการเรียนหนังสือได้ 600,000 รายในแต่ละปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :