นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุกรณีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นด้วยกับภาคประชาสังคมจะยื่นเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหารือการแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมยินดีให้ความร่วมมือ และรับฟังความคิดเห็น เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้นคงต้องรอดูคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะตั้งขึ้นมาภายหลังเปิดประชุมสภาฯ เดือน พ.ย. ซึ่งจะกำหนดแนวทางว่าทำอย่างไร ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะเอาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาหารือกันในสภา เพราะเป็นความต้องการของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ที่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและต้องการรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่วนการดำเนินการอยู่ที่การหารือในสภา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอว่าควรจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย เพราะหากไม่แก้มาตราดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย ส่วนจะมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปพร้อมกันหรือไม่ก็ให้เป็นมติที่ประชุม
นพ.ชลน่าน ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฝ่ายการเมืองทั้งร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วย จากการพูดคุยกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา รวมทั้งพรรคพลังประชารัฐ เห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่อุปสรรคคือ หาก ส.ว. หรือผู้มีอำนาจไม่เอาด้วยก็ไม่สามารถแก้ไขได้
“ดังนั้นการไขรัฐธรรมนูญต้องให้ผู้มีอำนาจและสมาชิกวุฒิสภาเห็นด้วย แต่ก็ไม่ง่ายเพราะสมาชิกวุฒิสภาเกรงว่าอำนาจที่ตัวเองมีจะหายไป ดังนั้นอาจจะต้องหารือกับสมาชิกวุฒิสภาว่าเราจะแก้ไขในส่วนใดบาง อาจจะมีการแก้ในส่วนของบทเฉพาะกาลให้คงอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาตามวาระ หลังหมดวาระแล้วว่ากันใหม่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งหมดทั้งมวลการแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากไม่ร่วมมือหรือไม่เห็นแก่ประชาชนก็แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้” นพ.ชลน่าน กล่าว
'เทพไท' ย้ำทุกพรรคหนุนแก้ รธน. ดัน 'บัญญัติ' นั่ง กมธ.ศึกษา รธน.
ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าว่า ถ้าดูจากสัญญาณของพรรคการเมืองต่างๆในขณะนี้ จะเห็นได้ว่าทุกพรรคสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญค่อนข้างชัดเจนแล้ว แม้แต่ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ โดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาลก็ออกมายอมรับแล้วว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลจริง เป็นภารกิจที่จะต้องผลักดันให้เป็นจริงในทางปฎิบัติ ดังนั้นค่อนข้างมั่นใจได้ว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองต่างๆที่จะต้องสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมเพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคการเมืองนั้นๆ
ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ถ้าหากมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือนอกรอบในการประชุมส.ส.ของพรรคในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) ตนในฐานะส.ส.คนหนึ่งของพรรค จะขอนำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาบุคคลของพรรคที่มีความเหมาะสม มีประสบการณ์ทางการเมืองสูง ผ่านการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ เป็น ส.ส.หลายสมัย เคยเป็นฝ่ายบริหาร เป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวงมาก่อน ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดนี้ ส่วนตัวเห็นว่านายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อขอความเห็นชอบให้นายบัญญัติเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย
สำหรับกระแสการตอบรับของการให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายอย่างกว้างขวาง นับเป็นนิมิตหมายที่ดีทางการเมือง ที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและสนับสนุนบุคคลที่มีความสามารถเข้าทำหน้าที่แทนทุกฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จ และก้าวผ่านความขัดแย้งของสังคมไปได้ด้วยดี
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ประเด็นเรื่องการเสนอรายชื่อคนที่จะเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้จำนวน 4 คน ยังไม่ได้มีการพูดคุยพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าใครจะไปดำรงตำแหน่งบ้าง ในการประชุม ส.ส.ของพรรค วันที่ 5 พ.ย. เวลา 13.30 น. ก็จะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในที่ประชุม ผลเป็นอย่างไร ตนจะแถลงข่าวให้ทราบภายหลังการประชุม ทั้งนี้ ตำแหน่ง กมธ.ไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเรื่องในที่ประชุม ส.ส.จะเป็นผู้พิจารณาผู้ที่เหมาะสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง