วันที่ 20 เม.ย. ที่พรรคเพื่อไทย ในการแถลงข่าว เปิดตัว ทีมคณะทำงานการศึกษา และพัฒนาศักยภาพมนุษย์และนโยบายการศึกษาพรรคเพื่อไทย นำโดย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ประธานนโยบายด้านการศึกษา พรรคเพื่อไทย รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวานิช รับผิดชอบด้านอาชีวศึกษา สุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช รับผิดชอบด้าน EdTech และ ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรค รักษาการโฆษกพรรค และกรรมการ
โดย ณหทัย กล่าวว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา แบบคิดใหญ่ ทำใหญ่ สไตล์เพื่อไทย ขณะที่ผ่านมา รัฐบาลทำเพียงมาตรการเยียวยาแบบหยอดน้ำข้าวต้มกันตาย แก้ปัญหาได้ไม่ยั่งยืน พรรคเพื้อไทยเห็นว่าร้องพัฒนาคน ให้ประชาชนเข้าถึงทักษะต่างๆ เพื่อทัดเทียมกับนานาประเทศ
ณหทัย เผยว่า พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนการศึกษาให้เป็นการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตลอดชีวิต ไม่ติดกรอบเดิม ให้คนไทยออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านแพลตฟอร์ม Learn to Earn ด้วยการตั้งกองทุนการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยทุกกลุ่มเข้าถึงความรู้และอุปกรณ์การศึกษาได้ง่าย เช่น แทบเล็ตฟรี ที่จะกลับมาอีกครั้ง
พรรคเพื่อไทย ยังมุ่งผลักดัน พ.ร.บ.การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบ เรียนรู้ตามอัธยาศัย รวมถึงเปิดโอกาสให้นำความรู้และประสบการณ์นอกห้องเรียนมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้ ให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ได้นอกห้องเรียน เสริมทักษะของผู้เรียนให้ตอบโจทย์กับอาชีพที่เหมาะสม
"เราจะไม่เอาลิงไปว่ายน้ำ ไม่เอาปลาไปปีนต้นไม้ เราต้องการให้คนได้ทำงานในสิ่งที่ถนัดที่สุด ค้นหาตัวเองให้เจอไวที่สุด ขยายแววศักยภาพให้ตอบโจทย์นโยบาย OFOS 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์"
ด้าน จอมพงศ์ มงคลวานิช ชี้ว่า ภาคการศึกษาต้องเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจ ปัจจุบันคนไทยมีรายได้ต่อครัวเรือนที่ต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูง แนวคิด Credit Bank หรือการแปลงประสบการณ์จริงมาเป็นวุฒิการศึกษา จะช่วยผลักดันให้ประชาชนเข้าสู่ตลาดวิชาชีพให้มากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้ผู้เรียนได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ ดร.ลิณธิภรณ์ เสนอเรื่องปฏิรูประบบอุดมศึกษา โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย ลดบทบาทของการสอบ TCAS ให้มีความหลากหลาย เพราะข้อสอบปัจจุบันเป็น Standard Test ไม่เปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเสนอให้มีการประกาศผลสอบรอบ Portfolio ก่อนสมัครสอบ TCAS เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการยื่นสมัครสอบ
ส่วน สุทธิเกียรติ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยมุ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการศึกษา พรรคเพื่อไทยเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะนักเรียนไทยมีศักยภาพในการเรียนรู้ ขณะที่ผู้สูงอายุก็มีหนทางนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเข้าใจง่าย อีกทั้งเทคโนโลยียังสามารถช่วยจับคู่ทักษะของผู้เรียนกับอาชีพที่เหมาะสมได้ง่ายขึ้น รวมถึงเสริมความปลอดภัยของผู้เรียนในโรงเรียน
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาฯ ยังเชิญชวนนิสิตนักศึกษาและผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อไทย Campus on Tour ประชาสัมพันธ์นโยบายการศึกษาแนวใหม่ ภายใต้หัวข้อ 'ตัวตึงถาม เพื่อไทยตอบ ตอน ถึงจะเรียนอยู่ ก็หาเงินได้นะ รู้ยัง' ในวันที่ 21 เม.ย. 2566 ที่ชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กิจกรรมจัดขึ้นในเวลา 11.30-12.30 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม นธีรรัตน์ สำเร็จวาณิช ดนุพร ปุณณกันต์ และ ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล