ไม่พบผลการค้นหา
รัฐ-เอกชนลงความเห็น 'ทักษะแรงงาน' เป็นปัจจัยสำคัญดึงนักลงทุน ด้านกระทรวงศึกษาหนุนสอนภาษาอังกฤษสำหรับสายงานเฉพาะ เร่งพัฒนาอาชีวศึกษาไทย

โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี เป็นโครงการความหวังของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้า ด้วยอุตสาหกรรมแบบใหม่ที่เน้นใช้ทักษะความรู้และเทคโนโลยีมากกว่าการเน้นใช้แรงงาน โดยช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้าพัฒนาโครงการทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมถึงความพยายามผลักดันกฎหมายและเงื่อนไขการลงทุนเพื่อเอื้อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน

EEC แกรนด์ไฮแอต
  • อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม 'อุตตม สาวนายน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานอนุกรรมการบริหารการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวในงาน "EEC NEXT : ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC" ว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิตหรือการตั้งบริษัท พร้อมชี้ว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องหันมาสนใจอย่างแท้จริงคือการพัฒนาทักษะของแรงงาน

ขณะที่ 'ยุทธนา ไสไทย’ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Advisory Unit) ธนาคารยูโอบี เห็นสอดคล้องกันและกล่าวว่า ปกติแล้วเวลานักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุน ก็จะมองระยะยาวและมองภาพรวมทั้งภูมิภาค

EEC แกรนด์ไฮแอต
  • ยุทธนา ไสไทย ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าหน่วยงานที่ปรึกษาด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Advisory Unit) ธนาคารยูโอบี

สำหรับโครงการอีอีซีของไทย 'ยุทธนา' ชี้ว่า ต่างชาติมักจะมองจากระบบการขนส่งเป็นหลักก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ก็นับว่าอยู่กันในคนละจุดประสงค์ของอุตสาหกรรม เพราะ "บริษัทต่างชาติจะเลือกเวียดนาม ถ้าเขาต้องใช้แรงงานเยอะ แต่จะเลือกไทยถ้าต้องการเทคโนโลยีที่สูงขึ้น”

'ยุทธนา' สะท้อนภาพว่า แม้ประเทศไทยจะได้เปรียบเรื่องยุทธศาสตร์ที่ตั้ง แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็มีหลายปัจจัยที่อาจผลักผู้ลงทุนออกไป ได้แก่ ปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่า และอีกปัจจัยสำคัญอย่างคุณภาพแรงงานโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องภาษาและการสื่อสาร


อังกฤษต้องดี-อาชีวะต้องมีพร้อม

'ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ชี้ว่าการผลิตแรงงานออกมารองรับตลาดในปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนจากสมัยก่อน ระบบที่ผลิตออกมาโดยไม่ดูความต้องการของตลาดคืออะไรไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป

EEC แกรนด์ไฮแอต
  • ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา

สำหรับการพัฒนาทักษะแรงงานไทยเพื่อมารองรับการเข้ามาของบริษัทต่างชาติในโครงการอีอีซี 'ณัฏฐพล’ อธิบายว่า กระทรวงศึกษากำลังเร่งฉีดยาแรงใน 2 ภาคส่วน ที่เกีี่ยวข้องกันคือ (1) วิทยาลัยอาชีวศึกษา และ (2) การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ

สำหรับยาแรงของอาชีวศึกษามีทั้งการส่งเสริมการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นในระบบหน่วยกิต 'ณัฏฐพล’ ชี้ว่า หากสายอาชีพที่รัฐต้องการผลิตออกไปป้อนตลาดแรงงานไม่จำเป็นต้องใช้วิชาบางวิชา ก็จะตัดวิชานั้นออก และใส่วิชาที่จะพัฒนาทักษะของนักเรียนเข้าไปแทน ซึ่งก็หนีไม่พ้นวิชาภาษาอังกฤษ

อีกทั้ง กระทรวงศึกษาฯ ยังวางแผนจัดโซนวิทยาลัยอาชีวะให้สอดรับกับตำแหน่งที่ตั้งของบริษัทในสาขาวิชานั้นๆ เช่น การเปิดโรงเรียนอาชีวศึกษาเพื่อการบินไว้ใกล้สนามบินต่างๆ เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกปฏิบัติจริง

สำหรับการพัฒนาภาษาอังกฤษของเด็กไทย 'ณัฏฐพล' ชี้ว่าครูคือปัจจัยสำคัญ โดยต้องส่งเสริมให้ครูในแต่ละโรงเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อสามารถหาความรู้มาเพิ่มเติมให้กับเด็กนักเรียนได้ ส่วนครูใหม่ที่กำลังจะเข้ามาในระบบต้องมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะเข้ามาสอนเด็กได้


“เราไม่ได้พูดว่าครูต้องสื่อสารกับฝรั่งแล้วเข้าใจถี่ถ้วน แค่เข้าอินเทอร์เน็ตได้ก็โอเคแล้ว” นายณัฏฐพลกล่าว


นอกจากนี้ 'ณัฏฐพล’ เสริมว่า การสอนภาษาอังกฤษแบบเดิมจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ต้องเป็นการสอนภาษาอังกฤษแบบเฉพาะที่ใช้กับอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในสายงาน

ทรัพยากรมนุษย์เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของทุกบริษัทและทุกประเทศอยู่แล้ว การมีประชากรที่มีศักยภาพสูงย่อมดึงดูดนักลงทุนได้ไม่ยาก ในกรณีของประเทศไทย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาครัฐพยายามเข้ามาพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนนักศึกษา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที

จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่กระทรวงศึกษาต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่านโยบายหรือมาตรการที่ออกมาจะสามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นแล้ว โอกาสในการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติทั้งในอีอีซีหรือในไทยก็อาจหลุดลอยไป และผลกระทบก็ไม่ได้ตกอยู่ที่ใคร แต่ตกอยู่ที่ประชาชนผู้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจมากที่สุด