ไม่พบผลการค้นหา
เศรษฐกิจโลกและค่าเงินบาทเป็นปัจจัยบั่นทอนการท่องเที่ยวไทย ขณะผู้ประกอบการโรงแรมหวังรัฐบาลออกมาช่วยเหลือเรื่องค่าเงิน 'ทริสเรทติ้ง' ชี้ปีนี้ไทยเที่ยวไทย พยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภายในประเทศ

อีกเพียงไม่กี่เดือนข้างหน้าไทยจะเดินหน้าเข้าสู่ช่วง ‘ไฮซีซีน’ (high season) ของการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมมูลค่ามหาศาลที่ค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนอุตสาหกรรมนี้กลับต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากและปัจจัยบ่อนทำลายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา 'ทริสเรทติ้ง' บริษัทจัดอันดับเครดิตองค์กร เผยแพร่รายงาน วิจัยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ที่สะท้อนภาพการชะลอตัวการเติบโตของอุตสาหกรรม จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเงินบาทที่แข็งค่า

ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยน้อยลง หลังจากเมื่อปี 2561 ตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยมีจำนวน 38.3 ล้านคน จากปีก่อนหน้ามีเพียง 35.6 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม มาปีนี้ (2562) ไทยกลับสูญเสียโมเมนตัมดังกล่าว โดยในครึ่งแรกของปี 2562 ตัวเลขชาวต่างชาติที่เข้าท่องเที่ยวในไทยมีเพียง 19.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ต้องปรับตัวเลขเป้าหมายนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศลงเหลือ 39 ล้านคนในปีนี้ จากเมื่อต้นปีประเมินว่ามีจำนวน 40.4 ล้านคน

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจีนที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยถึงร้อยละ 29 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยังตกลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกรกฏาคม 2561 ที่มีอุบัติเหตุเรือเฟอร์รี่ล่มที่จังหวัดภูเก็ต

ประกอบกับผลของสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีน เหตุผลดังกล่าวส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนลดลงมาอยู่ที่ 5.6 ล้านคน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 หรือลดลงราวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ

'ณัฐพงศ์ ละออวงศ์' รองผู้จัดการทั่วไป โรงเเรม โซ โซฟิเทล เเบงคอก ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าววอยซ์ออนไลน์ว่า โดยทั่วไป ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้ไม่ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เพราะตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก 2 ประเทศนี้ในปี 2561 ก็ไม่ได้ดีมากนัก แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวจากยุโรปลดลงอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากปัญหาค่าเงินและเบร็กซิต ขณะที่นักท่องเที่ยวจากฮ่องกงลดลงจากปัญหาการประท้วง และกลุ่มนักธุรกิจลดลงจากการแข่งขันที่สูงของวงการโรงแรมในไทย

ขณะที่ เจ้าของโรงแรมรายหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าเทียบตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้กับปี 2561 ถือว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 - 30 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ล่ม แต่ถ้ามองกลับไปในปี 2560 ตัวเลขนักท่องเที่ยวถือว่าลดลงไปร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม เจ้าของโรงแรมรายนี้กล่าวว่าจากการพูดคุยกับเครือโรงแรมในภูเก็ตทุกคนมองว่าการท่องเที่ยวทั้งหมดลดลงราวร้อยละ 50 

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการ ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การดึงดูดลูกค้าหลักคือการไม่ตั้งราคาสูงเกินไป นอกจากนี้โรงแรมต้องพยายามรักษาฐานแขกไว้ที่ร้อยละ 55 – 60 ของอัตราการจองห้องต่อเดือน ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่น การลดราคาห้องเพื่อดึงดูดลูกค้า การพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มเมื่อแขกเข้าพักด้วยข้อเสนอการพักในห้องที่ดียิ่งขึ้น บริการสปา บริการห้องอาหาร รวมถึงอภิสิทธิ์ในการเข้าคลับต่างๆ ของโรงแรม

อย่างไรก็ตาม ณัฐพงศ์ ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการบริการและสร้างความประทับใจให้กับแขกอย่างจริงใจและซื่อสัตย์

ขณะที่ เจ้าของโรงแรมในภูเก็ต กล่าวว่า เนื่องจากลูกค้าหลักของโรงแรมในปัจจุบันคือกลุ่มลูกค้าชาวจีน โรงแรมจึงจำเป็นต้องปรับเรตติ้งของตัวเองที่เคยอยู่ที่ 4 ดาว เป็น 5 ดาว โดยเรตติ้งดังกล่าวเป็นการวัดจากเว็บไซต์ Agoda และ Ctrip เนื่องจากลูกค้าชาวจีนจะเลือกพักในโรงแรมระดับ 5 ดาว ประมาณร้อยละ 70 ขณะที่ชาวจีนเพียงร้อยละ 20 และ 10 จะพักในตลาด 4 ดาว และ 3 ดาว ตามลำดับ

ประเด็นที่ผู้อยู่ในวงการโรงแรมต้องการให้ภาครัฐออกมาช่วยเหลือมากที่สุดซึ่งทั้ง 2 คนพูดตรงกัน คือประเด็นเงินบาทที่แข็งค่า เพราะส่งผลกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การที่ลูกค้าจะเลือกมาพักในโรงแรมระดับหรู หรือโรงแรม 5 ดาว พวกเขาจำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มจากโรงแรมในระดับธรรมดาราวร้อยละ 25 ดังนั้นเมื่อค่าเงินบาทแข็งค่า นักท่องเที่ยวเหล่านี้จึงอาจต้องคิดทบทวนถึงเม็ดเงินที่พวกเขาต้องจ่ายเมื่อมาไทย และตัดสินใจไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีราคาถูกกว่า

อีกหนึ่งประเด็นที่ทั้ง 2 คนเห็นตรงกัน คือการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนเพื่อเรียกความเชื่อใจคืนมาจากนักท่องเที่ยวจีน เจ้าของโรงแรมในภูเก็ตเสนอว่า รัฐบาลอาจจะออกมาให้ประกันกับนักท่องเที่ยวถึงความปลอดภัยซึ่งไม่จำเป็นต้องให้กับแค่นักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น แต่สามารถให้ได้กับทุกชาติ เพื่อยืนยันความปลอดภัยในการมาท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ ณัฐพงศ์ ยังพูดถึงโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) พร้อมเสนอให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนธุรกิจนี้มากขึ้น

'ไทยเที่ยวไทย' ทางรอดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นอกจากความพยายามปรับตัวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รายงานจาก 'ทริสเรทติ้ง' ชี้ว่า แท้จริงแล้ว การท่องเที่ยวของประชาชนภายในประเทศมีส่วนช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในสัดส่วนที่น่าพึงพอใจ โดยมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือนโยบายการท่องเที่ยวที่สามารถนำไปยื่นลดภาษีได้ และคุณภาพของเที่ยวบินภายในประเทศที่ดีขึ้น

จากสถิติแสดงให้เห็นว่าตัวเลขการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงปี 2555 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ออกมาประเมินว่ามูลค่าการท่องเที่ยวภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นไปแตะตัวเลข 1.17 ล้านล้านบาทในปี 2562 เพิ่มจากเดิมที่ 1.1 ล้านล้านบาท ในปี 2561 หรือราวร้อยละ 11.6

อีกทั้งตัวเลขเที่ยวบินของคนไทยในครึ่งแรกของปี 2562 ยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขึ้นไปแตะที่ 113 ล้านเที่ยวบิน คิดเป็นมูลค่า 5.36 แสนล้านบาท