วันนี้ (3 กรกฎาคม 2568) รายงานข่าวจากกระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมนำหลักฐานเกี่ยวกับคดีทุจริตเรียกรับเงินใต้โต๊ะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งพบกระทำเป็นขบวนการทุจริตข้ามชาติเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่รัฐกัมพูชา บริษัทเอกชนไทย และระบบราชการ ประเมินยอดเงินใต้โต๊ะรวมทั้งระบบประมาณ 5,996–6,115 ล้านบาท โดยจะหารือทั้งการออกหมายค้น และประเด็นข้อกฎหมายในการออกหมายจับตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ลักษณะการทุจริต คือมีการเรียกรับเงินเพิ่มเติมจากแรงงานต่างด้าวคนละ 2,500–2,550 บาท นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทางราชการ จากจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด 2,398,218 คน แบ่งตามสัญชาติ คือ
- เมียนมา : 2,012,856 คน
- กัมพูชา : 287,557 คน
- ลาว : 94,132 คน
- เวียดนาม : 3,673 คน
รวมประเมินยอดเงินใต้โต๊ะรวมทั้งระบบ : ประมาณ 5,996–6,115 ล้านบาท
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขบวนการทุจริตดังกล่าวอาศัยกลไกที่เปิดช่องทุจริต คือประกาศกระทรวงแรงงานวันที่ 26 พ.ย. 2567 กำหนดว่าแรงงานต้องได้รับการรับรองจาก “สถานทูตและ AGENCY” ก่อนต่อใบอนุญาต ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าว เปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการจัดหางาน หากแรงงาน/นายจ้างไม่จ่าย “เงินพิเศษ” จะไม่ได้รับอนุมัติจากระบบ
สำหรับ เส้นทางการเงินที่ตรวจพบ (เฉพาะกลุ่มแรงงานกัมพูชาบางส่วน) มีดังนี้ จากบัญชีม้า → เจ้าหน้าที่กัมพูชา Mr. MANITH RONG (รองผอ.ฝ่ายการท่องเที่ยวฯ) รับเงินและโอนต่อให้ :
• Mr. KEM CHAMREOUN (รองอธิบดีกรมแรงงาน) — 15.8 ล้านบาท
• Mr. BUNHAK UN (ที่ปรึกษารัฐมนตรีแรงงาน) — 15 ล้านบาท (จากบัญชีอื่น) + 14.1 ล้านบาท (จากบัญชี Mr. LAY LOEUT)รวมเจ้าหน้าที่กัมพูชาที่รับผลประโยชน์ : 44.8 ล้านบาท
จาก Mr. MANITH RONG → บุคคล/บริษัทในไทย
น.ส.สิธารัตน์ xxxx — 13.7 ล้านบาท บริษัท xxx เทรดดิ้ง จำกัด — 41.5 ล้านบาท บริษัท xxxx — 1.9 ล้านบาท
รวมผู้รับในไทยที่ตรวจพบ : 57.1 ล้านบาท
จากขบวนการทุจริตดังกล่าว ส่งผลกระทบ สร้างความเสียหายให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก และบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในระบบราชการไทยถือเป็นการทุจริตเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด