แม้การมีเพศสัมพันธ์จะเป็นไปโดยที่ทุกฝ่ายยินยอม แต่หากอีกฝ่ายมารู้ในภายหลังว่ามีการหลอกลวงหรือปกปิดข้อมูลบางอย่างเพื่อให้ยินยอมมีเซ็กซ์ด้วย เซ็กซ์แบบยินยอมก็อาจกลายเป็นการข่มขืนได้
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เจสัน ลอว์เรนซ์ ส่งข้อความไปหาแซลลี นามสมมติ ผู้หญิงที่เขาเจอผ่านแอปพลิเคชั่นหาคู่ว่า เขาขอสารภาพว่าเขายังมีลูกได้ แม้ก่อนหน้านี้ ลอว์เรนซ์บอกแซลลีว่า เขาทำหมันแล้ว ทำให้เซลลียินยอมที่จะมีเซ็กซ์กับลอว์เรนซ์โดยไม่ใช้ถุงยาง จนแซลลีท้องและต้องยุติการตั้งครรภ์ แซลลีจึงฟ้องร้อง
อัยการผู้รวบรวมหลักฐานฟ้องร้องคดีระบุว่า กฎหมายกำหนดว่า บุคคลจะต้องยินยอมที่จะมีเพศสัมพันธ์ โดยที่บุคคลนั้นต้องมีทางเลือกและเสรีภาพในการเลือก การโกหกเกี่ยวกับการเป็นหมันทำให้เหยื่อตัดสินใจโดยไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
เจด รูเบนเฟลด์ อาจารย์นิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลเคยเขียนเรื่อง “ปริศนาเกี่ยวกับการข่มขืนด้วยการหลอกลวงและมายาคติเกี่ยวกับการควบคุมเพศตนเอง” ในนิตยสารทางวิชาการนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเยล ซึ่งระบุว่า เซ็กซ์ที่เกิดจากการหลอกลวงไม่ถือเป็นการสมยอมกัน เพราะการยินยอมนั้นเกิดขึ้นเพราะถูกหลอกลวง จึงเรียกได้ว่าเป็นการข่มขืน นอกเสียจากว่าการหลอกลวงนั้นจะไม่มีเปลี่ยนแปลงผลการตัดสินใจของอีกฝ่าย
รองศาสตราจารย์เคลลี เดวิสจากมหาวิทยาลัยมลรัฐแอริโซนาสำรวจผู้หญิงและผู้ชายอายุ 21-30 ปีเกี่ยวกับการต่อต้านการคุมกำเนิด หรือกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิด เมื่ออีกฝ่ายต้องการให้ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์กัน
จากผู้หญิง 530 คนที่ตอบแบบสำรวจ มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ยอมรับว่าใช้วิธีการหลอกลวงอย่างน้อย 1 ครั้งนับตั้งแต่อายุ 14 โดยส่วนใหญ่โกหกว่ากำลังกินยาคุมกำเนิดอยู่ ขณะที่ร้อยละ 23.4 ของจำนวนผู้ชายที่ตอบแบบสอบถาม 313 คนยอมรับว่าเคยใช้วิธี “หลอกลวง” อย่างน้อย 1 ครั้งนับตั้งแต่อายุ 14 ปีเป็นต้นมา โดยกลยุทธ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปก็คือ การโกหกผู้หญิงว่าจะหลั่งนอก ทั้งที่ไม่คิดจะทำ ร้อยละ 19.9 ตามมาด้วยการโกหกว่าได้ตรวจแล้วและไม่มีโรคติดต่อทางเพศใดๆ ร้อยละ 9.6
รองศาสตรจารย์เดวิสและนักวิจัยในทีมได้ฟังคำตอบส่วนใหญ่ของผู้ชายว่า “ผู้ชายมักขีดเส้นไว้ที่การใช้กำลัง แต่ถ้าไม่มีการใช้กำลัง ทุกอย่างก็เป็นเหมือนเกม” หลายครั้งผู้ชายจะใช้วิธีการแอบถอดถุงยางออก หลังจากที่มีการตกลงกันแล้วว่าจะใช้ถุงยาง แต่ผู้ชายจะแอบถอดถุงยางออกก่อนหรือระหว่างการมีเซ็กซ์ โดยผู้ชายอายุ 21 - 30 ปีเกือบร้อยละ 10 จากทั้งหมด 626 คนที่ร่วมตอบคำถาม ยอมรับว่าเคยแอบถอดถุงยางออกอย่างน้อย 1 ครั้งนับตั้งแต่อายุ 14 เป็นต้นมา และหลายคนเคยทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว โดยจำนวนเฉลี่ยเกิดขึ้นมากกว่า 3 ครั้ง
อีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงร้อยละ 12 กล่าวว่า พวกเธอรู้ตัวเมื่อผู้ชายถอดถุงยางออกทั้งที่ตกลงกันไว้ก่อนแล้ว ขณะที่อีกหลายคนอาจไม่เคยรู้ตัวเลยว่าอีกฝ่ายแอบถอดถุงยาง และหลายคนไม่ถือว่าการแอบถอดถุงยางเป็นการข่มขืนอย่างหนึ่ง
หลายคนใช้การโกหกเพื่อให้ได้มีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่ายอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการโกหกเรื่องอายุ โกหกว่าโสดทั้งที่แต่งงาน หรืออ้างว่าเป็นคนรวย แต่กรณีเหล่านี้มักไม่ถูกนำขึ้นฟ้องร้องต่อศาล จึงยังไม่มีการพิจารณาว่าการโกหกเหล่านี้เป็นการหลอกลวงที่ส่งผลกับการสมยอมที่จะมีเซ็กซ์หรือไม่
เคที รัสเซลล์ โฆษก “วิกฤตการข่มขืน” ของอังกฤษ และแซนดรา พอล ทนายความผู้เชี่ยวชาญในคดีประพฤติผิดทางเพศเชื่อว่า การแอบถอดถุงยางและการโกหกว่าจะหลั่งนอก แต่ตั้งใจไม่ทำตามนั้น ถือว่าเป็นการข่มขืนตามกฎหมายของอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การไปตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถือ STI ว่ายังไม่อาจฟันธงได้ว่าเป็นการข่มขืนหรือไม่ ศาลอังกฤษเคยลงโทษผู้ชายที่ทำให้คู่นอนติดเชื้อเอชไอวีด้วยข้อหาก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายร้ายแรง มากกว่าที่จะถูกลงโทษด้วยข้อหาความรุนแรงทางเพศ
ในทางกลับกัน หากผู้หญิงโกหกว่าทำหมันแล้วหรือกำลังกินยาคุมกำเนิด ทั้งที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น ยังอาจไม่ถือว่าเป็นการข่มขืน โดยรัสเซลล์อธิบายว่า การโกหกเช่นนี้ส่งผลกระทบกับร่างกายและชีวิตของผู้หญิงเอง ผู้หญิงจะต้องรับมือกับผลที่จะตามมาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์ จึงต่างกับเวลาที่ผู้ชายโกหกว่าทำหมันแล้ว ซึ่งไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรกับร่างกายของผู้ชาย
ทั้งนี้ พอลกล่าวว่า หากผู้ชายพบทีหลังว่าตัวเองกลายเป็นพ่อคน เพราะผู้หญิงโกหกเรื่องการคุมกำเนิด แล้วผู้ชายต้องรับมือกับผลที่ตามมาจากการโกหกของผู้หญิง ก็ถือว่าผู้หญิงกระทำผิดเงื่อนไขการมีเพศสัมพันธ์อย่างสมยอมเช่นกัน
การโกหกเรื่องเพศก็ถือเป็นอีกปัญหาที่เคยมีการฟ้องร้องกันมาแล้ว ก่อนหน้านี้ มีคดีที่ผู้หญิงคนหนึ่งฟ้องร้องอีกคนที่มีเพศกำเนิดเป็นเพศหญิง แต่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์ในห้องมืดและใช้ดิลโดโดยที่อีกฝ่ายไม่รู้ แต่นักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศก็มองว่า กรณีนี้มีจุดที่ต้องคำนึงว่า การลงโทษจะเป็นการกดขี่คนข้ามเพศหรือไม่ เพราะหากชายข้ามเพศบอกว่าตัวเขาเป็นผู้ชาย เขาก็ไม่ได้โกหกแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่ผู้หญิงมีเซ็กซ์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปลอมตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มนักเคลื่อนไหว ก็มีการโต้แย้งว่าตำรวจสมคบคิดกันข่มขืน เพราะตำรวจรู้อยู่แล้วว่า พวกเธอจะไม่ยอมมีเซ็กซ์แน่นอนหากพวกเธอรู้ว่าพวกเขาเป็ฯตำรวจปลอมตัวมา
ที่ผ่านมาเคยมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้หญิงบางคน แต่ทางการก็ไม่เคยตั้งข้อหากับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ โดยให้เหตุผลว่า การหลอกลวงในสถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่าจะยินยอมมีเซ็กซ์ด้วยหรือไม่
พอลแสดงความเห็นว่า ควรมีการจัดทำคู่มือหรือข้อแนะนำเกี่ยวกับเงื่อนไขการยินยอมมีเพศสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อเป็นแบบแผนให้กับศาลในการพิจารณาคดีว่าการโกหกแบบไหนร้ายแรงขนาดไหน ควรได้รับโทษอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อยู่ในพื้นที่สีเทาหรือสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน
ที่มา : BBC, Psychology Today