ไม่พบผลการค้นหา
พระนักเทศน์และเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว แนะประชาชนมีเหตุผลยึดโยงกับหลักวิทยาศาสตร์ หลังบางกลุ่มมีแนวคิดใช้ปัสสาวะรักษาโรค

แนวคิดการนำปัสสาวะตัวเองมาดื่ม ล้างตา ล้างใบหน้า โดยอ้างว่าสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ กำลังถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดย ‘หมอเขียว’ ดร.ใจเพชร กล้าจน ประธานมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ปัสสาวะบำบัด (Urine Therapy) เป็นยาดีที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ "หาได้ง่ายและไม่มีโทษ"  

นอกจากนี้เขายังอ้างด้วยว่า เป็นแนวทางที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล 

พระพยอม กัลยาโณ พระนักเทศน์และเจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่า การเปรียบเทียบแนวทางการรักษาโรคในอดีตกับปัจจุบันไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากวิวิฒนาการทางแพทย์ ผลการพิสูจน์ทางวิทยาศาตร์ และการเข้าถึงยารักษาโรคแตกต่างกันอย่างมาก 

“เมื่อก่อนโน้นพระอยู่ในป่า หาหมอไม่ได้ โรงพยาบาลไม่มี เพราะฉะนั้นอะไรที่มันจะบรรเทาเบาบางได้เล็กน้อย นิดๆ หน่อยๆ จังหวะลอยมาก็ต้องจับไว้ก่อนแหละ คนเรายังหาที่พึ่งไม่ได้"

พระพยอม บอกว่า สิ่งที่ถูกต้องหรือแนวทางปฏิบัติในอดีตไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและประสบความสำเร็จในปัจจุบัน  

“แต่ละยุค แต่ละสมัย แต่ละเหตุการณ์ไม่ใช่ว่าจะต้องทำแบบเดียวกันไปหมด บัดนี้การเเพทย์พัฒนา มีตัวเลือกการรักษาที่ได้รับการยอมรับทั้งในเชิงวิชาการ งานวิจัยและการปฏิบัติ” พระพยอมกล่าว

“เราต้องเอาวิทยาศาตร์เป็นหลักแล้วในยุคนี้ ยึดติดกับเหตุผลและความเป็นจริง”

เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว บอกต่อว่า ขอให้ประชาชนไตร่ตรองและ "มีหัวติดเครื่องกรองหน่อยก็แล้วกัน"

"เมื่อมันมีที่พึ่งดีกว่า มีการพิสูจน์สำรวจตรวจผ่านวิจัย มันได้ผลชัดเจนแล้ว เราจะไปย้อนกลับไปเสี่ยงทำไม” พระนักเทศน์แนะนำ 

ดีจริงผลิตเป็นยาไปแล้ว

ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ โพสต์คลิปและข้อความผ่านเพจ "หมอแล็บแพนด้า" ระบุชัดเจนว่า การดื่มกิน และนำปัสสาวะมาทาใบหน้านั้นไม่มีประโยชน์ เพราะหากนำปัสสาวะมาสกัดจริงๆ จะพบว่ามีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เพียงน้อยนิด ไม่ได้มีประโยชน์เทียบเท่าอาหารคำเดียวที่รับประทานด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ยังมีบางคนนำเอาปัสสาวะมาใส่แผล เพราะเชื่อว่าทำให้เลือดหยุดไหล ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องหยดใส่เลือดก็หยุดไหลได้ เนื่องจากร่างกายมีกระบวนการในการห้ามเลือดอยู่แล้ว

"ถ้าหากปัสสาวะมีสรรพคุณทางยาจริง นักวิจัยคงเอาไปผลิตเป็นยาเม็ดออกมารักษาโรคแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีการวิจัยเรื่องปัสสาวะออกมาแต่อย่างใด ดังนั้นหากใครที่มญาติหรือคนที่รู้จักเชื่อในเรื่องนี้ ก็ควรเตือนกันด้วย"

คำแนะนำจากเเพทย์

พ.ต.อ.หญิง ศิริกุล กฤตพิทยบูรณ์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลตำรวจ ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กโรงพยาบาลตำรวจ Police General Hospital ระบุว่า น้ำปัสสาวะเป็นส่วนเกินของร่างกายที่ร่างกายต้องขับออกไปในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำและเกลือแร่ส่วนเกิน และของเสียชนิดที่ละลายน้ำได้ที่เกิดจากการเผาผลาญของร่างกายและต้องขับออกทางไต แปลว่า น้ำปัสสาวะจะมีของเสียและเกลือแร่ส่วนเกินที่ร่างกายต้องการขับออก, หากเป็นของที่มีประโยชน์ เมื่อเลือดถูกกรองที่ไต ไตจะดูดกลับสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายกลับสู่ร่างกาย เช่น น้ำตาลกลูโคส ไตจะดูดกลูโคสกลับเข้าสู่ร่างกายทั้งหมด ทำให้ตรวจไม่พบกลูโคสรั่วมาในปัสสาวะในคนปกติ

  • ในน้ำปัสสาวะวะมีส่วนประกอบอะไรบ้าง

ปัสสาวะ ประกอบด้วย = น้ำ 95 เปอร์เซ็นต์ สารอื่นจากความเข้มข้นมากไปน้อย คือ ยูเรีย 9.3 g/L, คลอไรด์ 1.87 g/L, โซเดียม 1.17 g/L, โปตัสเซียม 0.750 g/L, ครีอะตินีน 0.670 g/L และสารละลายอื่นในปริมาณน้อย

ปัสสาวะ
  • น้ำปัสสาวะ ในทางการแพทย์ นำมาใช้ทำอะไร

น้ำปัสสาวะ ในทางการแพทย์ = ใช้ตรวจโรคที่เป็นความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ ทั้งในแง่ ปริมาณและคุณภาพ ดูความเข้มข้น การรั่วของโปรตีนและน้ำตาลกลูโคสซึ่งปกติต้องไม่มี ดูเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวในปัสสาวะ ประเมินสัดส่วนเกลือแร่ในปัสสาวะเพื่อใช้วินิจฉัยแยกโรคทางคลินิก

  • น้ำปัสสาวะ กับการรักษาโรคมะเร็ง

มีความเชื่อว่า น้ำปัสสาวะสามารถยับยั้งหรือรักษาโรคมะเร็งได้ โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ด้วยเหตุผลว่าเซลล์มะเร็งจะปล่อยแอนติเจนเข้าสู่กระแสเลือด และถูกขับออกทางปัสสาวะ เมื่อเราดื่มน้ำปัสสาวะที่มีแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง ก็จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเซลล์มะเร็ง เพิ่มโอกาสการขจัดเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น

แต่ความเชื่อนี้ไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ เนื่องจากแอนติเจนของเซลล์มะเร็งมีอยู่ในกระแสเลือดอยู่แล้ว การดื่มน้ำปัสสาวะซึ่งมีแอนติเจนที่ถูกขับออกมาบางส่วน จึงไม่น่ามีผลในการเพิ่มแอนติบอดีต่อเซลล์มะเร็งได้ รวมทั้งยังไม่มีการวิจัยทางการแพทย์ใดที่พิสูจน์พบว่า การดื่มน้ำปัสสาวะช่วยในการรักษาโรคมะเร็ง

  • โทษของการดื่มน้ำปัสสาวะ

ปกติการดื่มน้ำปัสสาวะไม่ทำให้เกิดโทษที่รุนแรง โทษของการดื่มน้ำปัสสาวะที่พบได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน จากกลิ่น, ปวดท้อง เวียนศีรษะ ท้องเสีย จากการระคายเคืองกระเพาะและลำไส้, กระหายน้ำจากการได้รับเกลือแร่และของเสีย

ปกติน้ำปัสสาวะพร้อมที่จะมีเชื้อโรคเกิดขึ้นและเน่าเสียได้โดยง่าย ดังนั้นหากดื่มน้ำปัสสาวะที่เก็บอย่างไม่สะอาดหรือทิ้งไว้นาน จะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับน้ำปนเปื้อนเชื้อโรคและทำให้เกิดการติดเชื้อภายในร่างกาย ยิ่งผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโทษรุนแรง

  • ข้อแนะนำ

ไม่ควรดื่มน้ำปัสสาวะ เนื่องจากไม่มีประโยชน์ในการรักษาโรค และอาจเกิดโทษได้

ปัสสาวะ